นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้หารือกับ 4 ชมรมด้านการแพทย์และสาธารณสุข ได้แก่ ชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน และชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ถึงภาระงานของแพทย์ที่หนัก ขณะที่บุคลากรและงบประมาณมีจำกัด โดยแนวทางที่เห็นตรงกันในการแก้ไขปัญหาคือ การให้แต่ละจังหวัดถือเสมือนว่าหน่วยบริการในจังหวัดเป็นหน่วยเดียวกันหรือ 1 จังหวัด 1 โรงพยาบาล สามารถนำบุคลากร งบประมาณของ รพ.มาช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ ทั้งนี้ 4 ชมรมได้มีข้อเสนอด้านอัตรากำลังแพทย์ที่มีอยู่น้อยซึ่งส่งผลให้ภาระงานสูงนั้น เนื่องจาก 1.การบริหารจัดการอัตรากำลังคนและความก้าวหน้าของ สธ.ยึดติดกับระเบียบข้าราชการพลเรือน หากเทียบกับข้าราชการครู ซึ่งมีคณะกรรมการข้าราชการครู หรือ ก.ค. สามารถบริหารจัดการได้ยืดหยุ่นกว่า จึงมีข้อเสนอให้มีคณะกรรมการดูแลบุคลากรของ สธ.เอง หรือ ก.สธ. โดยต้องหารือให้ตกผลึกและผลักดันต่อไป
ปลัด สธ. กล่าวต่อว่า 2.ภาระงานซึ่งหน่วยงานที่ดูแลหลักประกันสุขภาพคือ สปสช. เมื่อจะเพิ่มสิทธิประโยชน์ใดก็จะหารือกันในคณะกรรมการ ขณะที่บุคลากรที่ปฏิบัติงานจริงไม่ได้รับทราบด้วย 4 ชมรมเสนอให้ สปสช.ควรหารือผู้ปฏิบัติก่อนว่า รับภาระไหวหรือไม่ รวมทั้งมีงบประมาณมาให้หรือไม่ 3.การที่ สธ.ต้องสอนแพทย์อินเทิร์น หรือแพทย์เพิ่มพูนทักษะ อีก 1 ปี นั้น 4 ชมรมเห็นว่า หน้าที่การสอนควรเป็นของมหาวิทยาลัยที่ควรสอนให้ครบทุกด้านแล้วจึงส่งแพทย์มาให้ สธ. ซึ่งจะนำข้อเสนอนี้หารือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทั้งนี้ขอย้ำว่าเป็นข้อเสนอจากผู้ปฏิบัติงานจริง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราจะปรับวิธีการผลิตแพทย์ได้ในทันที จะต้องหารือเพื่อหาจุดสมดุลที่เหมาะสม.
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/