ตร.ไซเบอร์ เปิดรายชื่อ 29 หน่วยงานภาครัฐ-เอกชน ที่มิจฉาชีพหลอกปชช.

ตร.ไซเบอร์ เปิดรายชื่อ 29 หน่วยงานภาครัฐ-เอกชน ที่มิจฉาชีพหลอกปชช.

ตำรวจไซเบอร์ เปิดรายชื่อ 29 หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ที่มิจฉาชีพอ้างหลอกลวงประชาชน เพื่อหวังดูดเงินในบัญชี พร้อมมอบแนวทางการป้องกัน 10 ข้อ

เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 66 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า นับตั้งแต่เดือน ต.ค. 65 – เดือน มี.ค. 66 รวมระยะเวลากว่า 6 เดือน บช.สอท. ได้รับการร้องทุกข์จากผู้เสียหายหลายรายว่า ได้รับข้อความสั้น (SMS) หรือได้รับสายโทรศัพท์จากมิจฉาชีพซึ่งแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานภาคเอกชน สร้างเพจเฟซบุ๊ก และเว็บไซต์ปลอม เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ออกอุบายต่างๆ เพื่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อกรอกข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลทางการเงิน หรือโอนเงินไปตรวจสอบ หรือกดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันของหน่วยงานเหล่านั้นซึ่งมิจฉาชีพได้สร้างปลอมขึ้นมา จากนั้นได้หลอกลวงให้ทำตามขั้นตอน ตั้งค่าให้สิทธิการเข้าถึง และให้สิทธิควบคุมโทรศัพท์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้เสียหายใช้งาน หลอกลวงให้กรอกรหัส PIN 6 หลัก จำนวนหลายครั้ง เป็นเหตุให้เงินของผู้เสียหายถูกมิจฉาชีพโอนออกไปจนหมดบัญชี แต่ในปัจจุบันพบว่าเหล่ามิจฉาชีพดังกล่าวยังคงโทรศัพท์ หรือส่งข้อความไปหลอกลวงประชาชนอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยมีการเปลี่ยนชื่อหน่วยงานที่ใช้ในการแอบอ้างไปเรื่อยๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินของผู้ถูกหลอกลวง ทั้งนี้ตรวจสอบพบแอปพลิเคชันปลอมของหน่วยงานต่างๆ กว่า 29 หน่วยงาน มีรายละเอียด และกลอุบายที่ใช้ในการหลอกลวง ดังต่อไปนี้

  1. กระทรวงการคลัง หลอกลวงให้ยกเลิกสิทธิโครงการของรัฐต่างๆ เช่น โครงการคนละครึ่ง หรือหลอกให้กรอกรหัสของแอปพลิเคชันเป๋าตัง
  2. กรมสรรพากร หลอกลวงแจ้งว่าได้รับสิทธิโครงการของรัฐเฟสใหม่ หรือเตือนให้ชำระภาษี หรือแจ้งว่าเสียภาษีไม่สำเร็จ
  3. กรมสอบสวนคดีพิเศษ หลอกลวงให้ติดตั้งแอปพลิเคชันของหน่วยงานเพื่อป้องกันการฉ้อโกง
  4. กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ใช้เอกสารราชการปลอม หลอกลวงให้ปรับปรุงข้อมูลนิติบุคคล หรืออ้างว่าได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาธุรกิจจากผลกระทบโควิด-19
  5. กรมที่ดิน ปลอมแปลงหนังสือราชการ อ้างว่าเป็นการสำรวจข้อมูลผู้เสียภาษีที่ดิน หลอกลวงอัปเดตฐานข้อมูลตามที่อยู่อาศัย หรือให้ยืนยันกรรมสิทธิ์ในที่ดิน หรืออาคารชุดต่างๆ
  6. กรมการขนส่ง สร้างเพจเฟซบุ๊กปลอม เปิดรับทำใบขับขี่ออนไลน์ถูกกฎหมาย
  7. กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดรับสมัครพนักงานออนไลน์ รับสมัครคนไปทำงานต่างประเทศ
  8. กรมการปกครอง เปิดรับลงทะเบียนทำบัตรประชาชน สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมานาน
  9. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หลอกลวงว่าได้รับคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ในอัตราต่างๆ ตามขนาดมิเตอร์ ตามมาตรการช่วยเหลือประชาชนเร่งด่วน
  10. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หลอกให้สมัครบริการเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน เพื่อลงทุนเช่าพลังงานไฟฟ้า
  11. การประปานครหลวง หลอกลวงได้สิทธิเปลี่ยนมิเตอร์น้ำฟรี หรือได้โอนเงินชำระค่าน้ำประปาเกินจริง หรือให้ลงทะเบียนเข้าฐานข้อมูลใหม่ และจัดการราคาค่าน้ำใหม่ หากไม่ลงทะเบียนจะถูกตัดน้ำ
  12. สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ลดค่าใช้จ่ายโทรศัพท์ได้ทั้งหมด
  13. สำนักงานประกันสังคม หลอกลวงผู้ประกันตนให้อัปเดตข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน หรือให้ตรวจสอบสิทธิเยียวยาโควิด-19 หรือได้สิทธิตรวจสุขภาพฟรี
    14.สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข แจ้งว่าให้อัปเดตข้อมูลบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทองให้เป็นข้อมูลปัจจุบัน หรือแจ้งว่าได้รับเงินเยียวยาจากการป้องกันโรคระบาดของรัฐ
  14. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แจ้งว่าหมายเลขโทรศัพท์จะถูกระงับ เพราะทำธุรกรรมผิดกฎหมายพนันออนไลน์
  15. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), ธนาคารออมสิน, ธนาคารกรุงไทย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปล่อยสินเชื่อเงินด่วน ปล่อยกู้ออนไลน์ หรือให้ชำระหนี้บัตรเครดิต
  16. บริษัท คิง เพาเวอร์ (King power) หลอกว่าได้รับส่วนลด และของสัมมนาคุณฟรี เนื่องในโอกาสครบรอบการก่อตั้งบริษัท
  17. บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดรับสมัครพนักงานตรวจสอบคำสั่งซื้อเที่ยวบิน
  18. บริษัท ปตท. จำกัด เปิดรับสิทธิพิเศษ ค่าน้ำมันรถยนต์ฟรีสำหรับคนที่มีรถยนต์ส่วนตัว
  19. บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด มีพัสดุผิดกฎหมาย หรือมีพัสดุตกค้าง ตีกลับ
  20. บริษัท Grab หลอกว่าได้รับบัตรกำนัล Grab Gifts มูลค่าต่างๆ
  21. บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หลอกว่าได้รับบัตร หรือคูปองเติมน้ำมัน
  22. บริษัท แอดไวซ์ (Advice) มอบส่วนลดและสิทธิพิเศษในการซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ
  23. บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด หลอกลวงให้เปิดพอตหุ้นให้ลงทุนเริ่มต้น 1,000 บาท
  24. สภากาชาดไทย หลอกลวงแจกรางวัลโบนัส
  25. สายการบิน Thai Lion Air แจ้งว่าได้รับบัตรโดยสารเครื่องบินฟรี เนื่องจากใช้บริการอย่างต่อเนื่อง
  26. สถานีตำรวจต่างๆ แจ้งว่ามีส่วนร่วมในการกระทำผิดกฎหมาย มีหมายจับ
  27. ตำรวจไซเบอร์ เพจเฟซบุ๊กปลอม อ้างสามารถช่วยเหลือเร่งรัดคดี
  28. สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เกี่ยวข้องกับคดีฟอกเงิน ให้โอนเงินมาตรวจสอบ
  29. โครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 5 หลอกลวงให้ทะเบียนรับสิทธิส่วนลดต่างๆ เช่น ค่าอาหาร ค่าที่พัก

บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้เร่งรัดขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ แสวงหาประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน แก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง โดยให้มีผลการปฏิบัติเป็นรูปธรรม รวมไปถึงการวางมาตรการการป้องกันสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของเหล่าอาชญากรไซเบอร์ ซึ่งที่ผ่านมาอาชญากรรมออนไลน์ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนเป็นวงกว้าง โดยในช่วงก่อนวันหยุดยาวสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 29 มี.ค.-10 เม.ย. 66 บช.สอท. ได้มีการกำหนดเป้าหมายระดมกวาดล้างอาชญากรรมทั่วไป และอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สามารถทำการจับกุมผู้กระทำความผิดได้กว่า 319 คดี ผู้ต้องหากว่า 341 ราย พร้อมทั้งตรวจยึดของกลางจำนวนมาก นอกจากนี้แล้ว บช.สอท. ยังได้วางมาตรการป้องกัน ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบถึงกลโกง หรือแผนประทุษกรรมของมิจฉาชีพ ผ่านทางจอภาพในพื้นที่ต่างๆ หรือผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพอีกด้วย

โฆษก บช.สอท. กล่าวอีกว่า การหลอกลวงในรูปแบบดังกล่าวยังคงเป็นการหลอกลวงในรูปแบบเดิมๆ เพียงแต่มิจฉาชีพจะเปลี่ยนชื่อหน่วยงาน และเปลี่ยนเนื้อหาไปตามวันเวลา และสถานการณ์ในช่วงนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งว่าได้รับสิทธิ หรือได้รับเงินคืน หรืออัปเดตข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน โดยในขั้นตอนสุดท้ายจะหลอกลวงให้เหยื่อกดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมของหน่วยงานที่แอบอ้าง ที่ผ่านมาก็ปรากฏในหลายๆ หน่วยงาน มิจฉาชีพจะอาศัยความไม่รู้ และความโลภ ของประชาชนเป็นเครื่องมือ ใช้ความสมัครใจของเหยื่อให้ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอม มีการใช้สัญลักษณ์ของหน่วยงาน เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันหลายหน่วยงานได้ประกาศยกเลิกการส่งข้อความสั้น (SMS) หรือส่งอีเมลไปยังประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการเงิน หรือธนาคารต่างๆ ทั้งนี้ฝากย้ำเตือนไปยังประชาชน ไม่ว่ามิจฉาชีพจะมาในรูปแบบใดๆ ก็ตาม ให้ระมัดระวังและมีสติอยู่เสมอ โดยหากพบเห็นข้อความสั้น (SMS) หรือลิงก์ ในลักษณะดังกล่าวให้แจ้งเตือนไปยังบุคคลใกล้ชิด และหน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานนั้นๆ ให้ช่วยตรวจสอบทันที เพื่อลดการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

ทั้งนี้ ขอฝากประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงแนวทางการป้องกัน 10 ข้อ ดังนี้

  1. ไม่กดลิงก์ที่เเนบมากับข้อความสั้น (SMS) หรือที่ส่งมาทางสื่อสังคมออนไลน์ ไม่กดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันต่างๆ เพราะอาจเป็นการดักรับข้อมูล หรือการฝังมัลแวร์ของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มาพร้อมกับข้อความในลักษณะการให้สิทธิพิเศษ ให้รางวัล หรือโปรโมชันต่างๆ
  2. หากได้รับโทรศัพท์จากหมายเลขที่ไม่คุ้นเคย และมีการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ให้ขอชื่อนามสกุล และหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อกลับของเจ้าหน้าที่ โดยให้แจ้งว่าจะติดต่อกลับไปภายหลัง
  3. ตรวจก่อนว่ามาจากหน่วยงานนั้นๆ จริงหรือไม่ โดยการโทรศัพท์ไปสอบถามผ่านหมายเลขคอลเซ็นเตอร์ หรือผ่านเว็บไซต์ทางการของหน่วยงานนั้น โดยตรง รวมถึงตรวจสอบว่ามีการประกาศแจ้งเตือนการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวหรือไม่
  4. ระวัง LINE Official Account ปลอม โดยสังเกตบัญชีที่ผ่านการรับรองจะมีสัญลักษณ์โล่สีเขียว หรือโล่สีน้ำเงิน หากเป็นโล่สีเทาหรือไม่มีโล่เลยจะเป็นบัญชีทั่วไปยังไม่ได้ผ่านการรับรอง ต้องตรวจสอบยืนยันให้ดีเสียก่อน
  5. ไม่ติดตั้งโปรแกรม หรือแอปพลิเคชันที่ผู้อื่นส่งมาให้โดยเด็ดขาด แม้จะเป็นโปรแกรมที่รู้จักก็ตาม เพราะอาจเป็นแอปพลิเคชันปลอม โดยหากต้องการใช้งานให้ทำการติดตั้งผ่าน App Store หรือ Play Store เท่านั้น
  6. ไม่อนุญาตให้ติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จัก หรือไฟล์ที่อาจเป็นอันตราย ไฟล์นามสกุล .Apk
  7. ไม่อนุญาตให้เข้าถึงอุปกรณ์ และควบคุมอุปกรณ์ หรือโทรศัพท์มือถืออย่างเด็ดขาด
  8. ไม่กรอกข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงินใดๆ ลงในลิงก์ หรือแอปพลิเคชันในลักษณะดังกล่าวโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งรหัสผ่าน 6 หลัก ที่ซ้ำกับรหัสแอปพลิเคชันของธนาคารต่างๆ
  9. หากท่านติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมแล้ว ให้รีบทำการ Force Reset หรือการบังคับให้อุปกรณ์นั้นรีสตาร์ต (ส่วนใหญ่เป็นการกดปุ่ม Power พร้อมปุ่มปรับเสียงค้างไว้) ในกรณีเกิดอาการค้างไม่ตอบสนอง หรือเปิดโหมดเครื่องบิน (Airplane Mode) หรือปิดเครื่องเพื่อตัดสัญญาณไม่ให้โทรศัพท์สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ ถอดซิมการ์ดโทรศัพท์ออก หรือทำการปิด Wi-fi Router
  10. อัปเดตระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์ หรืออุปกรณ์ให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/

ผู้นำเสนอข่าว

Hnoy

Written by:

3,818 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *