แพ็กเกจอีวี 3.5 รอรัฐบาลหน้า “สุพัฒนพงษ์” ฝากสานต่อหากไม่ทำน่าเสียดาย

แพ็กเกจอีวี 3.5 รอรัฐบาลหน้า “สุพัฒนพงษ์” ฝากสานต่อหากไม่ทำน่าเสียดาย

“สุพัฒนพงษ์”เผยนำแพ็กเกจส่งเสริมรถยนต์อีวี 3.5 เพื่อดึงดูดค่ายรถยนต์ตั้งฐานผลิตในไทยเพิ่มเติมเข้า ครม.ไม่ทันก่อนยุบสภา หวังรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาจะนำมาทำเป็นเรื่องแรก ชี้รัฐบาลนี้ทำเรื่องดีๆไว้หลายอย่าง ถ้ารัฐบาลใหม่มาไม่ทำต่อก็น่าเสียดาย

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ผลักดันมาตรการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) หรือมาตรการอีวี 3.0 ที่จะหมดอายุสิ้นปี 2566 ซึ่งได้รับการตอบรับดีมาก รัฐบาลจึงจัดทำแพ็กเกจดึงดูดการลงทุนของค่ายรถยนต์เพิ่มเติม เรียกว่ามาตรการอีวี 3.5 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการส่งเสริมรถอีวีไปถึงปี 2568 อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่ทันอนุมัติในคณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื่องจากใกล้จะยุบสภา แต่ก็มั่นใจว่ามาตรการนี้จะได้รับการพิจารณาเป็นมาตรการแรกๆ ของรัฐบาลชุดใหม่ เพราะเป็นเรื่องที่ดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ และประชาชนชื่นชอบอย่างมาก

ทั้งนี้ นโยบายส่งเสริมรถอีวีปัจจุบันเห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างมาก โดยสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้ผลิตรถอีวีสองค่าย ได้แก่ เนต้า (NETA) และบีวายดี (BYD) ได้วางศิลาฤกษ์ก่อสร้างโรงงานผลิตรถอีวีในประเทศไทย คาดว่า 1-2 ปีข้างหน้าโรงงานจะแล้วเสร็จ และจะมีอีกหลายค่ายรถที่จะเข้ามาก่อสร้างโรงงานในไทยทั้งโรงงานผลิตและโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้า

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า จากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ดำเนินการมาตลอด 8 ปี ได้เน้นในเรื่องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การเพิ่มรายได้ เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาขึ้น ซึ่งโมเดลเศรษฐกิจที่รัฐบาลให้ความสำคัญ คือ เรื่องการลดคาร์บอน และการขับเคลื่อนนโยบายบีซีจี โดยมีการผลักดันอุตสาหกรรมที่สำคัญ เช่น การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และชิ้นส่วนสำคัญของรถอีวีในประเทศไทย รวมทั้งส่งเสริมเทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอน ส่งเสริมพลังงานทดแทนเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันและพลังงานจากต่างประเทศ มั่นใจว่าเป็นทิศทางที่ถูกต้องและไม่ว่าพรรคการเมืองใดเข้ามาเป็นรัฐบาลก็จะดำเนินการต่อ เพราะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศและเป็นแนวทางการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน

สำหรับการส่งเสริมการลดคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งไทยมีเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ.2050 หรือ พ.ศ.2593 ตอนนี้เริ่มส่งเสริมการศึกษาเรื่องเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน (CCS) โดยจะใช้ในภาคการผลิตปิโตรเลียมและการผลิตไฟฟ้า โดยให้บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ไปศึกษาลักษณะธรณีวิทยาใต้ทะเลที่สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ในปริมาณมาก ขณะนี้พบบางพื้นที่ที่มีศักยภาพแล้ว และเรื่องนี้ได้รับความสนใจจากรัฐบาลญี่ปุ่น ที่จะให้ทุนสนับสนุนซึ่งถือว่ามีความเป็นไปได้สูง ส่วนการผลิตไฟฟ้าที่จะต้องมีการกักเก็บคาร์บอน ได้ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปศึกษาการกักเก็บใต้ดินแหล่งแม่เมาะที่จังหวัดลำปาง ซึ่งอาจมีพื้นที่ใกล้เคียงที่กักเก็บคาร์บอนได้เช่นกัน หากสำเร็จจะสามารถยืดอายุการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินบริเวณโรงไฟฟ้าแม่เมาะออกไป โดยการเก็บคาร์บอนชดเชยทำให้การปล่อยมลพิษต่ำลงไปกว่าในระดับปัจจุบันซึ่งทำให้ไทยมีทางเลือกในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติม

ส่วนความคืบหน้าเรื่องการจัดหาแหล่งพลังงาน รัฐบาลนี้ได้เริ่มการหารือกับรัฐบาลกัมพูชาในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา (OCA) ในทะเลอ่าวไทย เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือ ด้านการสำรวจปิโตรเลียมร่วมกันในอนาคต ซึ่งทั้งสองประเทศเห็นตรงกัน ว่าเป็นความมั่นคงด้านพลังงานและเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจร่วมกัน โดยรูปแบบหากสามารถนำก๊าซธรรมชาติมาจากพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวมาผลิตไฟฟ้าในฝั่งประเทศไทยและส่งไฟฟ้าผ่านสายส่งไปให้กัมพูชาซึ่งถือว่าเป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันที่สามารถหารือกันได้

“สิ่งที่รัฐบาลทำตลอดหลายปีที่ผ่านมาในเรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ดีมากที่พรรคการเมืองต่างๆ สามารถเอาไปทำต่อได้ อาจจะมีการทบทวนบ้าง แต่ก็เชื่อว่านโยบายหลักๆทุกรัฐบาลก็ต้องทำต่อไม่ว่าจะเป็นเรื่องรถไฟฟ้า บีซีจี ลดคาร์บอน และการเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ซึ่งควรจะทำต่อ ถ้าไม่ทำต่อก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะว่าจุดมุ่งหมายของนโยบายเหล่านี้เพื่อพัฒนาประเทศและยกระดับรายได้ของประชาชนไทยให้เพิ่มขึ้น”.

ผู้นำเสนอข่าว

Lemon

Written by:

720 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *