กกพ.ปิดประตูตายไม่ลดค่าไฟฟ้า งวด ก.ย.–ธ.ค. เหลือ 4.25 บาทต่อหน่วย ตามข้อเสนอเอกชนย้ำขาดตัวที่ 4.45 บาทต่อหน่วยเท่านั้น ตามการรับฟังความเห็น แย้มหากต้องการลดเป็น 4.25 บาทต่อหน่วยต้องใช้งบประมาณรัฐมาอุดหนุน 12,000 ล้านบาทโยนรัฐบาลใหม่ชี้ชะตาระยะต่อไป ด้านกระทรวงพาณิชย์ลุยคุมเข้มปั๊มน้ำมันหลังพบเติมน้ำมันได้ไม่เต็มลิตร
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ โฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยถึงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดสุดท้ายของปีนี้ (ก.ย.-ธ.ค.) ที่ได้พิจารณาหลังการเปิดรับฟังความเห็นไปแล้วใน 3 แนวทางและสุดท้าย กกพ.ได้เลือกแนวทางค่าเอฟที เรียกเก็บที่ 66.89 สตางค์ (สต.) ต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปรับลดลงจากงวดปัจจุบัน (พ.ค.-ส.ค.) จาก 4.70 บาทต่อหน่วย เหลืออยู่ที่ 4.45 บาทต่อหน่วย โดยให้มีผลตั้งแต่รอบบิลเดือน ก.ย.-ธ.ค.นี้ และยืนยันว่าไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงได้อีก โดยเฉพาะตามข้อเรียกร้องของภาคเอกชนที่ต้องการขอให้เฉลี่ยเหลือเป็น 4.25 บาทต่อหน่วย
“การลดค่าไฟฟ้าในช่วงงวดสุดท้ายของปีนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก หรือเป็นไปไม่ได้ แม้เอกชนเรียกร้อง เนื่องจากต้องมีกระบวนการคำนวณสูตรค่าไฟฟ้าใหม่ ต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็น รวมถึงการพิจารณาต้นทุนที่เกี่ยวข้องทั้งของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หากจะปรับลดลงมาเป็น 4.25 บาท ต่อหน่วยตนมองว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีงบประมาณบางส่วน มาสนับสนุนเพราะ กกพ.ไม่มีงบประมาณมาอุดหนุน แต่ใช้วิธีการบริหารต้นทุนที่มีอยู่ในโครงสร้างมาบริหารแทน เพื่อให้เป็นภาระกับประชาชนน้อยที่สุด”
นายคมกฤช กล่าวต่อว่า หากต้องการให้ปรับลดลงในอัตราดังกล่าวจะต้องใช้เงินงบประมาณ 12,000 ล้านบาท หรือคิดง่ายๆ ว่าจะลดให้ได้ทุกๆ 1 สตางค์ต่อหน่วย จะต้องใช้เงิน 500-600 ล้าน บาท แต่จะไม่สามารถดำเนินการได้เพราะต้องรอรัฐบาลใหม่มาดำเนินการ ขณะที่ค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 ก็มีแนวโน้มเบื้องต้นที่ใกล้เคียงกับงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.นี้ แต่ยังมีปัจจัยต้องติดตามในแต่ละช่วงเวลานับจากนี้ไป เพราะแม้ว่าปริมาณก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยโดยเฉพาะแหล่งเอราวัณจะเพิ่มขึ้นมาเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าแต่ยังไม่เพียงพอและบางส่วนยังต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ที่มีราคาแพง
โดยล่าสุดราคาแอลเอ็นจีตลาดโลกเริ่มสูงขึ้นในปลายปีนี้ ก็จะเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้การปรับลดค่าไฟฟ้าในงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.นี้ ค่อนข้างลำบาก หากจะเปลี่ยนศูนย์การคำนวณค่าไฟฟ้าก็ต้องใช้กระบวนการอำนาจรัฐเข้ามาจัดการ อาจต้องเป็นคณะรัฐมนตรี, คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และยังต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นอาจจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง แต่ ทั้งหมดนี้ก็ต้องรอรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศก่อน และอีกปัจจัยคือการลดหนี้ กฟผ.ที่ขณะนี้ยังคงมีภาระค้างค่าเชื้อเพลิง 120,000 ล้านบาท
สำหรับแนวโน้มค่าไฟฟ้าตลอดทั้งปี 2567 จะยังต้องเผชิญกับหลายๆปัจจัยลบ แม้ว่าตัวเลขต้นทุนค่าเชื้อเพลิง ยังคงที่คล้ายกับในงวดปัจจุบัน มีบวกลบเพียงเล็กน้อย ทั้งราคาก๊าซธรรมชาติ, ปริมาณก๊าซในอ่าวไทย, แอลเอ็นจี และที่สำคัญคือ ก๊าซธรรมชาติในพม่ามีโอกาสจะหายไปหรือไม่ หากหายไปจากระบบจะมีปริมาณมากน้อยเพียงใด, การใช้ก๊าซธรรมชาติของโรงแยกก๊าซ ธรรมชาติในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้น, ภาวะภัยแล้ง ที่ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนของประเทศลาวที่ประเทศไทยรับซื้อไฟฟ้าจากลาวลดน้อยลงจึงทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ไทยรับซื้อจากลาวปรับตัวสูงขึ้นและบางส่วนอาจทำให้ต้องนำเข้าแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้น. ดังนั้น ปัจจัยทั้งหมดนี้จึงทำให้อัตราค่าไฟฟ้าในปีหน้ามีโอกาสจะปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง
ด้านนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยหลังประชุมแนวทางกำกับดูแลสถานีบริการน้ำมันว่า ได้เชิญผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมัน (ปั๊มน้ำมัน) 10 รายมาหารือกำกับดูแลหัวจ่ายน้ำมัน ซึ่งทางผู้ค้าน้ำมันเองให้ความสำคัญและไม่สบายใจสำหรับกระแสที่เกิดขึ้นว่ามีประชาชนไปซื้อน้ำมันแล้วได้ไม่เต็มลิตร โดยที่ประชุมเห็นชอบให้ผู้ประกอบการเร่งตรวจสอบมาตรการของหัวจ่ายน้ำมันทั่วประเทศ 450,000 หัวจ่าย ในสถานบริการน้ำมัน 24,711 แห่ง แล้วรายงานกลับมาที่กรมการค้าภายในภายในวันที่ 11 ส.ค.66 หากพบว่ามีการกระทำความผิดจะดำเนินคดีโดยทันที โดยกรณีหัวจ่ายน้ำมันไม่ได้รับการรับรองจากกรม น้ำมันไม่เต็มลิตร หรือสิ้นอายุการรับรอง มีโทษจำคุก 6 เดือน ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีผู้ค้าน้ำมันที่เป็นแฟรนไชส์ หากพบว่ามีเจตนาที่จะกระทำความผิด เจ้าของเเฟรนไชส์จะถูกยกเลิกสัญญากับผู้ให้บริการรายนั้นๆ และลงโทษผู้บริหารสถานีบริการน้ำมันด้วย.
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/