มิติทางวัฒนธรรม หนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมกระชับสัมพันธ์อันดีกับนานาประเทศให้แน่นแฟ้น มีประสิทธิภาพและราบรื่นยิ่งขึ้น โดยหัวใจหลักสำคัญ คือ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ประเทศ โดยทำอย่างไรที่จะให้ชาวต่างชาติโดยเฉพาะในระดับประชาชนทั่วไปเกิดความนิยมชมชอบความเป็นไทย เกิดความรู้สึกที่ดีและความเข้าใจอันดีต่อประเทศไทย
และเป็นตัวช่วยหลักในการดำเนินนโยบายทางการทูต ในการสร้างสัมพันธ์ฉันมิตรกับทุกประเทศ ที่มีการเชื่อมโยงเข้าด้วยกันระหว่างมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างกัน
กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จึงเป็นฟันเฟืองหลักของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตเชิงวัฒนธรรม และได้ขับเคลื่อน โครงการวัฒนธรรมสัญจรสำหรับคณะทูตานุทูต ด้วยการเชิญคณะทูตานุทูต ซึ่งเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทยสัญจรไปเยี่ยมชมและศึกษาเรียนรู้แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมทุกแขนง เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความเป็นไทย สร้างภาพลักษณ์ประเทศ และใช้วัฒนธรรมกระชับความสัมพันธ์อันดี ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงต้องงดเว้นไประยะหนึ่ง
ล่าสุด ในปี 2566 เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงแล้ว ประเทศไทยเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลก วธ. จึงนำคณะทูตานุทูต พร้อมภรรยา และผู้ติดตามจาก 28 ประเทศ รวม 47 คน ร่วม โครงการวัฒนธรรมสัญจรสำหรับคณะทูตานุทูต ครั้งที่ 11 โดยลงพื้นที่ไปเยี่ยมชม และศึกษาเรียนรู้ แหล่งมรดกทางวัฒนธรรม แหล่งศิลปหัตถกรรม และภูมิปัญญาพื้นบ้าน ในพื้นที่ จ.อุดรธานี และ จ.หนองบัวลำภู ระหว่างวันที่ 22-24 ก.พ.ที่ผ่านมา โดย ทีมข่าววัฒนธรรม ได้มีโอกาสติดตามไปด้วย
การจัดเส้นทางสัญจรเริ่มต้นที่ พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี เป็นการเปิดประตูต้อนรับให้ทุกคนทำความรู้จักกับจังหวัดอุดรธานี ทั้งด้านประวัติศาสตร์ ธรรมชาติวิทยา ธรณีวิทยา โบราณคดี ศิลปวัฒนธรรม จากนั้นเดินทางต่อไปที่ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ไฮไลต์สำคัญในทริปที่ไทยอยากจะนำเสนอ เพราะ อยู่ระหว่างการยื่นพิจารณาเป็นแหล่งมรดกโลก ซึ่งคณะทูตานุทูตได้สัมผัสกับความอัศจรรย์ของแหล่งโบราณคดีอันเก่าแก่ ที่แสดงถึงอารยธรรมของมนุษย์ รวมถึงได้เห็นปรากฏการณ์การกัดกร่อนทางธรรมชาติ ที่ทำให้เกิดเป็นโขดหินน้อยใหญ่รูปทรงแตกต่างกัน
ในช่วงค่ำเป็นงานเลี้ยงอาหารมื้อคํ่า ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท โดยมี นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม เป็นประธาน พร้อมด้วยนางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวง วัฒนธรรม ร่วมต้อนรับคณะทูตานุทูต ในบรรยากาศอันแสนอบอุ่น เป็นกันเอง ทุกคนได้สัมผัสและดื่มด่ำบรรยากาศที่โอบล้อมไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ ลิ้มรสอาหารอีสานพื้นบ้าน พร้อมกับชมการแสดง ที่เป็นเอกลักษณ์ของภาคอีสานอย่างเต็มอิ่ม
