ลุ้นงวด ก.ย.-ธ.ค.ต่ำสุด 4.45 บาท กกพ.เปิดแล้ว 3 ทางเลือกค่าไฟ

ลุ้นงวด ก.ย.-ธ.ค.ต่ำสุด 4.45 บาท กกพ.เปิดแล้ว 3 ทางเลือกค่าไฟ

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ โฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกพ. มีมติเห็นชอบผลการคำนวณประมาณการณ์ค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) สำหรับงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. นี้ให้สำนักงาน กกพ. นำค่าเอฟทีประมาณการณ์และแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อนำไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน

ทั้งนี้ กกพ.ได้จัดทำตุ๊กตาจำลองค่าเอฟทีในกรณีต่างๆ เป็น 3 แนวทาง ซึ่งจะเปิดรับฟังความคิดเห็นทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 7-21 ก.ค.ก่อนที่จะมีการสรุปและประกาศอย่างเป็นทางการ ก่อนประกาศใช้จริงในเดือน ก.ค.นี้ ประกอบด้วย กรณีที่ 1 ค่าเอฟทีที่จะเรียกเก็บประจำงวดเดือน ก.ย. -ธ.ค. จำนวน 249.81 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ก.ย.-ธ.ค.จำนวน 28.58 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระเงินคืน กฟผ.ที่ไปกู้มาตรึงค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือน ก.ย.64-เม.ย.66 ทั้งหมดเป็นเงิน 135,297 ล้านบาท เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเป็น 6.28 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 1.58 บาทต่อหน่วยจากปัจจุบันงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.อยู่ที่ระดับ 4.70 บาทต่อหน่วย

กรณีที่ 2 ตรึงค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. เท่ากับงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.จำนวน 91.19 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ก.ย.-ธ.ค.จำนวน 28.58 สตางค์ต่อหน่วย และทยอยชำระเงินที่ กฟผ. กู้มาเพื่อตรึงค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือน ก.ย.64- เม.ย.66 จำนวน 38,291 ล้านบาท เพื่อลดภาระดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น โดยคาดว่า ณ สิ้นเดือน ธ.ค.จะมีภาระหนี้คงเหลือที่ต้องชำระคืนให้ กฟผ. 97,006 ล้านบาท เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วยทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) คงเดิมที่ 4.70 บาทต่อหน่วย

และกรณี 3 ค่าไฟลดลงเหลือ 4.45 บาทต่อหน่วย มาจากค่าเอฟที 66.89 บาทต่อหน่วย โดยหนี้ กฟผ.ทยอยจ่ายคืน 5 งวด งวดละ 23,428 ล้านบาท เหลือหนี้ 111,869 ล้านบาท และรวมกับค่าไฟฐาน 3.78 บาทต่อหน่วย

ดังนั้นจากปัจจัยทิศทางราคาพลังงานในตลาดโลกเริ่มคลายตัวรวมทั้งแนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ในตลาดโลกที่แกว่งตัวในระดับต่ำ ทำให้การนำเข้าแอลเอ็นจี เพื่อมาทดแทนก๊าซธรรมชาติทางท่อที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้ามีค่าใช้จ่ายที่ลดลง แต่ยังคงมีภาระที่ กฟผ. ต้องแบกรับจากภาระต้นทุนราคาแอลเอ็นจีในช่วงวิกฤติพลังงานมากกว่าแสนล้านบาทแทนผู้ใช้ไฟฟ้าที่ต้องทยอยจ่ายคืน ส่งผลให้ทางเลือกค่าเอฟทีที่ต่ำสุดที่ 66.89 สตางค์ต่อหน่วย หรือค่าไฟฟ้า 4.45 บาทต่อหน่วยตามที่ กฟผ. เสนอ.

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/

ผู้นำเสนอข่าว

Hnoy

Written by:

3,848 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *