บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า ผลการดำเนินงานรวมสำหรับงวดสามเดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2566 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิรวม 1,200 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 181 ล้านบาท หรือลดลง 13.11% รายได้ในไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ 6,041 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1,216 ล้านบาท หรือ 25.20%
ทั้งนี้ในด้านของค่าใช้จ่ายในการบริการและบริหาร ประจำไตรมาสที่ 2/2566 อยู่ที่ 2,463 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 517 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 26.57% โดยค่าใช้จ่ายหลักที่เพิ่มขึ้น เป็นเงินเดือนพนักงาน อันเนื่องมาจากการขยายสาขาและบุคลากรประจำสาขา และค่าเสื่อมราคาจากสินทรัพย์
ส่วนต้นทุนทางการในไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ 909 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 246 ล้านบาท คิดเป็น 37.10% อันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยจากเงิน กู้ยืมและดอกเบี้ยจากหนี้สินตามสัญญาเช่า ขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น อยู่ที่ 1,017 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 493 ล้านบาท หรือคิดเป็น 94.08% ส่งผลให้ กำไรสุทธิรวมสำหรับไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ 1,200 ล้านบาท ลดลงจากงวด เดียวกันของปีก่อน 181 ล้านบาท หรือคิดเป็น 13.11% สำหรับในงวด 6 เดือนแรกของปี 2566 มีรายได้อยู่ที่ 11,671 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.86% และมีกำไรสุทธิ 2,270 ล้านบาท
นายปริทัศน์ เพชรอำไพ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (MTC) เปิดเผยว่า การเติบโตของรายได้ในช่วงที่ผ่านมานั้น มาจาก การขยายสาขาใหม่เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีจำนวนสาขากว่า 7,260 แห่งครอบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศ จึงทำให้ยอดสินเชื่อคงค้างมากกว่า 132,851 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25,450 ล้านบาท หรือ 23.70% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และการพัฒนาคุณภาพลูกหนี้ให้ดีขึ้นเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายพอร์ตสินเชื่อแตะระดับ 2 แสนล้านบาทในปี 2569 และรองรับแผนการปล่อยสินเชื่อในปี 2566 ที่คาดว่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 20%
MTC หนี้เสียสูง
บล.ดาโอ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า การรายงานกำไรของ MTC กำไรสุทธิ 2Q23 ที่ 1.2 พันล้านบาท ลดลง 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 12% จากไตรมาสก่อน ซึ่งโดยรวมแล้วดีกว่าตลาด 7% จากรายได้ Non-NII ที่สูงกว่าคาด โดยยังคงกดดันจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ทั้งต้นทุนทางการเงิน, ค่าใช้จ่ายดำเนินงาน และค่าใช้จ่ายสำรองที่เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับ NPL ที่ยังสูงขึ้นเป็น 3.4% ขณะที่สินเชื่อยังเติบโตดีที่ เพิ่มขึ้น 24% จากปีก่อน
ทั้งนี้เราประเมินว่า NPL ของบริษัทจะยังต้องใช้ระยะเวลาในการบริหารจัดการสังเกตจาก NPL ที่ยังเพิ่มขึ้น แม้ว่าบริษัทจะมีการขายลูกหนี้ และตัดจำหน่ายหนี้สูญที่สูงในงวดแล้ว โดยกำไรสุทธิในช่วงครึ่งปีแรก คิดเป็น 51% ของประมาณการกำไรสุทธิทั้งปี เราจึงคงกำไรสุทธิปี 2566 ที่ 4.4 พันล้านบาท หดตัวสูงถึง 13%
อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นที่ผ่านมา ราคาหุ้นในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาถูกกดดันจากความกังวลต่อ NPL ที่สูง และการเมืองที่ยังไม่เสถียรภาพ ทั้งนี้เราแนะนำ “ขาย” โดยประเมินว่าบริษัทยังขาดปัจจัย ที่ช่วยหนุนให้ผลการดำเนินงานกลับมาเติบโตโดดเด่นในเร็ววัน ขณะที่ปัญหา NPL มีโอกาสที่จะเป็นปัญหายืดเยื้อยาวนานมากกว่าคาด จากการจัดตั้งรัฐบาล และออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ล่าช้า รวมทั้งความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ลูกหนี้กลุ่มเกษตรยังไม่ดีขึ้นเร็ววันในช่วงเอลนีโญ
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/