หนึ่งเดียวในปฐพี “แสกเต้นสาก” งานประเพณีวันรวมใจไทแสก บวงสรวง “โองมู้” บรรพบุรุษผู้นำอพยพ

หนึ่งเดียวในปฐพี “แสกเต้นสาก” งานประเพณีวันรวมใจไทแสก บวงสรวง “โองมู้” บรรพบุรุษผู้นำอพยพ

วันที่ 23 มกราคม 2566 เวลา 09.30 น. ณ ศาลเจ้าเดนหวั่วโองมู้ ริมแม่น้ำโขง บ้านอาจสามารถ หมู่ 4 ต.อาจสามารถ อ.เมือง จ.นครพนม นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง/ส.ส.นครพนม เขต 1 พรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วย ดร.มนพร เจริญศรี ส.ส.นครพนม เขต 2 พรรคเพื่อไทย นางสาวศุภพานี โพธิ์สุ นายก อบจ.นครพนม นายวรวิทย์ พิมพนิตย์ นายอำเภอเมืองนครพนม นางสาวณัตติยา สีใส ส.อบจ.อำเภอเมืองนครพนม เขต 1 ร่วมในพิธีเปิดงานประเพณีวันรวมใจไทแสก ประจำปี 2566  โดยมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เข้าร่วมในงานประเพณีดังกล่าว

โดย นายปรีชา ศรีสงค์ นายก อบต.อาจสามารถ พร้อมด้วย นายไพรัตน์ สุสิงห์ กำนัน ต.อาจสามารถ ได้ร่วมกันกล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานวันรวมใจไทแสก ว่า เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีชนเผ่าไทแสก ซึ่งเป็น 1 ใน 9 ชนเผ่าของจังหวัดนครพนม ที่มีบันทึกการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานจากอดีตถึงปัจจุบัน จึงเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชุมชนดั้งเดิม ที่มีบรรพบุรุษมีถิ่นฐานอยู่ในประเทศจีนและเวียดนาม ก่อนจะอพยพล่องลงมาถึงเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สปป.ลาว แล้วข้ามฝั่งแม่น้ำโขงมาอยู่ที่ ต.อาจสามารถ อ.เมืองนครพนม ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ งานวันรวมใจไทแสก เป็นวันที่ชาวไทแสกทุกคน ต้องมารวมตัวกัน ณ ศาลเจ้าเดนหวั่วโองมู้ ทุกวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี เพื่อแสดงออกถึงความเคารพและนับถือซึ่งดวงวิญญาณบรรพบุรุษคือโองมู้ ที่ชาวไทแสกให้ความเคารพสักการะ กิจกรรมในครั้งนี้ ประกอบด้วย พิธีกรรมการกินเตรดเดน ซึ่งเป็นภาษาไทแสก หมายถึงจัดพิธีบวงสรวงไหว้บรรพบุรุษ คล้ายประเพณีวันตรุษจีน โดยชาวไทแสกเชื่อว่าเป็นพิธีกรรมที่มีความสำคัญ เป็นการสร้างศรัทธา ความเชื่อมั่น ก่อให้เกิดความผูกพัน สร้างจิตสำนึกให้แก่ชาวไทแสกเกิดความรักและความหวงแหนในวัฒนธรรมของตน มุ่งสอนให้ผู้น้อยให้ความเคารพนับถือผู้ใหญ่กว่า มีความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ และเป็นการพบปะสังสรรค์กันทุกครัวเรือน

ไฮไลท์สำคัญหลังเสร็จพิธีบวงสรวงไหว้บรรพบุรุษโองมู้แล้ว คือ การแสดงแสกเต้นสาก เกิดจากพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ในอดีต เพื่อบูชาบวงสรวงบรรพบุรุษ เป็นต้นตำรับหนึ่งเดียวในไทย ปัจจุบันได้นำมาเป็นการละเล่นแสดงโชว์ในงานพิธีสำคัญ ถือเป็นการแสดงที่ยากต้องใช้ความชำนาญ โดยใช้ผู้แสดงกว่า 10 คน นำไม้ยาว 2-3 เมตร เป็นคู่มานั่งกระทบเป็นจังหวะ เดิมทีคนโบราณใช้สากตำข้าว ปัจจุบันหันมาใช้ไม้ที่จัดขึ้นเพื่อการแสดง จากนั้นมีการจัดคู่รำเป็นคู่ 3-5 คู่ กระโดดสลับไปในช่องของไม้ที่กระทบกัน ควบคู่กับการรำที่เข้าจังหวะจะโคน ถือเป็นการแสดงที่ต้องใช้ความชำนาญ หากผิดพลาดอาจถึงขั้นบาดเจ็บ จึงต้องทุ่มเทฝึกฝนมาเป็นอย่างดี นอกจากนี้มีการจำลองวิถีชีวิตของชนเผ่าไทแสก และการประกวดซุ้มซอยที่จัดขึ้นมาเป็นประจำทุกปี  ฯลฯ

ทั้งนี้จากบันทึกของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวไว้ในหนังสือโบราณคดี เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาวไทแสก ว่า ถิ่นเดิมของชาวไทแสกอาศัยอยู่แถบเมืองวินห์ เมืองรอง อยู่ระหว่างชายแดนจีนและเวียดนาม ชนเผ่าไทแสกรักสงบไม่ชอบการรุกราน หากถูกชนเผ่าอื่นรุกรานก็จะรวบรวมจำนวนคนพากันอพยพหาที่อยู่ใหม่ โดยอพยพมาตามแม่น้ำโขง บางส่วนได้แยกไปตั้งถิ่นฐานอยู่แถบแคว้นสิบสองปันนา บางกลุ่มโยกย้ายอยู่บ้านโพธิ์ค้ำ บ้านตอกดอกแค เมืองท่าแขก สปป.ลาว ในปัจจุบัน และมีบางส่วนได้อพยพข้ามแม่น้ำโขงมาอยู่ฝั่งประเทศไทย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยมีโองมู้เป็นผู้นำในการอพยพในครั้งนี้

และจากงานเขียนของนายสุรจิตร จันทรสาขา ได้กล่าวไว้ว่า พระสุนทรราชวงษา (ฝ้าย) ให้ชาวไทแสกตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ป่าหายโศก เพราะทรงเห็นว่ามีนิสัยรักสงบ และทรงแต่งตั้งให้เป็นกองอาทมาต ทำหน้าที่ลาดตระเวนตามแนวชายแดนน้ำโขง ภายหลัง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า แต่งตั้งชุมชนเผ่าไทแสกให้เป็นเมืองอาทมาตขึ้นกับเมืองนครพนม โดยให้ท้าวฆาน บุตดี เป็นหลวงเอกอาสา ทำหน้าที่เป็นเจ้าเมือง ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเมืองจากอาทมาตเป็นเมืองอาจสามารถ

ในขณะที่เอกสารจดหมายเหตุ ร.3 จ.ศ.1191 เลขที่ 3 หอสมุดแห่งชาติ มีข้อความกล่าวถึงประวัติการตั้งเมืองอาจสามารถ ว่า ประเทศไทยได้มีการปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาคให้เป็นแบบเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ให้ยกเลิกการปกครองแบบโบราณของเมืองต่างๆในภาคอีสาน ซึ่งเคยปกครองแบบมีเจ้าเมืองอุปฮาต ราชวงศ์ และ ราชบุตรทั้งหมด ให้เปลี่ยนเป็นตำแหน่งผู้ว่าราชการเมือง ปลัดเมือง ยกบัตรเมือง โดยเมืองนครพนมมีพระยาพนมนครานุรักษ์ เป็นผู้ว่าราชการเมือง แบ่งการปกครองออกเป็น 6 อำเภอ คือ 1.เมืองนครพนม 2.อำเภอเรณูนคร 3.อำเภออาจสามารถ 4.อำเภออากาศอำนวย 5.อำเภอกุสุมาลย์ และ มลฑลอำเภอโพธิไพศาล

ปัจจุบันอำเภออากาศอำนวย อำเภอกุสุมาลย์ และมลฑลอำเภอโพธิไพศาลโอนไปขึ้นกับจังหวัดสกลนคร ส่วนอำเภออาจสามารถได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นตำบลอาจสามารถจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากเขตอำเภอเมืองฯและอำเภออาจสามารถมีพื้นที่ติดกัน โดยชนเผ่าไทแสกในจังหวัดนครพนม ส่วนมากอาศัยอยู่ที่บ้านอาจสามารถ และบ้านไผ่ล้อม ต.อาจสามารถ อ.เมืองนครพนม มีบางส่วนที่ไปอาศัยอยู่ที่บ้านบะหว้า อ.นาหว้า และ บ้านดอนสมอ อ.ศรีสงคราม ทั้งนี้ทั้งนั้นแม้จะแยกย้ายกันไปตั้งบ้านเรือนอยู่ต่างบ้านต่างอำเภอ แต่ชนเผ่าไทแสกจะมีบรรพบุรุษคนเดียวกันคือโองมู้นั่นเอง

ต.อาจสามารถ ปัจจุบันได้พัฒนาเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีการจัดจำหน่าย สินค้าโอทอป มีการจัดแสดงวัฒนธรรมประเพณีรับนักท่องเที่ยว รวมถึงการส่งเสริมอาชีพเปิดร้านอาหารเมนูปลาจุ่มในพื้นที่ ขาดไม่ได้คือใครมาเยือนจะต้องได้ชื่นชม แสกเต้นสากที่หาดูยาก เป็นการสืบสานพิธีความเชื่อ นำมาสู่การแสดง ส่งเสริมการท่องเที่ยว เพราะต้องใช้ความชำนาญหาดูยาก ตื่นตาตื่นใจ และสนุกสนาน ควบคู่กันไป ใครอยากสัมผัสวิถีชีวิต เอกลักษณ์ วัฒนธรรมชนเผ่าไทแสก อย่าลืมมาเที่ยวชุมชนไทแสก ต.อาจสามารถ อ.เมืองนครพนม โดยชุมชนนี้อยู่ห่างตัวจังหวัดประมาณ 4 กิโลเมตรเท่านั้น

ที่มา:banmuang

ผู้นำเสนอข่าว

yoko

Written by:

3,723 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You May Have Missed