ป.ป.ท.-ป.ป.ช.ตรวจสอบ เทยางมะตอยทับต้นไม้ ปมเพจดังแฉใช้งบนับล้านดำเนินการ

ป.ป.ท.-ป.ป.ช.ตรวจสอบ เทยางมะตอยทับต้นไม้ ปมเพจดังแฉใช้งบนับล้านดำเนินการ

ดราม่าไม่จบเทยางมะตอย ทับโคนต้นไม้จุดพักนักท่องเที่ยว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ล่าสุด ป.ป.ท./ป.ป.ช. สนธิกำลังลงพื้นที่ หลังเพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้านชี้เป้าโครงการดังกล่าวใช้งบ 1.7 ล้าน

กรณีโลกโซเชียลดราม่ามีการเทยางมะตอยทับโคนต้นไม้ 27 ต้นในพื้นที่กว่า 300 ตารางวา บริเวณจุดพักนักท่องเที่ยวรอขึ้น ดอยหลวงเชียงดาว ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว เมื่อวานนี้ (9 ก.พ. 66) จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียล ก่อนที่นายอิศเรศ สิทธิโรจนกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ และได้มีการสั่งให้เจ้าหน้าที่รื้อยางมะตอย และหินกรวดออกให้หมด เพื่อให้รากต้นไม้ประสานกัน
ล่าสุดเมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 นายนิรันดร ศรีภักดี ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเชียงใหม่ นายชิดชนก ชุมพล ผู้อำนวยการกลุ่มงานป้องกันการทุจริตในภาครัฐ ป.ป.ท. เขตพื้นที่ 5 และเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. จังหวัดเชียงใหม่ ลงพื้นที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุหลังจากเพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้านได้มีการแชร์ข้อมูลภาพและอ้างว่า โครงการดังกล่าวที่เป็นข่าวนั้นได้ใช้งบประมาณก่อสร้างทั้งหมด 1.7 ล้านบาท โดยมีนายอิศเรศ สิทธิโรจนกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 พร้อมเจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมวิศวกรรมและผู้เชี่ยวชาญด้านต้นไม้ และเจ้าหน้าที่รุกขกร เป็นผู้นำตรวจสอบพื้นที่และชี้แจ้งเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ขณะนี้ พื้นที่ดังกล่าวประมาณ 300 กว่าตารางเมตร ทางเจ้าหน้าที่ได้มีการขุดยางมะตอยและกรวดออกหมดแล้วโดยเหลือทิ้งไว้ปากทางเข้ากับลานจอดรถเท่านั้น
นายอิศเรศ สิทธิโรจนกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 กล่าวว่า ตามที่มีเพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้านได้มีการแชร์ว่าโครงการแห่งนี้ได้ก่อสร้างโดยใช้งบประมาณทั้งหมด 1.7 ล้านบาทนั้น โดยส่วนดำเนินการที่มีการขุดทิ้งนั้นเป็นการปูไพรม์โคทเท่านั้น ซึ่งดูแล้วจะมีผลกระทบต่อต้นไม้จึงได้ดำเนินการให้เอาออกทั้งหมด ให้ดำเนินการให้อยู่ที่ผิวดินเดิมโดยในพื้นที่ประมาณ 600 ตารางเมตร ในส่วนที่มีการบอกว่าโครงการนี้ใช้งบประมาณ 1.7 ล้านบาทนั้น ขณะนี้โครงการดังกล่าวนั้นยังไม่ได้เริ่มดำเนินการซึ่งเป็นงบประมาณ 3 ล้านกว่าบาท ซึ่งจะมีการพัฒนาในเขตพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว 3 จุด

โดยจุดที่เกิดเหตุนั้นถือว่าเป็น 1 ใน 3 จุดที่จะมีการดำเนินการ แต่ยังไม่ดำเนินการก็ได้มาเกิดปัญหาก่อน ซึ่งได้มีการจัดซื้อจัดจ้าง 3,352,000 บาท โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ศูนย์ปฏิบัติการรังวัดที่ดินและวิศวกรรมป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) ดำเนินการเองจำนวนเงิน 1,359,727.10 บาท และงานผิวจราจรแบบแอสฟัลติกคอนกรีตผสมยางพารา ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (E-bidding) จำนวนเงิน 1,992,272.90 บาท มีผู้เสนอราคาจำนวน 2 ราย ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด พนธกร การโยธา และบริษัท เชียงใหม่ทวีผลคอนสตรัคชั่น จำกัด
โดยผู้ชนะการประกวดราคา คือ บริษัท เชียงใหม่ทวีผลคอนสตรัคชั่น จำกัด ซึ่งได้เสนอราคา 1,700,000 บาท ทั้งนี้ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) ได้ดำเนินการประกาศผู้ชนะการเสนอราคาเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2566 พร้อมได้แจ้งให้ บริษัท เชียงใหม่ทวีผลคอนสตรัคชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้ชนะการประกวดราคาทราบและเข้าไปทำสัญญา

ตามหนังสือสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ที่ ทส 0926.2/784 ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 เรื่อง แจ้งลงนามในสัญญา และได้รับประสานจากผู้ชนะการประกวดราคาว่าจะมาทำสัญญาว่าจ้างในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 นี้ ดังนั้น งานผิวจราจรแบบแอสฟัลติกคอนกรีตผสมยางพารา ในราคา 1,700,000 บาท ที่ บริษัท เชียงใหม่ทวีผลคอนสตรัคชั่น จำกัด เสนอ ยังมิได้มีการดำเนินการแต่อย่างใด
ด้าน นายชิดชนก ชุมพล ผู้อำนวยการกลุ่มงานป้องกันการทุจริตในภาครัฐ ป.ป.ท. เขตพื้นที่ 5 เปิดเผยว่า การที่เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. ลงพื้นที่นั้นสืบเนื่องจากกระแสข่าวในโซเชียลเพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน นั้นทาง ป.ป.ท. จะมีการตรวจสอบในที่เป็นปัญหาว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้นเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวมีข้อเท็จจริงเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ถ้าเกิดขึ้นจริงแล้วข้อเท็จจริงนั้นนำไปสู่ปัญหาในเรื่องใดบ้าง เช่น การไม่เสร็จสร้างด้วยไม่มีการตรวจรับมีการแก้ไขปัญหาเพื่อให้โครงการนั้นสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี หรือ หากไม่สามารถดำเนินการได้จริงจากการที่ได้ดูแบบการก่อสร้าง ทาง ป.ป.ท. ก็จะให้ข้อสังเกตข้อแนะนำว่า สามารถทำได้หรือไม่อย่างไร ขณะนี้ อยู่ระหว่างที่ ทาง ป.ป.ท. กำลังขอตรวจสอบข้อมูลทั้งแบบการก่อสร้าง/การจัดซื้อจ้างว่าเป็นตามกระบวนการที่ถูกต้องหรือไม่อย่างไร


ส่วน นายนิรันดร ศรีภักดี ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในส่วน ของ ป.ป.ช. นั้นได้มาเข้ามาตรวจสอบหลังได้รับรายงาน ตามเพจโซเชียลจึงลงพื้นที่เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและป้องปรามในเรื่องการร้องเรียนทุจริตซึ่ง ทาง ป.ป.ช. นั้นจะตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้าง/งบประมาณการดำเนินการมาอย่างไรถูกต้องหรือไม่ ตามข้อกำหนดสัญญาหรือไม่ โดยจะให้หน่วยงานเจ้าของโครงการรายงานข้อมูลมาเบื้องต้นก่อน ซึ่งถ้าหากพบว่ามีความผิดปกติก็จะถือเป็นเหตุยกให้ทาง ป.ป.ช. ไต่สวนได้ แต่ถ้าหากการดำเนินการเกิดจากความบกพร่องทางหน่วยงานก็ต้องไปปรับแก้ไข ทาง ป.ป.ช. นั้นจะมีการตรวจสอบเพื่อให้การจัดทำดำเนินการนั้นเป็นประโยชน์ต่อประชาชนแน่นอน.

ที่มา:ไทยรัฐ

ผู้นำเสนอข่าว

yoko

Written by:

3,724 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *