นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลยังสามารถดูแลเศรษฐกิจหลังการยุบสภาได้ และยืนยันว่าจะไม่เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจในช่วงที่เกิดสุญญากาศทางการเมืองเหมือนกับที่ภาคเอกชนมีความกังวล เพราะยังสามารถดูแลเศรษฐกิจผ่านการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณต่างๆของกระทรวงได้ ตามที่รัฐบาลอนุมัติไว้แล้ว ซึ่งรัฐบาลก็มีกลไกในการดูแลในส่วนนี้อยู่ ก็ต้องให้เบิกจ่ายให้ได้ตามที่กำหนด ขณะที่การส่งเสริมการลงทุนของต่างประเทศ และการดึงต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยก็ยังมีต่อเนื่องจะเห็นได้จากการที่นักธุรกิจของสหรัฐฯเข้ามาจัดประชุม Trade Winds ในไทย และสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น หรือเคดันเร็น ได้เข้ามาตกลงความร่วมมือในการค้าและการลงทุนกับเอกชนไทย
สำหรับการดูแลราคาพลังงาน แม้ว่ากระทรวงการคลังจะขอความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลที่ 5 บาทต่อลิตรไว้จนถึงวันที่ 20 ก.ค.2566 ซึ่งอาจจะไม่ครอบคลุมช่วงเวลาก่อนที่จะได้ ครม.ชุดใหม่ที่จะออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนนั้น รัฐบาลได้เตรียมแนวทางในการดูแลแล้วโดยขณะนี้ราคาน้ำมันเป็นช่วงทิศทางขาลง และช่วงที่มีช่องว่างของมาตรการก็สามารถให้กองทุนน้ำมันรับภาระในช่วงสั้นๆก่อนได้
ส่วนเรื่องปัญหาธนาคารในสหรัฐฯและยุโรปบางแห่งขาดสภาพคล่องมีความกังวลว่าจะกระทบเศรษฐกิจไทยหรือไม่ นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า เป็นสิ่งที่กระทบกับเศรษฐกิจโลก แต่ผลกระทบที่จะเกิดกับประเทศไทยนั้นมีจำกัด ส่วนที่จะกระทบก็คือภาคการส่งออกเนื่องจากเศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบในภาพรวม แต่ผลกระทบไม่ได้เกิดกับภาคการเงินของไทยเนื่องจากปัจจุบันเรามีหนี้ต่างประเทศน้อยมาก นอกจากนั้นยังมีหน่วยงานเศรษฐกิจของไทยได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รวมทั้งกระทรวงการคลัง ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่ยอมรับว่าขณะนี้มีความผันผวนมาก ธปท.ก็ได้รายงานว่ามีการดูแลอยู่เพื่อไม่ให้มีการแข็งค่าหรืออ่อนค่ามากเกินไป
“สถานการณ์แบงก์ที่มีปัญหาในสหรัฐฯและยุโรปในขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณว่าจะกระทบกับสถาบันการเงินในประเทศไทย เพราะการแก้ปัญหาจากต้นทางนั้นทำได้อย่างรวดเร็ว มีการให้ธนาคารขนาดใหญ่ และธนาคารชาติเข้ามาช่วยดูแลแก้ปัญหาภายใน 2 สัปดาห์จะเห็นความชัดเจนและการคลี่คลายของปัญหาไปในทิศทางที่ดีขึ้น”.