นางสาวอุษา โทณผลิน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 อุดรธานี (สศท.3) เผยว่า “เนื้อโคขุนโพนยางคำ” เป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงและเป็นหนึ่งในสินค้า GI ของจังหวัดสกลนคร ปี 2564 มีเกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อครอบคลุมทั้ง 18 อำเภอ 43,830 ราย เลี้ยงโคเนื้อ 219,512 ตัว เป็นโคพื้นเมือง 107,174 ตัว โคลูกผสม 106,634 ตัว โคขุน 3,835 ตัว และโคพันธุ์แท้ 1,869 ตัว โดยมีสหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป.กลาง โพนยางคำ จำกัด เป็นผู้รับซื้อผลผลิตโคขุนจากเกษตรกรสมาชิก โดยมีกรรมวิธีการฆ่าและชำแหละที่ได้มาตรฐาน ตลอดจนมีห้องเย็นสำหรับบ่มซากเพื่อรักษาคุณภาพเนื้อให้มีคุณภาพ มีโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ ชำแหละแบ่งชั้นตามคุณภาพเนื้อตัดแต่งและบรรจุภัณฑ์โดยเฉพาะชิ้นส่วนเนื้อโคเกรดพรีเมียม ส่งจำหน่ายให้แก่โรงแรม ภัตตาคาร ร้านสเต๊ก ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ หรือพ่อค้าคนกลางมารับซื้อ เพื่อส่งตลาดต่างประเทศ
ผอ.สศท.3 เผยอีกว่า ปัจจุบันการเลี้ยงโคขุนโพนยางคำได้มีการพัฒนาการวิจัยอาหารคุณภาพดี เพื่อลดต้นทุนการผลิตเนื้อโคขุนโพนยางคำ แต่ยังคงคุณภาพเนื้อโคขุนเกรดพรีเมียม ด้วยการใช้อาหารข้นสำเร็จรูปที่ผลิตขึ้นมาจากการนำอาหารหยาบและอาหารข้นมาผสมกันในอัตราส่วนที่เหมาะสม ที่เรียกกันว่า TMR ส่งผลให้เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยตัวละ 66,001 บาท ได้น้ำหนักเฉลี่ย ตัวละ 728.83 กก. ราคาที่เกษตรกรขายได้ตัวละ 92,547 บาท ได้กำไรตัวละ 26,546 บาท
ในขณะที่การให้อาหารข้นอย่างเดียว มีต้น ทุนการผลิตเฉลี่ยตัวละ 73,685 บาท ได้น้ำหนักเฉลี่ยตัวละ 714.61 กก. ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยตัวละ 91,421 บาท ได้กำไรเฉลี่ยตัวละ 17,736 บาท
“จะเห็นได้ว่าการผลิตโคขุนโพนยางคำที่มีการใช้อาหาร TMR เกษตรกรจะมีต้นทุนน้อยกว่าการใช้อาหารข้นอย่างเดียว 10.43% แต่ได้ผลตอบแทนสูงกว่า 49.67% เนื่องจากการใช้อาหาร TMR ช่วยลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ เกษตรกรจึงได้ รับผลตอบแทนที่ดีกว่า อย่างไร ก็ตาม เกษตรกรในพื้นที่ยังไม่มีการปรับใช้อาหาร TMR ทั้งหมด เนื่องจากต้นทุนจากการใช้เครื่องผสมอาหาร รวมทั้งการ อบรมให้ความรู้และการส่งเสริม ในด้านกระบวนการผลิตและการปรับใช้อาหาร TMR ยังไม่ทั่วถึง อย่างไรก็ตาม สำนักงานปศุสัตว์สกลนคร ได้ ประชาสัมพันธ์และส่งเสริมเกษตรกรให้ใช้อาหาร TMR เพื่อลดต้นทุนการผลิตเพิ่มรายได้ และเป็นการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร” นางสาวอุษา กล่าว.
ที่มา:ไทยรัฐ