เปิดแผนบริหาร “ค่าไฟปี 66” อะไรคือตัวแปรสำคัญดึงราคาลง

เปิดแผนบริหาร “ค่าไฟปี 66” อะไรคือตัวแปรสำคัญดึงราคาลง

กกพ. มองเทรนด์ราคาพลังงานปี 2566 กลับสู่สภาวะใกล้ปกติ หากกำลังการผลิตก๊าซในอ่าวไทยกลับมาในปริมาณมากกว่าเท่าตัว ย้ำปี 2565 ถือเป็นปีที่พีคสุด ซ้ำเติม “กฟผ.” รับภาระค่า Ft อ่วม ทะลุ 1.5 แสนล้าน

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า ทิศทางราคาพลังงานปี 2566 จะพุ่งสูงขึ้นหรือลดลงจากปี 2565 นั้น ประกอบด้วยปัจจัยหลัก คือ ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่จะเพิ่มขึ้นเท่าไร ซึ่งหากปริมาณการผลิตก๊าซในอ่าวไทยเป็นไปตามที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ระบุก็จะเป็นเรื่องที่ดี

ทั้งนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ระบุว่า บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.ได้รายงานว่ากำลังผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะกลับมาสู่ระดับปกติที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ได้ใช้ช่วงเดือนเม.ย. 2567 จากปัจจุบันมีกำลังผลิตกว่า 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และจะขึ้นมาที่ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เดือนก.ค. 2566 และไปที่ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

“หากดูตัวเลขตามที่บอกว่าจะสามารถผลิตได้เยอะขึ้น ปริมาณก๊าซธรรมชาติ LNG นำเข้าก็น้อยลง เราก็สามารถบริหารราคาค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ได้ง่ายขึ้น เช่น พอตัวเลขก๊าซในอ่าวไทยมีเท่านี้ แล้วเราจะเพิ่มน้ำมันดีเซล หรือ น้ำมันเตาเท่าไหร่ เพื่อให้ราคาต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าลดลง เป็นต้น ซึ่งหากคำนวนค่าไฟรอบเดือนเม.ย. 2566 กำลังการผลิตแหล่งเอราวัณอาจจะอยู่ที่ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เราจึงต้องดูก๊าซในอ่าวไทย บวกกับช่วงนั้นราคา LNG ตลาดโลกจะอยู่ในระดับที่เท่าไหร่ ซึ่งต้องดูองค์ประกอบหลายตัว”

อย่างไรก็ตาม รวมถึงการคำนวณค่า Ft คืนให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ด้วย แม้ว่ากำลังการผลิตเพิ่มขึ้นแล้วทำให้ค่าไฟดีขึ้น แต่ภาระเงินค้างกฟผ. ที่มีก็ต้องจ่ายคืนกฟผ.ด้วย ซึ่งต้องยอมรับว่าช่วงปี 2565 ต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ LNG เยอะมาก ถือว่าเต็มกำลังเพราะความสามารถในการใช้น้ำมันของโรงไฟฟ้าก็ยังมีความจำกัด อีกทั้งโรงไฟฟ้าใหม่ก็รองรับก๊าซธรรมชาติแล้ว

“ปัจจัยหลัก ๆ คือปริมาณก๊าซในอ่าวไทย หากมีปริมาณมากขึ้น LNG นำเข้าก็น้อยลง ดังนั้น ก็จะเจอความเสี่ยงกับราคาน้อยลง เราก็บริหารจัดการด้วยการใช้น้ำมันดีเซลามาแทน หากเป็นไปตามที่มีการพูดกันก็ดีขึ้น และควรจะเลยจุดสูงสุดมาแล้ว ก็จะทยอยคือนใช้หนี้ให้กับกฟผ.”

ทั้งนี้ ราคาค่าไฟฟ้างวดนี้ (ม.ค.-เม.ย. 2566) น่าจะถือเป็นวิกฤติของกฟผ. งวดหน้า (พ.ค.-ส.ค. 2566) น่าจะพอบริหารได้ เพราะค่า Ft ได้คืนมาบ้างแล้ว แต่เมื่อ กฟผ. ได้น้อย งวดหน้าเมื่อเอามาคืนก็จะอยู่ประมาณไม่มากเท่าไหร่ ดังนั้น หากแนวโน้มกำลังการผลิตก๊าซในอ่าวไทยดีขึ้นช่วงการคำนวนค่า Ft รองเดือนพ.ค.-ส.ค. 2566 จะถือว่าเราได้เลยจุดพีคมาแล้ว แต่ถ้าไม่เป็นไปตามที่พูดก็จะเหนื่อยอีก เพราะจะต้องมาดูตัวเลขอีกครั้ง

นอกจากนี้ ส่วนตัวมองระยะยาวว่า ปี 2566 ราคาก๊าซ LNG นำเข้าจะต้องลดลงอยู่แล้ว อาทิ ยุโรปผ่านพ้นฤดูหนาว ทั่วโลกหันมาใช้พลังงานอื่น ๆ เข้ามาทดแทน เช่น 2-3 ปีข้างหน้าก๊าซอ่าวไทยกลับมาเหมือนเดิม หากไม่กลับมาเหมือนเดิมก็เตรียมหาแหล่งพลังงานทดแทนเพื่อทำให้ค่าไฟลดลง ประกอบกับการใช้พลังงานสะอาด RE100 ก็จะช่วยได้ ซึ่งขณะนี้ กระทรวงพลังงานได้เน้นนโยบายระยะไกลตามแผนพลังงานชาติ  

“ปีหน้าภาพรวมนั้นจริง ๆ ต้องดูที่ดีมานด์กับซัพพลายของ LNG มากกว่า เพราะบางประเทศก็เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และถ่านหินกลับมาใช้ เมื่อเอากลับมาใช้เยอะขึ้น ความต้องการ LNG ก็จะน้อยลง รวมถึงไทยด้วย เมื่อนำพลังงานทางเลือกอื่น ๆ มาใช้ก็จะใช้ LNG นำเข้าน้อยลงด้วยเช่นกัน” 

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ให้ความสำคัญด้านการจัดหาเชื้อเพลิงพลังงานที่ต้นทุนไม่สูง ทั้งจากแหล่งในประเทศและเพื่อนบ้าน ซึ่งมีส่วนช่วยลดผลกระทบต้นทุนเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าและภาระค่าฟ้าของประชาชน โดยเฉพาะการจัดหาเชื้อเพลิงพลังงานจากแหล่งในประเทศ ซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับเชื้อเพลิงประเภทอื่นๆ และการนำเข้าจากต่างประเทศในสถานการณ์ราคาพลังงานโลกวิกฤตและราคา Spot LNG มีความผันผวนสูง โดยในปี 2565 ที่ผ่านมาแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช ได้สิ้นอายุสัมปทานและได้เปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ติดตามการดำเนินงานในช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างใกล้ชิด  

อย่างไรก็ตาม การผลิตของแหล่งเอราวัณที่ไม่สามารถผลิตได้ตามเป้าในช่วงแรกของสัญญา เนื่องจากการเจรจาระหว่างผู้รับสัญญารายใหม่และผู้รับสัมปทานรายเดิมเกี่ยวกับข้อตกลงในการเข้าพื้นที่ และการเจาะหลุมเพื่อเตรียมการผลิตปิโตรเลียมเป็นการล่วงหน้า ล่าช้ากว่าแผน แต่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้บริหารจัดการโดยประสานผู้รับสัมปทานรายเดิมและผู้รับสัญญารายใหม่ให้ผลิตอย่างเต็มความสามารถของแต่ละแหล่ง จัดทำสัญญาซื้อขายก๊าซเพิ่มเติมในแหล่งที่มีศักยภาพ ได้แก่ แหล่งอาทิตย์ พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย รวมถึงจัดหาก๊าซเพิ่มจากแหล่งยาดานาในประเทศเมียนมา เพื่อเพิ่มปริมาณการจัดหาก๊าซธรรมชาติเข้าระบบ 

สำหรับในปี 2566 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะจัดทำและทบทวนแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องเป็นระยะๆ พร้อมทั้งจัดหาก๊าซธรรมชาติเข้าระบบเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง กำกับดูแลผู้รับสัมปทานและผู้รับสัญญาในการจัดหาก๊าซธรรมชาติและการหยุดซ่อมบำรุงให้เป็นไปตามแผน โดยในระยะยาว กระทรวงพลังงานมีนโยบายส่งเสริมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยมีการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เพื่อความมั่นคงเพิ่มเติม ได้แก่ การเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ (รอบที่ 24) จำนวน 3 แปลง ในบริเวณทะเลอ่าวไทย มีพื้นที่ครอบคลุมกว่า 35,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติอยู่ระหว่างการพิจารณาคำขอการพิจารณาคำขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม  

ผู้นำเสนอข่าว

Lemon

Written by:

720 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You May Have Missed