ครม.ปรับเกณฑ์ราคากลางรถดัดแปลง ป.ป.ช.พบจัดซื้อเอื้อประโยชน์ จ่ายสูงเกินจริง

ครม.ปรับเกณฑ์ราคากลางรถดัดแปลง ป.ป.ช.พบจัดซื้อเอื้อประโยชน์ จ่ายสูงเกินจริง

ครม. กำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางรถดัดแปลง ตามข้อเสนอ ป.ป.ช. หลังพบจัดซื้อกันมาแล้ว 1,721 โครงการ มูลค่า 8,634 ล้านบาท ทีโออาร์เอื้อประโยชน์ กำหนดราคากลางสูงเกินควร กระบวนการเสนอราคาเป็นกลุ่มบริษัทเดียวกันหมุนเวียนเป็นผู้ชนะ มีการเสนอราคาอยู่ในช่วงเดียวกัน พบการจัดซื้อสูงกว่าราคาตลาด และมีการเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ผู้มีอำนาจอนุมัติ

นายอนุชา บูรพชัยศรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบมาตรการการกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางให้สามารถอ้างอิงบัญชีมาตรฐานครุภัณฑ์ของยานพาหนะดัดแปลง : กรณีศึกษารถดัดแปลง ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยกระทรวงการคลังได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ.ร.สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของมาตรการดังกล่าว เพื่อป้องกันและปราบปรามทุจริตในการจัดซื้อรถดัดแปลง เช่น รถบรรทุกน้ำ รถบรรทุกขยะมูลฝอย และรถดูดสิ่งปฏิกูล ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยสามารถสรุปได้ ดังนี้ คือ 1. การจัดทำหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลาง ให้สามารถอ้างอิงบัญชีมาตรฐานครุภัณฑ์ ราคาต้นทุน และผลตอบแทนตามปกติทางการค้า ได้แก่ พิจารณาต้นทุนและอุปกรณ์ส่วนควบต่างๆ ค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายทางการตลาด และภาษี การจดประกอบที่เกี่ยวข้องกับรถดัดแปลงให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรม รวมทั้งการศึกษาลักษณะงานที่มีความจำเป็นของรถดัดแปลงการกำหนดราคามาตรฐานรถดัดแปลง

2.การพิจารณาข้อมูลเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางให้อ้างอิงบัญชีมาตรฐานได้ 3. การตรวจสอบเชิงรุกเพื่อป้องกันการสมยอมราคาในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของรถดัดแปลงเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้เสนอราคารายใดรายหนึ่ง 4. การนำข้อเสนอแนะจากการประเมินติดตาม การปฏิบัติตามอนุสัญญา UN ว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ.2003 และข้อเสนอแนะจากคู่มือ พิชิตความเสี่ยงต่อการเกิดทุจริตในสัญญาภาครัฐ จากสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย

ทั้งนี้ รายงานของ ป.ป.ช.พบว่า ข้อมูลจากระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) ของกรมบัญชีกลาง ตั้งแต่ปี 2552-2561 พบว่า มีสัญญาซื้อขายรถดัดแปลงระหว่างหน่วยงานของรัฐกับบริษัทเอกชน จำนวน 1,721 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินทั้งสิ้น 8,634.68 ล้านบาท โดยที่ผ่านมาพบมีประเด็นปัญหาการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะในการจัดทำขอบเขตงาน (ทีโออาร์) เพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัทใดบริษัทหนึ่ง และกำหนดราคากลางที่สูงเกินควร กระบวนการเสนอราคามักพบว่าเป็นกลุ่มบริษัทเดียวกันหรือบริษัทในเครือเดียวกันที่ร่วมเสนอราคาและหมุนเวียนกันเป็นผู้ชนะ การเข้าเสนอราคาอาจไม่มีลักษณะเป็นการแข่งขัน โดยร่วมเสนอราคาอยู่ในช่วงเดียวกัน ส่วนต่างของราคาใกล้เคียงกันมาก และพบว่าการจัดซื้อรถดัดแปลงมีราคาแพงสูงกว่าราคาจากโรงงาน 29% และมีกำไรจากการประมูล 52% ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาตลาด และการเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ผู้มีอำนาจอนุมัติจัดซื้อ

“นายกรัฐมนตรีจึงสั่งการให้ช่วยกันระมัด ระวัง และยกระดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทุกหน่วยงานจึงต้องทำให้การจัดหา จัดซื้อให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม ต้องไม่เอื้อประโยชน์แก่รายใดรายหนึ่ง ต้องระมัดระวังเพื่อให้ประเทศไทย สามารถยกระดับ ลำดับ คะแนนความโปร่งใสจากการประเมินของหน่วยงานสากลให้อยู่ในระดับที่มีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น”

ขณะที่ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมครม.ยังได้เห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานรัฐ พ.ศ. …มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเรี่ยไรฯ พ.ศ.2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อปรับปรุงมาตรการในการควบคุมและดูแลเรื่องการเรี่ยไรของทางราชการ ป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

โดยได้เพิ่มเติมบทนิยามของคำว่า “เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไร” โดยเพิ่มกรณีของบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นใดที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อให้เกิดความชัดเจนและครอบคลุม เพิ่มองค์ประกอบคณะกรรมการควบคุมเรี่ยไร โดยเพิ่มผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นกรรมการ เนื่องจากปัจจุบันได้มีการเรี่ยไรผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านจากเจ้าหน้าที่ตำรวจมาช่วยดูแล.

ผู้นำเสนอข่าว

Lemon

Written by:

720 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You May Have Missed