5 กลยุทธ์ ป้องกัน “กับดักหนี้” ไม่ให้กลับมาเป็น “หนี้ซ้ำ” ออมก่อนใช้-สร้างเงินฝากสำรอง 3-6 เดือน

5 กลยุทธ์ ป้องกัน “กับดักหนี้” ไม่ให้กลับมาเป็น “หนี้ซ้ำ” ออมก่อนใช้-สร้างเงินฝากสำรอง 3-6 เดือน

เชื่อว่าเกิดมาคงไม่มีใครอยากเป็น “หนี้” แต่เมื่อชีวิตมันลำบาก บางจังหวะขัดสน หรือบางครั้งก็จำเป็น ต้องซื้อรถ-ซื้อบ้าน สร้างความมั่นคง ใช้ประกอบอาชีพ ก็คงต้องจำยอม แบกดอกเบี้ย ผ่อนจ่ายระยะยาวกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลมากกว่า หากแต่เป็น การกู้หนี้ยืมสิน มาเพื่อสนองความอยากได้ อยากมี ฟุ้งเฟ้อ ของตนเอง ปล่อยให้ค่านิยมทางสังคม หรือโซเชียลมีเดียมามีอิทธิพลต่อชีวิต ติดกับดักทางการตลาด จนทำให้บางครั้ง “สิ้นเนื้อประดาตัว” บ้างเสพติดการพนัน พาให้จมอยู่ในวังวนของการ “เป็นหนี้” ไม่รู้จบ

สะท้อนจากข้อมูลของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในช่วงปลายปี 2566 พบว่าหนี้สินครัวเรือนไทยมีมากถึง 16.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.9% ของ GDP สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาหนี้สินที่รุมเร้าคนในสังคมไทย กลายเป็นปัญหา การเงินระดับครัวเรือน ที่กัดกร่อนต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกด้วย

5 ข้อ หยุดวงจรการเป็นหนี้ซ้ำ

ทั้งนี้ ประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งท้าทายที่ต้องรับมือให้ได้ และหากต้องการหลุดจากกับดักหนี้ สมาคมนักวางแผนการเงินไทย แนะไว้ 5 กลยุทธ์ ดังนี้

  1. ทำความเข้าใจต้นตอของการเป็นหนี้

เริ่มต้นจากการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของตัวเอง ด้วยการจดบันทึกรายรับรายจ่าย จะทำให้เห็นตัวเลขที่เป็นข้อเท็จจริงที่ชัดเจน เพื่อนำข้อมูลที่สะท้อนพฤติกรรมทางการเงินมาวิเคราะห์ว่ารายจ่ายใดเป็นจุดอ่อนที่ฉุดรั้งไม่ให้พ้นจากกับดักหนี้ หลังจากนั้นก็แบ่งประเภทรายจ่ายออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

รายจ่าย “ความจำเป็น”
รายจ่ายที่เป็น “ความต้องการ”
เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจก่อนจะซื้ออะไรใหม่ ด้วยการถามตัวเองว่า สิ่งที่จะซื้อ “จำเป็นหรือเพียงแค่อยากได้” “สิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยังพอใช้ได้อยู่หรือไม่” คำถามเหล่านี้จะช่วยเตือนสติการใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น

  1. ตั้งเป้าหมายปลดหนี้ที่ชัดเจน

การตั้งเป้าปลดหนี้อาจเลือกใช้วิธีปิดหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงสุดก่อน โดยเฉพาะหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล หนี้บัตรเครดิต เพื่อทำให้ประหยัดค่าดอกเบี้ย หรือเล็งเป้าหมายปลดหนี้ก้อนที่มีเงินต้นคงค้างเหลือน้อยที่สุด เปรียบเหมือนการ “ปลดล็อกกระแสเงินสด” เพื่อทำให้มีกระแสเงินสดในแต่ละเดือนมากขึ้น

