นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย.66 ที่ปรับตัวสูงขึ้นในรอบ 38 เดือนว่า เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยดีขึ้น บรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนไปตามภูมิภาคต่างๆ และเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัว ทำให้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่แม้ดัชนีสูงขึ้น แต่ยังไม่กลับไปอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด เพราะประชาชนยังกังวลกับค่าครองชีพ ค่าไฟฟ้า ความขัดแย้งระหว่างประเทศ
ส่วนการหาเสียงเลือกตั้งของแต่ละพรรคในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้มีเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจประมาณ 50,000-60,000 ล้านบาท และในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง จะมีเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจอีก 20,000-30,000 ล้านบาท เห็นได้จากการจับจ่ายในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 66 จะขยายตัว 3.0-3.5% และมีโอกาสเติบโตได้มากกว่า 3.5% หากเศรษฐกิจโลกไม่รุนแรง จะทำให้การส่งออกของไทยฟื้นตัวดีขึ้น รวมถึงการเมืองต้องมีเสถียรภาพ ถ้ารัฐบาลใหม่ไม่มีเสถียรภาพ เศรษฐกิจมีโอกาสขยายตัวต่ำกว่า 3%
ด้านนายวาทิตร รักษ์ธรรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือน เม.ย.66 อยู่ที่ระดับ 55.0 เพิ่มจาก 53.8 ในเดือน มี.ค.66 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 และสูงสุดในรอบ 38 เดือน นับตั้งแต่เดือน มี.ค.63 เพราะผู้บริโภครู้สึกว่า เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นหลังการท่องเที่ยวฟื้นตัว รวมถึงบรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งที่คึกคักทั่วประเทศ ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ดีขึ้น สำหรับปัจจัยบวกที่มีผลต่อดัชนีความเชื่อมั่น ได้แก่ 1.บรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งที่คึกคักทั่วประเทศ และมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น 2.จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยมาก ทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนภายในประเทศมากขึ้น 3.ราคาพืชผลทางการเกษตรดีขึ้น เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 4.ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศลดลง 5.เงินบาทแข็งค่าขึ้น สะท้อนว่ามีการไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศ.