โฆษก ตร.แจ้งกฎหมายใหม่ พ.ร.ก.อาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ จัดหนักเอาผิดบัญชีม้าจำคุกไม่เกิน 3 ปี ส่วนคนจัดหาจำคุก 2-5 ปี พร้อมให้อำนาจสถาบันการเงินอายัด แลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทันที กำชับพนักงานสอบสวนทั่วประเทศรับคดี ไม่ว่าเหตุเกิดที่ใด ส่วนระบบแจ้งความออนไลน์พร้อมเปิดระบบ 20 มี.ค. 66
เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 66 พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษก ตร. กล่าวว่า “ตามที่ราชกิจจานุเบกษา เผยแผ่ พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 มีผลบังคับไปแล้วเมื่อ 17 มี.ค.66 โดยกฎหมายฉบับนี้ ออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน จากการถูกหลอกลวงฉ้อโกงออนไลน์ ตามดำริของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นเจ้าภาพ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่างกฎหมายฉบับนี้ออกมา
โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.สั่งการตำรวจทั่วประเทศ ในฐานะหน่วยหลักการบังคับใช้กฎหมาย ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวแล้ว พร้อมกับแจ้งข้อกฎหมาย แนวทางการปฏิบัติให้ประชาชนรับทราบ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอประชาสัมพันธ์ แจ้งให้ประชาชนรับทราบ เข้าใจหลักการตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ดังนี้
1) อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ คดีออนไลน์เพื่อฉ้อโกง กรรโชก และรีดเอาทรัพย์ ถือเป็นคดีที่ต้องอยู่บังคับของกฎหมายฉบับนี้
2) กรณีเพื่อการป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือมีเหตุสงสัยว่าอาจจะมีการทำผิดทางเทคโนโลยี สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจ มีอำนาจแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีและธุรกรรมของลูกค้าผ่านระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยไม่ถือว่าบัญชีม้าเป็นข้อมูลที่ได้รับรองตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ดังนั้นข้อมูลบัญชีม้า จะถูกธนาคารและเจ้าหน้าที่ส่งต่อให้กัน เพื่อระงับช่องทางการทำธุรกรรมและอายัดบัญชีด้วยความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ช่วยระงับความเสียหายของผู้เสียหายได้
3) ผู้ให้บริการโทรคมนาคม มีอำนาจแลกเปลี่ยนข้อมูล ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงาน ปปง. และหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตเข้าถึงข้อมูลที่มีการแลกเปลี่ยนได้
4) ผู้เสียหายสามารถแจ้งข้อมูลไปยังสถาบันการเงิน หรือผู้ประกอบธุรกิจเพื่อแจ้งให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจที่รับโอนระงับการทำธุรกรรมไว้ทันทีเป็นการชั่วคราว จากนั้นให้ผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายในเวลา 72 ชั่วโมง โดยมีการระบุขั้นตอนในการระงับการทำธุรกรรม ไว้ชัดเจน และรวดเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้คนร้ายทำธุรกรรมได้ง่ายเหมือนแต่ก่อน และเมื่อผู้เสียหายไปร้องทุกข์แล้ว พนักงานสอบสวนจะพิจารณาดำเนินการกับบัญชีธนาคารดังกล่าวภายใน 7 วัน
5) มีการเพิ่มช่องทางการแจ้งเหตุ โดยกำหนดให้ผู้เสียหายแจ้งข้อมูลโดยง่ายและเร็ว สามารถแจ้งข้อมูลหรือหลักฐาน ทางโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์กับสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจได้
6) ผู้เสียหาย สามารถแจ้งความร้องทุกข์กับ พงส.ที่ใดก็ได้ โดยไม่ต้องถามว่าเหตุเกิดที่ใดในประเทศไทย หรือแจ้งผ่านระบบแจ้งความออนไลน์ถือว่าเป็นการร้องทุกข์ และ พงส.นั้นมีอำนาจสอบสวนตาม ป.วิ อาญา
ซึ่ง ตร.ได้มีวิทยุสั่งการไปยังพนักงานสอบสวนทั่วประเทศให้พนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์ จากพี่น้องประชาชนที่เดินทางมาแจ้งความที่สถานีตำรวจ โดยถือว่าเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ไม่ว่าเหตุจะเกิดที่ไหน ต้องอำนวยความสะดวกผู้เสียหาย เร่งช่วยเหลือ
7) มีบทลงโทษเครือข่ายอาจจะทำที่รุนแรงขึ้นทั้งบัญชีม้า คนจัดหาบัญชีม้า
7.1 ห้ามมิให้ผู้ใดเปิดบัญชี บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ได้มีเจตนาใช้เพื่อตน และห้ามไม่ให้ผู้ใดยินยอมให้บุคคลอื่นใช้หรือยืมใช้ซิมโทรศัพท์ของตนในทั้งที่รู้หรือควรจะรู้ ซึ่งอาจจะนำไปใช้ในการทุจริตหรือทำผิดกฎหมาย ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (บัญชีม้า)
7.2 ห้ามไม่ให้ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใด ๆ เพื่อให้มีการซื้อหรือขายบัญชี บัตรอิเล็กทรอนิกส์ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือซิมโทรศัพท์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการกระทำความผิดอาญา ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 200,0000 บาท ถึง 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (คนจัดหาบัญชีม้า)
โฆษก ตร. กล่าวอีกว่า ผบ.ตร.ได้เน้นย้ำ กำชับหน่วยในการปฏิบัติตาม พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 เพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล แก้ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนจากอาชญากรรมคดีออนไลน์ และขอประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมว่า ระบบแจ้งความออนไลน์ Thaipoliceonline.com ได้การปิดทำการเพื่อปรับปรุงระบบให้สอดรับกับพระราชกำหนดดังกล่าว และทำการเชื่อมระบบกับทางธนาคาร เพื่อทำการส่งต่อข้อมูล อายัดบัญชีได้ทันท่วงที ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยจะพร้อมเปิดระบบใช้งานได้ในวันพรุ่งนี้ (20 มี.ค.66)
อย่างไรก็ตาม ผู้เสียหายในคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสามารถแจ้งความที่สถานีตำรวจได้ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือสามารถแจ้งธนาคารเจ้าของบัญชีตนเอง เพื่ออายัดบัญชีคนร้ายได้ตามระบบปกติ กรณีมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ตำรวจ ศูนย์ PCT หมายเลขโทรศัพท์ โทร. 081 866 3000″
ที่มา:ไทยรัฐ