ผวาการเมืองเปลี่ยนขั้ว หวั่น “พิธา” ไม่ได้เป็นนายกฯกดจีดีพีวูบ

ผวาการเมืองเปลี่ยนขั้ว หวั่น “พิธา” ไม่ได้เป็นนายกฯกดจีดีพีวูบ

ม.หอการค้าไทย เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค.66 ดีขึ้นสูงสุดรอบ 39 เดือน แต่กังวลการเมือง ชี้ถ้าเดือน ก.ย.ยังไม่มีรัฐบาลใหม่ หรือ “พิธา” ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี มีการเปลี่ยนขั้วตั้งรัฐบาล เกิดประท้วงนอกสภา เศรษฐกิจจะโตต่ำแค่ 2.5-3% ถ้าทุกอย่างราบรื่นโตตามเป้า 3-3.5%

นายวาทิตร รักษ์ธรรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคว่า ปรับตัวดีขึ้นทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 และสูงสุดในรอบ 39 เดือนนับจากเดือน มี.ค.63 โดยดัชนีเดือน พ.ค.66 อยู่ที่ 55.7 เพิ่มจาก 55.0 ในเดือน เม.ย.66 ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคต อยู่ที่ 63.1 เพิ่มจาก 62.5 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานอยู่ที่ 52.8 เพิ่มจาก 52.0 และดัชนีเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 64.2 เพิ่มจาก 63.6 สาเหตุที่ทำให้ดัชนีเพิ่มขึ้นทุกรายการ มาจากผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้น หลังท่องเที่ยวฟื้นตัว การหาเสียงเลือกตั้งส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆดีขึ้น

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือน พ.ค.66 ว่า ดีขึ้นต่อเนื่องและเกินค่ากลางที่ระดับ 50 เป็นเดือนที่ 2 โดยดัชนีอยู่ที่ 53.6 เพิ่มจาก 51.9 ในเดือน เม.ย.66 เพราะผู้ประกอบการมองว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว ท่องเที่ยวฟื้น ราคาน้ำมันลดลง เงินบาทแข็งค่า ราคาพืชผลการเกษตรดีขึ้น และกำลังซื้อต่างจังหวัดดีขึ้น

ส่วนนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและประธานที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า แม้ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยดีขึ้น แต่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการยังกังวลความไม่แน่นอนทางการเมือง เพราะยังไม่ชัดเจนว่า 8 พรรคการเมืองจะจัดตั้งรัฐบาลได้จริงหรือไม่ และเมื่อไรนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จะได้เป็นนายกฯจริงหรือไม่ หากไม่ได้เป็น จะมีการประท้วงนอกสภาหรือไม่ ดังนั้น ทำให้เห็นภาพว่าการเมืองกำลังปกคลุมบรรยากาศทางเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นประชาชน ประกอบกับเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ทำให้ยังต้องระมัดระวังการใช้จ่าย คาดว่า การเมืองจะปกคลุมเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นต่อไปอีก 3-4 เดือน หรือจนกว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ สอดคล้องกับดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การเมือง แม้จะดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 แต่สถานการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนเห็นว่ายังไม่มีเสถียรภาพมากนัก

ผู้นำเสนอข่าว

Lemon

Written by:

720 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You May Have Missed