“กกร.” คงกรอบประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ มั่นใจจีดีพี ยังเติบโต 3-3.5% ส่งออกขยายตัว 1-2% เงินเฟ้ออยู่ที่ 2.7-3.2% หลังเศรษฐกิจไทยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคท่องเที่ยว แต่วิตกค่าไฟฟ้าดอกเบี้ยดันต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจต้องผลักภาระไปยังราคาสินค้าให้ผู้บริโภค ยืนกรานค่าไฟฟ้าเดือน พ.ค.–ส.ค.นี้ควรลดลง
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือน ก.พ.นี้ ยังคงกรอบประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 2566 เท่ากับประมาณการครั้งก่อน เมื่อเดือน ม.ค.โดยคาดว่าอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะเติบโต 3-3.5% จากปีที่ผ่านมา การส่งออกขยายตัว 1-2% เงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 2.7-3.2% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว แต่มีความเสี่ยงจากภาคการส่งออกที่จะชะลอตัว
“จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้อาจมากกว่า 22.5 ล้านคน ที่ประเมินไว้เดิมจากนักท่องเที่ยวกลุ่มสหภาพยุโรปและสหรัฐฯฟื้นตัวได้ดีกว่าคาดไว้ ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนจะปรับตัวดีขึ้นชัดเจนในไตรมาสที่ 2 ส่วนเรื่องการส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัวในช่วงต้นปีนี้ และต้องติดตามปัจจัยที่มีผลกระทบอย่างใกล้ชิด ทั้งเรื่องค่าเงินบาท การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งแม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวได้เร็วแต่อาจไม่เพียงพอ ที่จะทดแทนความต้องการสินค้า จากประเทศหลักอื่นๆ”
ทั้งนี้ กกร.ยังเป็นห่วงเรื่องต้นทุนการผลิต ที่ยังทรงตัวในระดับสูง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า รวมทั้งแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นโยบายอย่างต่อเนื่องท่ามกลางเงินบาทแข็งค่า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการ รวมถึงการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังผู้บริโภคผ่านราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น ปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคบริการ ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ภาครัฐต้องมีมาตรการสนับสนุนเพื่อเตรียมความพร้อมด้านแรงงานให้เพียงพอรองรับการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวหลังจากจีนเปิดประเทศ
“แม้ว่าค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่มีปัจจัยพื้นฐานสนับสนุน อาทิ ดุลบัญชีเดินสะพัดที่กลับมาเกินดุลในไตรมาสที่ 4/2565 มุมมองของนักลงทุนที่เป็นบวกต่อการเปิดประเทศของจีน และค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าหลังจากตลาดคลายความกังวลต่อการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารโลก แต่เงินบาทแข็งค่า 15% ตั้งแต่เดือน ต.ค.2565 และแข็งค่าถึง 5% เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา เป็นการแข็งค่าที่ค่อนข้างมาก และเร็วกว่าสกุลเงินอื่นในอาเซียน เป็นปัจจัยกดดันความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกของไทยในภาวะที่ความต้องการสินค้าชะลอตัว”
ล่าสุดคณะทำงานด้านพลังงานและค่าไฟฟ้า ของ กกร.ได้หารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้า ซึ่งที่ผ่านมาภาคเอกชนได้ช่วยลดการใช้ก๊าซธรรมชาติ โดยใช้พลังงานเชื้อเพลิงอื่นๆมาทดแทนไปส่วนหนึ่งแล้ว และเห็นว่าค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ในรอบถัดไปหรือเดือน พ.ค.-ส.ค.นี้ ควรลดลง เนื่องจากมีปัจจัยหนุนในด้านการเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และราคาก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศที่ลดลง
“กกร.ยังได้เห็นชอบในแนวทางการจัดตั้ง กรอ.พลังงานและให้สำนักงาน กกร.จัดทำโครงสร้างรูปแบบการทำงาน เสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบ เพื่อพิจารณาจัดตั้งต่อไป และระหว่างการจัดตั้ง กรอ.พลังงาน ขอให้มีคณะทำงานด้านพลังงานเฉพาะกิจ เพื่อความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาและสร้างความเข้าใจในด้านพลังงาน รวมถึงหารือมาตรการระยะสั้น-กลาง-ยาว”.