ลดราคาน้ำมันดีเซล 50 สต.เริ่ม 24 มี.ค.นี้ หวังช่วยลดค่าครองชีพ-ประเทศฟื้นตัว

ลดราคาน้ำมันดีเซล 50 สต.เริ่ม 24 มี.ค.นี้ หวังช่วยลดค่าครองชีพ-ประเทศฟื้นตัว

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ว่า กบน. เห็นชอบการปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลลงอีก 0.50 บาทต่อลิตร ส่งผลให้ราคาขายปลีกดีเซลอยู่ที่ 33.44 บาทต่อลิตร โดยราคาขายปลีกดีเซลใหม่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค.เป็นต้นไป ซึ่งการปรับลดครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 3 หลังจากในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาปรับลดไปแล้ว 2 ครั้ง รวม 1 บาทต่อลิตร ทั้งนี้ในการปรับลดราคาขายปลีกดีเซลให้กับประชาชน นอกจากจะช่วยค่าครองชีพประชาชนแล้ว ยังมีส่วนช่วยไม่ให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจของประเทศ

สำหรับสาเหตุการปรับลดราคาเป็นผลมาจากค่าเฉลี่ยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงตลาดโลกโดยเฉพาะน้ำมันดีเซลลด โดยตั้งแต่เดือน ม.ค.-15 มี.ค. พบว่า ราคาน้ำมันดีเซลเดือน ม.ค.เฉลี่ยอยู่ที่ 113.95 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เดือน ก.พ. 103.61 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ได้ขยายระยะเวลาปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 5 บาท ออกไปอีก 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค.-20 ก.ค.และสถานะของกองทุนน้ำมันเริ่มดีขึ้นมีฐานะติดลบต่ำกว่าหลักแสนล้านบาทแล้ว ล่าสุดฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงวันที่ 12 มี.ค.ติดลบ 99,662 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 53,290 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจีติดลบ 46,372 ล้านบาท โดยบัญชีน้ำมันมีรายได้จากการเก็บเงินผู้ใช้ดีเซลเข้ากองทุน 5.05 บาทต่อลิตร ณ วันที่ 17 มี.ค.จากที่เคยอุดหนุนสูงถึง 10 บาทต่อลิตร

นายวิศักดิ์กล่าวว่า ความผันผวนของราคาน้ำมันยังต้องจับตาเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงผันผวนปรับขึ้นลง อาทิ ประเทศรัสเซียปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 500,000 บาร์เรลต่อวันในเดือน มี.ค.นี้หรือคิดเป็น 5% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนหลังเปิดประเทศ และกรณีรัฐบาลสหรัฐฯสั่งปิดกิจการของซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (เอสวีบี) และซิกเนเจอร์ แบงก์ (เอสบี) รวมทั้งสถานะการเงินที่ต้องการความช่วยเหลือของธนาคารเครดิตสวิส ที่เป็นธนาคารรายใหญ่อันดับ 2 ของสวิตเซอร์แลนด์

สำหรับสถานการณ์ราคาแอลพีจีที่เดือน มี.ค.ได้ปรับขึ้น 1 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ส่งผลให้ราคาขายปลีกอยู่ที่ 423 บาทต่อถัง 15 กก. ล่าสุดคณะกรรมการบริการนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติตรึงราคานาน 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.) จากปัจจุบันต้นทุนจริงอยู่ที่ 510 บาทต่อถัง 15 กก. ตามสถานการณ์โลกที่ผันผวนระดับสูง โดยกองทุนน้ำมันอุดหนุน 8.88 บาทต่อ กก. ส่งผลให้บัญชีแอลพีจีติดลบ 46,372 ล้านบาท.

ผู้นำเสนอข่าว

Lemon

Written by:

720 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You May Have Missed