นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลังเปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์กลับไปพิจารณารายละเอียดของรายการสินค้านำเข้าว่าสามารถบรรจุเป็นรายการสินค้าที่อยู่ภายใต้โครงการดิจิทัลวอลเล็ตได้หรือไม่ เนื่องจากนายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเป็นห่วงว่า หากโครงการนี้สามารถใช้จ่ายกับสินค้านำเข้าได้ จะทำให้เม็ดเงินไหลออกจากประเทศ และจะกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศ
“การประชุมครั้งก่อนได้สรุปเรื่องสินค้าที่เป็น Negative List (รายการสินค้าที่ไม่สามารถใช้เงินดิจิทัลได้) แต่เบื้องต้นมีความเป็นห่วงเรื่องสินค้านำเข้า เช่น โทรศัพท์มือถือ ก็ถกเถียงกันในวงกว้างทั้งในที่ประชุมและนอกที่ประชุม ขณะที่นายกฯเป็นห่วงว่า ประเด็นนี้อยากให้ทบทวนให้ละเอียดอีกครั้ง ดังนั้นเรื่องซื้อมือถือได้ ก็ยังไม่จบ ที่ประชุมได้มอบให้กระทรวงพาณิชย์กลับไปทบทวนอีกครั้ง แล้วนำกลับมาเสนอใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า”
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ความยากในการพิจารณารายการสินค้าอยู่ที่การกำกับดูแล เพราะรายการสินค้าที่นำเข้านั้น กว้างและหลากหลายมาก เช่น โทรศัพท์มือถือ ซึ่งชัดเจนว่า เป็นสินค้าที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ แต่สินค้าอื่น เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า มีทั้งผลิตได้ในประเทศ และนำเข้า ดังนั้น ต้องกำหนดให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย จึงขอให้กระทรวงพาณิชย์ไปทบทวนอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความชัดเจนและมีคำตอบให้สังคม เพราะดิจิทัลวอลเล็ต มีวัตถุประสงค์กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ และต้องการให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศเท่านั้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงระบบการลงทะเบียนสำหรับร้านค้า ประชาชน และการเชื่อมต่อการใช้จ่ายกับหน่วยงานอื่น เช่น ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารของรัฐ และกลุ่มอีเพย์เมนต์ ซึ่งคณะทำงานได้ประสานการทำงานระหว่างกันแล้ว โดยในส่วนของระบบการลงทะเบียนและการใช้จ่ายจะดำเนินการผ่านซุปเปอร์แอปพลิเคชันของรัฐบาล
สำหรับกำหนดระยะเวลาการลงทะเบียนโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนี้ ยังเป็นไปตามกำหนดเดิม คือ ไตรมาส 3 ปีนี้ และการใช้จ่ายจะเริ่มได้ไตรมาส 4 ปีนี้ โดยการใส่เงินให้แก่ประชาชน จะไม่มีการแบ่งให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นลำดับแรก แต่จะเป็นการใส่เงินให้กับประชาชนทุกกลุ่มที่ได้รับสิทธิ์พร้อมกัน.
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/