  1. วางแผนจัดการหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ

เลือกวิธีจัดการหนี้ที่เหมาะสม เช่น “วางแผนรีไฟแนนซ์” โดยหลักสำคัญ คือ การได้สินเชื่อใหม่มาแทนสินเชื่อเก่า โดยสินเชื่อใหม่นั้นต้องมีดอกเบี้ยต่ำกว่า ซึ่งมักจะใช้วิธีนี้กับสินเชื่อที่อยู่อาศัยเมื่อครบกำหนด 3 ปี หรือใช้วิธีนี้กับการใช้สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีดอกเบี้ยต่ำกว่ามาปิดยอดหนี้บัตรเครดิต

หรือในกรณีที่ภาวะการเงินตึงตัวอาจเลือกวิธี “เจรจาลดหย่อนหนี้สิน” โดยเป็นการเข้าไปพูดคุยกับเจ้าหนี้ ซึ่งลูกหนี้อาจได้ปรับลดจำนวนเงินต้น ลดอัตราดอกเบี้ย หรือการขยายเวลาการผ่อนชำระออกไป

  1. เคล็ดลับภูมิคุ้มกัน “หนี้เรื้อรัง”

ซื้อของด้วยเงินสด หรือถ้าใช้บัตรเครดิตก็ให้จ่ายหนี้เต็มจำนวน ซึ่งเป็นการควบคุมค่าใช้จ่ายให้อยู่ภายใต้เงินที่มีอยู่ ไม่ใช้เงินในอนาคต เป็นการฝึกความอดทน ปรับเปลี่ยนนิสัยทางการเงินไม่ให้ใช้เงินแบบวู่วาม
ออมก่อนใช้อย่างสม่ำเสมอ เมื่อมีรายได้เข้ามาในแต่ละเดือนให้ออมอย่างน้อย 5–10% ของรายได้ ถือว่าเป็นการสร้างเงินก้อนสำรองเผื่อฉุกเฉิน ควรมีเงินไว้ในรูปเงินฝากออมทรัพย์อย่างน้อย 3-6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน ถ้าเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นมา จะได้มีเงินไว้ใช้ไม่ต้องก่อหนี้เพิ่ม
ใช้ชีวิตแบบพอเพียง ดำเนินชีวิตด้วยความเรียบง่าย ไม่ก่อหนี้ ไม่ฟุ้งเฟ้อ วิถีชีวิตแบบนี้เป็นทางที่ยั่งยืนในการสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับตัวเองและครอบครัว

  1. รู้เท่าทันภัยคุกคามทางการเงิน

หลีกเลี่ยงความสูญเสียทางการเงิน เช่น การหลอกลวงทางโทรศัพท์ หลอกลวงออนไลน์ตามช่องทางโซเชียลมีเดีย การโจรกรรมข้อมูลโดยแฝงเข้ามาในแอปพลิเคชันทางโทรศัพท์มือถือ หรือการลงทุนที่ผิดกฎหมาย แชร์ลูกโซ่ต่างๆ ที่มาหลอกล่อด้วยผลตอบแทนที่สูงในระยะเวลาสั้น

ดังนั้น เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพ ควรติดตามข่าวสารทางการเงิน อย่าหลงเชื่อ อย่ากด Link แปลกๆ และมีสติทุกครั้งที่จะใช้เครื่องมืออุปกรณ์สื่อสาร รอบคอบในการทำธุรกรรมทางการเงิน รวมถึงต้องระมัดระวังไม่ไปค้ำประกันให้ใครง่ายๆ เพราะนอกจากจะเสียเงินแล้ว ยังอาจเสียความสัมพันธ์ ทำให้ต้องมารับผิดชอบหนี้ที่ไม่ได้ก่อขึ้นมาแทนผู้อื่นอีกด้วย

ที่มา : ธปท., สมาคมนักวางแผนการเงินไทย, สภาพัฒน์ฯ
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/

ผู้นำเสนอข่าว

Hnoy

Written by:

3,884 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *