เผยผลวิจัยน่าเป็นห่วง “นาก” ถูกมนุษย์คุกคามหนัก

เผยผลวิจัยน่าเป็นห่วง “นาก” ถูกมนุษย์คุกคามหนัก

ผศ.ดร.นฤมล ตันติพิษณุ นักวิจัยจากสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผยว่า ตนและนายอนุชา ขำจริง ได้ทำวิจัยโครงการประเมินภัยคุกคาม และการจัดลำดับความสำคัญของการจัดการเพื่อการอนุรักษ์นากอย่างยั่งยืนในพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งภาคใต้ของประเทศไทย ฝั่งอันดามัน เพื่อศึกษาภัยคุกคามที่ทำให้ประชากรนากลดลง ประเมินพื้นที่ที่มีระดับภัยคุกคามรุนแรง และเสนอแนวทางการจัดการที่เหมาะสมต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำการประเมินภัยคุกคามต่อการอยู่รอดของนากในพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งอันดามัน 5 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง สตูล โดยวิธีสัมภาษณ์ชาวบ้าน ทั้งเคยพบเห็นหรือรู้เรื่องราวของนาก

ผศ.ดร.นฤมลกล่าวอีกว่า ข้อมูลที่ได้ทำให้รู้ว่า นากที่มีจำนวนมากที่สุด 2 ชนิด คือ นากเล็กเล็บสั้น และนากใหญ่ขนเรียบ คนกับนากอยู่ร่วมกันมาตั้งแต่ในอดีต ปัจจุบันกิจกรรมของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิ การขยายพื้นที่ทำประมง บ่อปลา บ่อกุ้ง รวมถึงกิจกรรมท่องเที่ยวชายฝั่ง ทำให้ป่าชายเลนมีพื้นที่ลดลงหรือสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลกระทบต่อแหล่งอาหารของนาก ทำให้นากออกมาหาอาหารนอกพื้นที่และเกิดความขัดแย้งกับคน ประมาณร้อยละ 20 ของหมู่บ้านที่สำรวจมีระดับภัยคุกคามในระดับสูงและสูงมากต่อการอยู่รอดของนาก และควรต้องกำหนดเป็นพื้นที่ที่ต้องการการจัดการเร่งด่วน นอกจากนี้ยังพบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีนากถูกฆ่าเพื่อนำเนื้อมากิน ถูกฆ่าเนื่องจากสร้างปัญหาให้มนุษย์ ถูกสุนัขกัด ถูกรถชน และที่น่าห่วงที่สุด คือ ถูกนำมาเลี้ยง

ด้านนายอนุชากล่าวว่า ทั้งนี้ คณะวิจัยมีแผนจะดำเนินการต่อภายใต้โครงการวิจัยการวางแผนการจัดการอนุรักษ์สัตว์ผู้ล่าขนาดเล็กในพื้นที่ชุ่มน้ำภาคใต้เพื่อการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และสัตว์อย่างยั่งยืน.

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/

ผู้นำเสนอข่าว

Hnoy

Written by:

3,474 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *