กกพ.ชง 3 ทางขึ้นค่าไฟงวดใหม่ สูงเกิน 4.72 บ./หน่วย ผู้บริโภคเสนอต่ำกว่าได้

กกพ.ชง 3 ทางขึ้นค่าไฟงวดใหม่ สูงเกิน 4.72 บ./หน่วย ผู้บริโภคเสนอต่ำกว่าได้

กกพ.ชง 3 ทางเลือกขึ้นค่าไฟงวดใหม่เดือน พ.ค.-ส.ค.นี้ ตั้งแต่ 6.72, 4.84 และ 4.77 บาท/หน่วย เปิดรับฟังความเห็น 10-20 มี.ค.นี้ ก่อนชง บอร์ด กกพ.เคาะ 22 มี.ค.นี้ เสียงอ่อยให้ประชาชนเสนอต่ำกว่ากรณีศึกษาได้ ด้าน ส.อ.ท. ชี้ยังสูงเกินไป จี้รัฐเร่งปรับลดค่าไฟ ก่อนเวียดนามแย่งนักลงทุนต่างชาติเกลี้ยง

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.เปิดรับฟังความคิดเห็นการคำนวณค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (เอฟที) เพื่อประกอบการพิจารณาปรับค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชนงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.นี้ใน 3 แนวทาง คือ 1.ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชน (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือแวต) เพิ่มเป็น 6.72 บาท/หน่วย จากปัจจุบัน 4.72 บาท/หน่วย บนเงื่อนไขจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ใน 1 งวด ส่วนค่าเอฟทีจะเรียกเก็บ 293.60 สตางค์ (สต.)/หน่วย เพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง หรือต้นทุนคงค้างสะสมเดือน ก.ย.64-ธ.ค.65 ของ กฟผ.ทั้งหมด 150,268 ล้านบาท

2.ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บกับประชาชน (ไม่รวม แวต) เพิ่มเป็น 4.84 บาท/หน่วย จาก 4.72 บาท/หน่วย บนเงื่อนไขจ่ายคืนต้นทุนคงค้างและที่เกิดขึ้นจริงให้ กฟผ. 5 งวด คาดว่าจะคงเหลือจากเดือน ม.ค.-เม.ย.นี้ 136,686 ล้านบาท บางส่วนคิดเป็นงวดละ 27,337 ล้านบาท หรืองวดละ 41.88 สต./หน่วย คิดเป็นค่าเอฟที 105.25 สต./หน่วย โดย กฟผ. ต้องบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชน 109,349 ล้านบาท และจะได้รับเงินคืนครบภายในเดือน ธ.ค.67

3.ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บกับประชาชน (ไม่รวมแวต) เพิ่มเป็น 4.77 บาท/หน่วย จาก 4.72 บาท/หน่วย บนเงื่อนไขจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 6 งวด เพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง ที่คาดว่าจะคงเหลือจากเดือน ม.ค.-เม.ย.66 จำนวน 136,686 ล้านบาท บางส่วนคิดเป็นงวดละ 22,781 ล้านบาท หรืองวดละ 34.90 สต./หน่วย คิดเป็นค่าเอฟที 98.27 สต./หน่วย ซึ่ง กฟผ. จะได้รับเงินคืนครบภายใน 2 ปี หรือครบภายในเดือน เม.ย.68 โดย กฟผ.ต้องบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชน 113,905 ล้านบาท

สำหรับกรณีที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า ทั้ง 3 แนวทาง ไม่มีแนวทางคงค่าไฟไว้ที่ 4.72 บาท/ หน่วย ตามที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รมว.พลังงานให้นโยบายไว้นั้น เรื่องนี้เป็นการเปิดรับฟัง ความคิดเห็นตามขั้นตอน แต่ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นขอเสนออัตราค่าไฟฟ้าที่ต่ำกว่า 3 ทางเลือกดังกล่าวได้

“จะรับฟังความคิดเห็นค่าเอฟทีรอบเดือนพ.ค.-ส.ค.นี้ทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. วันที่ 10-20 มี.ค.นี้ ก่อนสรุปข้อเสนอแนะต่างๆ เสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) กกพ.พิจารณาวันที่ 22 มี.ค.นี้ ยืนยันว่าการพิจารณาค่าเอฟทีงวดใหม่นี้เป็นการประมาณการค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น โดยอ้างอิงข้อมูลจริงเฉลี่ยในเดือน ม.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาพลังงานตลาดโลกอยู่ในขาลง ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยทยอยเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น และค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น”

นายคมกฤชกล่าวว่า เป็นโอกาสที่ กกพ. จะรับฟังความเห็นการทยอยคืนภาระค่าต้นทุนคงค้างให้กับ กฟผ. โดยยังคงรักษาค่าไฟฟ้าอัตราที่เหมาะสมเพื่อให้ กฟผ. มีสภาพคล่องทางการเงินดีขึ้น พร้อมรองรับสถานการณ์พลังงานโลกและอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนรุนแรง

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ค่าไฟฟ้าที่ กกพ.เปิดประชาพิจารณ์ออกมา 3 อัตรา ต่ำสุดที่ 4.77 บาท/หน่วย มองว่ายังสูงเกินไป แม้มีแนวโน้มปรับลดลงเหลือ 4.72 บาท/หน่วยตามค่าไฟฟ้าเดิมของกลุ่มบ้านเรือนก็ตาม แต่ก็ยังดีกว่าไม่ปรับ จากเดิมที่ภาคอุตสาหกรรม ภาค บริการ ภาคเกษตร ต้องจ่าย 5.33 บาท/หน่วย ที่สำคัญ ในระยะกลาง และระยะยาว รัฐบาลควรหามาตรการทำให้ค่าไฟฟ้าลดราคาต่ำที่สุด เพราะหากเทียบกับประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะเวียดนาม ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 2.80 บาท/หน่วย ซึ่งน่ากังวลมาก เพราะมีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนรายใหม่หลายประเทศ ที่กำลังคิดย้ายฐานการผลิต รวมถึงปัจจัยค่าแรงงาน ก็มีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนเช่นกัน ขณะเดียวกัน ถ้าค่าไฟลดต่ำมากๆ จะเป็นผลดีต่อผู้บริโภคด้วย

“ค่าไฟฟ้าเวียดนามถูกมาก เมื่อเทียบกับไทย ตอนนี้นักลงทุนหลายรายตัดสินใจไปลงทุนที่เวียดนาม สอดคล้องกับผลสำรวจการลงทุนโดยตรงล่าสุด ขององค์การส่งเสริมการค้าระหว่าง ประเทศ (กรุงเทพฯ) หรือเจโทร พบว่า นักลงทุนญี่ปุ่น 10% จาก 2,000 บริษัท มีโอกาสย้ายฐานออกจากไทย เพราะค่าแรงและค่าไฟฟ้าสูง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม”.

ผู้นำเสนอข่าว

Lemon

Written by:

720 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *