NASA พัฒนาระบบเอไอเตือนภัย “พายุสุริยะ” ได้ล่วงหน้า ด้วยความแม่นยำที่สูงขึ้น

NASA พัฒนาระบบเอไอเตือนภัย “พายุสุริยะ” ได้ล่วงหน้า ด้วยความแม่นยำที่สูงขึ้น

องค์การ NASA พัฒนาระบบเอไอเพื่อการระวังภัย และสามารถทำนายพายุสุริยะได้ล่วงหน้าด้วยความแม่นยำที่สูงขึ้น แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของวัฏจักรปกติของดวงอาทิตย์ ไม่ต้องวิตกกังวล

เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ข้อความเรื่อง “NASA พัฒนาระบบเตือนภัยพายุสุริยะ วอนประชาชนอย่าตื่นตระหนก” โดยระบุว่า เรียบเรียงโดย ดร.มติพล ตั้งมติธรรม – นักวิชาการดาราศาสตร์ สดร. ปกติแล้วดวงอาทิตย์ของเราจะผ่านวัฏจักรที่เรียกว่า solar cycle ที่กินระยะเวลาประมาณ 11 ปี ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์นั้นจะมีการลดลงจนต่ำที่สุดในช่วง solar minimum ที่ซึ่งจุดบนดวงอาทิตย์และพายุสุริยะจะลดลงและค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนไปถึงช่วง solar maximum ที่จะสามารถพบจุดบนดวงอาทิตย์ และพายุสุริยะได้บ่อยขึ้นดวงอาทิตย์ และโลกของเราผ่านวัฏจักรเช่นนี้มาหลายครั้งแล้ว solar maximum ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปี 2014 และในปัจจุบันเรากำลังออกจาก solar minimum เพื่อเข้าสู่ solar maximum ครั้งถัดไปในช่วงราวปี 2025

พายุสุริยะเป็นเรื่องที่น่าสนใจต่อมนุษย์บนโลกเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ในเรื่องของความสวยงามที่นำมาซึ่งแสงเหนือ-แสงใต้ หรือ ออโรรา ที่ปรากฏเหนือท้องฟ้าในบริเวณใกล้ขั้วโลก ไปจนถึงภัยอันตรายที่อาจจะนำมาซึ่งการขัดข้องทางระบบไฟฟ้าหรือการสื่อสาร พายุสุริยะขนาดรุนแรงที่เคยสร้างความเสียหายที่เป็นที่น่าจดจำ ได้แก่ Carrington Event ในปี 1859 ทำให้เกิดแสงออโรราเป็นวงกว้าง และมีรายงานไปถึงประเทศแถบศูนย์สูตรบางประเทศ อีกทั้งยังทำให้ระบบการส่งโทรเลขในยุคนั้นล่มลงไปชั่วคราว และยังมีพายุสุริยะในปี 1989 ที่ส่งผลต่อระบบจ่ายไฟฟ้าในประเทศแคนาดา ทำให้ไฟดับเป็นวงกว้าง

แต่นี่ก็เป็นเพียงกรณีที่เกิดความรุนแรงเท่านั้น เพราะในขณะเดียวกันในช่วง solar minimum ครั้งที่ผ่านมาในปี 2014 หรือก่อนหน้านั้นในปี 2003 ก็ไม่ได้เกิดเหตุขัดข้องที่รุนแรงในระดับที่น่าจดจำ หรือส่งผลเป็นวงกว้างต่อมนุษย์บนโลกแต่อย่างใด

สำหรับดาวเทียมและอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ในอวกาศนั้น มีความเสี่ยงต่อพายุสุริยะมากกว่ามนุษย์บนโลกเป็นอย่างมาก การสามารถเตือนภัยล่วงหน้าอาจทำให้ผู้ควบคุมสามารถปิดระบบที่สำคัญ หรือหันทิศทางของดาวเทียมหรือยานอวกาศเพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากพายุสุริยะลงได้เป็นอย่างมาก

ด้วยเหตุนี้องค์การ NASA จึงได้พัฒนาระบบเอไอ ที่สามารถนำข้อมูลที่ได้จากดาวเทียมศึกษาดวงอาทิตย์ มาทำนายโอกาส ความรุนแรง และเวลาที่อาจจะเกิดพายุสุริยะขึ้นได้อย่างแม่นยำมากขึ้น เพื่อในอนาคตอันใกล้ในช่วงอีกไม่กี่ปีข้างหน้าที่เรากำลังเข้าสู่ช่วง solar maximum ที่อาจจะมีความถี่ของปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยขึ้น เราจะได้สามารถเตือน และเฝ้าระวังภัย หรือป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากพายุสุริยะที่รุนแรงได้

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าเรากำลังจะเข้าสู่ช่วง solar maximum ในปี 2025 แต่ในปัจจุบันนั้นก็ยังไม่ได้มีเหตุให้ต้องเฝ้าระวังภัยแต่อย่างใด solar maximum นั้นเป็นเรื่องของแนวโน้ม ที่เรายังไม่มีเทคโนโลยีที่จะสามารถยืนยันได้อย่างชัดเจนในระดับหลายปีล่วงหน้า อีกทั้งปัจจุบันยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่า solar maximum ที่กำลังจะมาถึงในปี 2025 นั้นจะมีอะไรพิเศษ แตกต่างจากวัฏจักรธรรมดา ที่เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติของดวงอาทิตย์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง จึงไม่จำเป็นต้องวิตกกังวล.

ขอบคุณเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/

ผู้นำเสนอข่าว

Hnoy

Written by:

3,848 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *