หมอแล็บแพนด้า เตือนภัย อย่าหลงเชื่อโรงพยาบาล หลอกให้ตรวจเลือดแบบ Live Blood Analysis เพื่อขายโปรแกรมแก้ปัญหาสุขภาพ แนะควรสอบถามทุกครั้งก่อนเจาะปลายนิ้ว
วันที่ 12 มีนาคม 2566 ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ชื่อดัง เจ้าของแฟนเพจ หมอแล็บแพนด้า ได้โพสต์ระบุข้อความว่า ระวังการหลอกตรวจเลือดแบบ live blood analysis ถ้าใครไปเจอการชักชวนให้ตรวจเลือดที่เรียกว่า Live Blood Analysis ให้หลีกหนีไกลๆ เลยครับ ไม่งั้นเตรียมตัวเสียเงินฟรีๆ แน่ บางคนโดนฟันเกือบแสน
ทำไมเขาถึงต้องหากินแบบนี้กับเราล่ะ ทั้งที่เป็นโรงพยาบาลจริงๆ ก็เพราะเขาหาเงินได้มหาศาลน่ะสิครับ ต้นทุนการตรวจไม่ถึง 5 บาทเท่านั้น
วิธีการตรวจของมันก็คือ เขาจะมีกล้องจุลทรรศน์ตัวนึงเชื่อมต่อกับจอคอมพิวเตอร์ แล้วเจาะเลือดของเราจากปลายนิ้ว จิ้มเข้าไป จึ้ก แล้วก็หยดเลือดลงบนกระจกสไลด์ แล้วเอาไปส่องกล้องจุลทรรศน์ จากนั้นเขาก็จะโชว์ลักษณะของเม็ดเลือดในจอคอมฯ ให้เราดูสภาพเม็ดเลือด ต่อจากนี้แหละ คือวิชามั่วล้วนๆ เขาจะพยายามอธิบายภาพเม็ดเลือดให้เราฟัง เพื่อเสมือนว่าตรวจสุขภาพ เช่น
-บอกว่าเจอโลหะหนักในเลือด (ซึ่งจริงๆ แล้วอนุภาคโลหะหนัก จะส่องไม่เห็นจากในกล้อง) จากนั้นจะเชียร์ให้ทำการล้างเลือด ทำนั่นทำนี่ คอร์สเป็นหมื่น
-บางรายบอกว่าเจอเส้นใยโปรตีน เกิดจากอาหารไม่ย่อย (มั่วอีกตามเคย) จากนั้นก็จะสั่งจ่ายยามาช่วยย่อย เขาบอกว่าเกิดจากการเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด เลยมีเส้นใยโปรตีนตกค้าง
-บางรายพบก้อนวาวๆ ก็บอกว่าเป็นพวกโลหะตกค้าง (บ้าเอ๊ยย นั่นมันคราบไขมันเกาะกระจกสไลด์) แล้วเขาจะบอกว่าถ้าสะสมมากๆ จะเป็นมะเร็ง เป็นนั่นเป็นนี่ ต้องล้างเลือดด้วยการทำ chelation หรือวิธีอื่นๆ ราคาเป็นหมื่นเช่นกัน
-ในรายที่เจอคราบเม็ดไขมันมากๆๆ ก็แนะนำขาย การตรวจไขมันในเลือด เราก็เสียตังค์อีก
-บางรายบอกว่าพบ target cell เยอะๆ แล้วบอกว่าตับเรามีปัญหา ให้ขาย test การตรวจตับ และขายโปรแกรมเอ็กซเรย์
ไอ้เทคนิคการทำให้เลือดติดกัน ทำง่ายมาก แค่หยดเลือดหยดใหญ่ๆ หนาๆ แล้วส่องกล้องให้คนไข้ดู มันจะน่ากลัวและน่าตกใจ มันเป็นการตรวจที่คนไข้เห็นกับตาตัวเองในจอคอมฯ เป็นใครก็เชื่อ
สรุปก็คือ การตรวจ live blood analysis ด้วยการเจาะเลือดหยดเดียวที่ปลายนิ้ว ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการตรวจ ทางห้องปฏิบัติการการประกอบการวินิจฉัยโรค ของการประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ ก่อนเจาะปลายนิ้ว ถามเลย ใช่การตรวจ live blood analysis (ไลฟ์ บลัด อนาไลสิส) รึเปล่า ถ้าใช่ก็อย่าตรวจนะครับ.
ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก หมอแล็บแพนด้า
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/