วันต่อมา เดินทางไปยัง ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านโนนกอก แหล่ง ภูมิปัญญาด้านการอนุรักษ์การทอผ้าขิดทั้งผ้าไหมและผ้าฝ้าย ซึ่งคณะทูตานุทูตได้ร่วมทำกิจกรรมมัดย้อมกระเป๋าผ้าจากสีธรรมชาติตามไอเดียตนเองอย่างสนุกสนาน รวมถึงชิมอาหารพื้นถิ่น สัมผัสวิถีชีวิตชาวอีสานชุมชนบ้านโนนกอก ก่อนจะเดินทางไปศึกษามรดกวัฒนธรรมบ้านเชียงที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง และแหล่งโบราณคดี หลุมขุดค้นโบราณวัตถุ ที่ วัดโพธิ์ศรีใน ทั้งได้ร่วมกิจกรรมเขียนสีไหลายเอกลักษณ์บ้านเชียง และร้อยลูกปัดสีต่างๆด้วย และ ในวันสุดท้าย ปักหมุดจุดหมายไปยัง ศูนย์การเรียนรู้ และออกแบบขวัญตา จ. หนองบัวลำภู แหล่งภูมิปัญญาการหัตถกรรมทอผ้าแบบดั้งเดิม โดยร่วมกิจกรรมเวิร์กช็อป Eco Print สร้างสรรค์ลายผ้าด้วยดอกไม้ ใบไม้ ตามสไตล์ความชอบ และได้รับ กลับไปเป็นที่ระลึก รวมทั้งชมการสาธิตผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นหนองบัวลำภู สาธิตการทอผ้า กระบวนการผลิตผ้าไหม ผ้าฝ้าย และออกแบบผ้าไทย รวมถึงการแสดงฟ้อนรำของชาวบ้าน
นายอิทธิพล เล่าว่า การเชิญคณะทูตานุทูตมาลงพื้นที่ครั้งนี้ เป็นการขับเคลื่อน soft power ความเป็นไทย ผ่านคณะทูตานุทูตในการส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างความเชื่อมั่นและสร้างภาพลักษณ์ของไทยที่มีความพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มศักยภาพ คณะทูตานุทูตได้เห็นถึงมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไทยที่มีความงดงาม มีคุณค่า โดยเฉพาะ ที่ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่พิจารณาเป็นมรดกโลกในปี 2567 ต่อจาก เมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ที่จะมีการพิจารณาในปีนี้ เราจึงมีความหวังว่าคณะทูตานุทูตจะช่วยเป็นเสียงสนับสนุนให้ประเทศไทยในการขึ้นทะเบียนมรดกโลกด้วย
“นอกจากนี้ยังหวังจะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีให้กลับไปประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของประเทศไทย และสื่อสาร กลับไปยังรัฐบาลของแต่ละประเทศให้มีการเชิญชวนนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยว ประเทศไทยให้มากขึ้นด้วย” รมว.วัฒนธรรม ย้ำถึงความคาดหวังผลการดำเนินงานครั้งนี้
นางยุถิกา กล่าวเสริมว่า ผลตอบรับจากคณะทูตานุทูตในครั้งนี้เป็นไปด้วยดี ทุกคนให้ความสนใจ ประทับใจ และชื่นชมในมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไทย ที่ได้สัมผัสด้วยตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิถีชีวิตชาวบ้าน การส่งเสริมมรดกภูมิปัญญาของชุมชนให้มีศักยภาพ โดยนำสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน ไปสู่การสร้างอาชีพ สร้างรายได้และสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนให้ชุมชน ขณะเดียวกัน ต่างมองเห็นถึงความภาคภูมิใจอย่างเปี่ยมล้นของคนในชุมชน ผ่านการนำเสนอและถ่ายทอดมรดกภูมิปัญญาให้แก่แขกที่มาเยือน ถือเป็นการเปิดประสบการณ์ ใหม่ของทูตานุทูตที่ไม่เคยได้มาในพื้นที่ 2 จังหวัดนี้ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่เสียงตอบรับส่วนใหญ่ จะนำสิ่งที่ได้รับรู้ไปช่วยประชาสัมพันธ์ บอกต่อ ชักชวนให้ประชาชนในประเทศตนเองมาเที่ยวประเทศไทย โดยเฉพาะในชุมชนต่างๆของ 2 จังหวัดนี้ด้วย
ทีมข่าววัฒนธรรม มองว่าการจัดทริปทูตสัญจรในครั้งนี้ เป็นการเดินหน้าตรงเป้าหมาย ในการใช้วัฒนธรรมเชื่อมความสัมพันธ์กับนานาชาติ ประชาสัมพันธ์ สร้างภาพพจน์ ภาพลักษณ์ที่ดีของไทย และยิ่งกว่านั้นคือสร้างความประทับใจให้ตราตรึงแก่คณะทูตานุทูต
ประเทศไทยมีเอกลักษณ์วัฒนธรรมที่โดดเด่นล้ำค่า มีประวัติศาสตร์และอารยธรรมที่เจริญรุ่งเรือง มีสถานที่ท่องเที่ยวอันสวยงามจึงไม่ใช่เรื่องยากที่คณะทูตานุทูตจะนำความประทับใจในครั้งนี้เชิญชวนให้ชาวโลกเข้ามาเที่ยวไทยมากขึ้นเพื่อให้นานาชาติได้รับรู้ และตระหนักถึงมรดกอันล้ำค่าของไทยอย่างแท้จริง.