ค่าฝุ่น PM 2.5 เช้านี้ไม่เกินมาตรฐานทุกพื้นที่ กทม. การระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ดี

ค่าฝุ่น PM 2.5 เช้านี้ไม่เกินมาตรฐานทุกพื้นที่ กทม. การระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ดี

เช้าวันพฤหัสบดี ค่าฝุ่น PM 2.5 ไม่เกินมาตรฐานทุกพื้นที่ กทม. การระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ดี คุณภาพอากาศส่วนใหญ่อยู่ในระดับดีมาก

เฟซบุ๊ก กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานครขอรายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร ประจำวันพฤหัสบดีที่ 30 มี.ค. 2566 เวลา 07.00 น. ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ตรวจวัดได้ 8-26 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) พบว่าไม่เกินมาตรฐานทุกพื้นที่ที่มีการตรวจวัด (มาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) โดยดัชนีคุณภาพอากาศของสถานีตรวจวัดของกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่อยู่ในระดับคุณภาพอากาศดีมาก เหมาะสำหรับกิจกรรมกลางแจ้งและการท่องเที่ยว

สำหรับปัจจัยที่เกี่ยวข้อง (คาดการณ์แนวโน้มสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อฝุ่น PM 2.5 โดยสภาพทางอุตุนิยมวิทยา) ในช่วงวันที่ 30 มี.ค. – 7 เม.ย. 2566 มีการระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ดีตลอดช่วง (ยกเว้นวันที่ 7 เม.ย. 2566 การระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์อ่อน) ประกอบกับมีสภาพอากาศเปิด ทำให้ PM 2.5 สามารถแพร่กระจายได้ดี ส่งผลให้คุณภาพอากาศดี ในช่วงนี้หย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ด้านตะวันตกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบนของประเทศไทย

ลักษณะเช่นนี้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีอากาศร้อนจัดบางแห่งในภาคเหนือและภาคกลาง ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มมีกำลังอ่อนลง ส่งผลทำให้ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง และวันนี้กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่

สำหรับช่วงวันที่ 30 มี.ค. – 2 เม.ย. 2566 เป็นต้นไปสถานการณ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากสภาพอากาศที่เปิดมากขึ้น เพดานการลอยตัวอากาศที่สูงขึ้น ประกอบกับลมทางใต้ที่กำลังแรงช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่ อย่างไรก็ตาม วันที่ 3-5 เม.ย. 2566 พื้นที่ กรุงเทพมหานคร อาจได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองข้ามพื้นที่จากบริเวณทิศตะวันตกได้

จากการตรวจสอบข้อมูลจุดความร้อน (hotspot) ผ่านดาวเทียม จากหน่วยงาน NASA พบจุดความร้อนที่ดาวเทียมตรวจพบค่าความร้อนสูงผิดปกติจากค่าความร้อนบนผิวโลกบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานครในวันที่ 29 มี.ค. 2566 จำนวน 1 จุด เวลา 14.14 บริเวณแขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน (อยู่ระหว่างประสานตรวจสอบจุดเผา).

ขอบคุณเฟซบุ๊ก กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/

ผู้นำเสนอข่าว

Hnoy

Written by:

3,718 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *