ทะลุ 423 บาทต่อถัง 15 กก. 1 มี.ค.ก๊าซหุงต้มขึ้นราคา 1 บาทต่อกิโลกรัม

ทะลุ 423 บาทต่อถัง 15 กก. 1 มี.ค.ก๊าซหุงต้มขึ้นราคา 1 บาทต่อกิโลกรัม

วันที่ 1–31 มี.ค.นี้ ราคาก๊าซหุงต้มปรับเพิ่มขึ้นอีก 1 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ไปอยู่ที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กก.จากเดิม 408 บาทต่อถัง สมาคมผู้ค้าฯขอให้ภาครัฐเข้มงวดการนำถังก๊าซหุงต้มไปเติมในปั๊มก๊าซหุงต้มสำหรับให้บริการรถยนต์ หวั่นเกิดอันตราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.นี้ ราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) จะปรับเพิ่มขึ้นกิโลกรัม (กก.) ละ 1 บาท ส่งผลให้แอลพีจีขนาดบรรจุถัง 15 กก. ปรับขึ้นอีก 15 บาท เป็นเวลา 1 เดือน ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ทำให้ราคาขายปลีกในเดือน มี.ค.ปรับขึ้นไปอยู่ที่ 423 บาทต่อถัง 15 กก. หรือเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ 408 บาทต่อถัง 15 กก. ขณะที่ต้นทุนราคาที่แท้จริงหากไม่มีการตรึงราคาจากภาครัฐ จะอยู่ที่ 508 บาทต่อถัง 15 กก. ขณะที่รัฐบาลยังมีมาตรการมอบส่วนลดราคาแอลพีจี สำหรับร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่เกิน 100 บาท/ราย/เดือน ส่วนลดค่าซื้อแอลพีจีแก่ ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 100 บาท/คน/3 เดือน ไปจนถึงวันที่ 31 มี.ค.นี้

นายนรุตม์ ภัทรชัยพร นายกสมาคมผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว เปิดเผยว่า สมาคมต้องการให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องช่วยเร่งดูแลปัญหา การนำถังแอลพีจี ภาคครัวเรือน ไปเติมในสถานีบริการ (ปั๊ม) แอลพีจีในรถยนต์ ที่ขณะนี้มีจำนวนมากขึ้น เนื่องจากราคาแอลพีจีได้ปรับขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนบางส่วนที่มีรายได้น้อยหันไปเติมในปั๊มแอลพีจีแทน เพราะสามารถจ่ายเงินตามที่พอมี เช่น 100-200 บาทต่อครั้ง เพราะไม่อาจซื้อเต็มถังที่ราคาแพงได้ และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังจากราคาขายปลีกจะปรับขึ้นอีก 1 บาทต่อ กก.

“ผมอยากให้รัฐบาลเร่งดูแลเพราะปัญหานี้ยังคงมีอยู่ในปั๊มแอลพีจีบางแห่ง ทำให้ถือว่าผิดกฎหมายโดยระเบียบกำหนดไว้ชัดเจนว่า ปั๊มแอลพีจีจะต้องเติมให้กับถังแอลพีจี สำหรับรถยนต์เท่านั้น และที่สำคัญวิธีการดังกล่าว ไม่ปลอดภัยและเป็นอันตรายต่อผู้ไปเติมแอลพีจีด้วย เพราะถังดังกล่าวอาจจะไม่ได้ถูกเวียนนำไปบำรุงรักษา”

สำหรับการปรับขึ้นราคาแอลพีจีในวันที่ 1 มี.ค.นี้ ร้านค้าได้รับทราบล่วงหน้าและเตรียมปรับขึ้น ซึ่งราคา 423 บาทต่อถัง 15 กก. ที่เป็นราคาแนะนำในพื้นที่กรุงเทพฯ แต่ราคาในพื้นที่อื่นๆก็จะแตกต่างกันไป โดยจะต้องบวกกับค่าขนส่งที่ขึ้นอยู่กับระยะทาง รวมถึงการขนขึ้นตึกสูง ที่จะเป็นการตกลงกับผู้บริโภค ซึ่งยอมรับว่าปัจจุบันค่าการตลาดของผู้ค้าแอลพีจีส่วนใหญ่ที่เป็นร้านค้ารายย่อยนั้นไม่ได้สูงนัก

“ขณะเดียวกัน ต้นทุนต่างๆยังคงเพิ่มขึ้นมากทั้งค่าแรงงานของคนงานขนส่งแอลพีจี ค่าน้ำมันรถยนต์ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามกฎหมายใหม่ที่รัฐบาลกำหนด เช่น ล่าสุดร้านค้าแอลพีจี ประเภทที่ขออนุญาต
เปิดกิจการ ต้องติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิงด้วยน้ำแบบอัตโนมัติ (Sprinkler) เพื่อความปลอดภัย เป็นต้น”

นายนรุตม์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ต้นทุนการดำเนินกิจการร้านค้าแอลพีจีก็ปรับตัวสูงขึ้นมาก ผู้ค้าก็ไม่อยากให้กระทบต่อประชาชน ก็ยอมแบกภาระส่วนหนึ่ง แม้ว่าน้ำมันดีเซลขณะนี้ จะลดลง 1 บาทต่อลิตร เช่นเดียวกับค่าแรงที่ผู้ค้า
แอลพีจีก็ต้องจ่ายสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ เพราะหาแรงงานยาก และราคาแอลพีจีที่แพงขึ้นก็มีผลต่อประชาชนที่ใช้ประหยัดมากขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้นในเดือน เม.ย.รัฐบาลยังสามารถตรึงราคาได้ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดี

“ปัจจุบันร้านค้าปลีกแอลพีจีทั่วประเทศมีจำนวน 30,000 แห่ง ยอมรับว่าธุรกิจดังกล่าว ค่อนข้างมีอุปสรรคมาก ทั้งกฎระเบียบใหม่ๆ และต้นทุนต่างๆ ที่สูงทำให้ร้านค้าเดิมที่มีเจ้าของอายุมากแล้วเริ่มจะถอดใจ และทยอยปิดตัวลง ส่วนรายใหม่ๆที่จะเปิดขึ้นตามหมู่บ้าน ที่สร้างขึ้นใหม่ๆ ยังมีอยู่ แต่หากเทียบกับอดีตก็จะมีอัตราการเติบโตที่น้อยลง ขณะที่เหลืออยู่ ก็ต้องปรับตัวในเรื่องของต้นทุนต่างๆ”.

ผู้นำเสนอข่าว

Lemon

Written by:

720 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You May Have Missed