เกาะติดความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย หลังนักลงทุนกังวลตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ประกาศออกมาไม่ดีนัก อาจเสี่ยงต่อการเกิดเศรษฐกิจถดถอย (Recession) กดดันดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐ ทั้งดัชนี S&P500 และดัชนี NASDAQ ปรับตัวลดลงอย่างหนักคืนวานนี้
ความกังวลดังกล่าว สร้างแรงกดดันมายังหุ้นเอเชียด้วย โดยพบว่ามีแรงขายในหลายตลาด นำโดยตลาดหุ้นญี่ปุ่นและเกาหลี ที่เช้านี้ปรับตัวลดลงอย่างหนัก มากกว่า 4-5% ขณะที่ตลาดหุ้นไทย เปิดตลาดลดลงอย่างหนัก อยู่ที่ 1,295 จุด ปรับตัวลดลง 17.43 จุด หรือ -1.33%
ด้าน นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจหลายตัวในสหรัฐฯ ส่งสัญญาณว่าความเสี่ยงที่อาจจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอนาคตมีสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขในตลาดแรงงาน, ดัชนี PMI และตัวเลขที่แสดงถึงกําลังซื้อ
ทั้งนี้ รวมถึงดัชนีที่วัดจากหัวข้อข่าวที่กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอย ก็ปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น เข้าสู่ “Technical Recession” ในช่วงครึ่งหลังปี 2566 ที่ผ่านมา
ภาวะดังกล่าวสร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้นทั่วโลกให้ปรับตัวลดลง ซึ่งรวมถึงดัชนีตลาดหุ้นไทยก็น่าจะได้รับแรงกดดันเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เรามองเห็นเครื่องมือในการที่จะต่อต้านการเกิดในอีกมุมหนึ่ง Recession ที่มีความพร้อมมากเช่นกัน ซึ่งได้แก่ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ยังสูงถึง 5.50% เป็นไปได้ว่าอาจเห็นการปรับลดดอกเบี้ยที่มากกว่า 2 ครั้งในปีนี้ ขณะที่เริ่มมีการคาดหมายว่า การปรับลดดอกเบี้ยบางครั้งอาจอยู่ที่ระดับ 0.5%
อย่างไรก็ดี ประเมินว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยน่าจะผันผวนจากความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่กลับมา โดยวันนี้ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ 1,300-1,320 จุด
ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า คาดดัชนีตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวลงและมีโอกาสหลุดต่ำกว่าระดับ 1,300 จุดอีกครั้ง โดยมีฐานบริเวณ 1,285-1,290 จุด เป็นแนวรับสําคัญ ตามกรอบ Sideways ทางภาพรวมสินทรัพย์เสี่ยงถูกกดดันอย่างหนัก หลังตัวเลขเศรษฐกิจภาคแรงงานสหรัฐฯ ทั้งการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ชะลอแรงกว่าคาด รวมถึงอัตราว่างงานที่พุ่งขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่ปลายปี 2564 และเริ่มมีสัญญาณเสี่ยงเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
สร้างความกังวลต่อนักลงทุน ส่งผลให้ตลาดเพิ่มคาดการณ์การลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็น 4 ครั้ง หรือสูงกว่าแล้วในปีนี้ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรร่วงแรงต่อเนื่อง จากเม็ดเงินที่ไหลออกจากหุ้นและไหลเข้าพันธบัตร
ส่วนปัจจัยในประเทศวันนี้ ติดตามตัวเลขเงินเฟ้อไทยเดือน ก.ค. และครึ่งแรกของ ส.ค. โฟกัสอยู่ที่การประกาศอัตราการเติบโตเศรษฐกิจ และกําไรไตรมาส 2/67 ว่าจะทยอยออกมาค่อนไปในทางต่ำกว่าคาด อาจเพิ่มโอกาสที่ กนง. จะพิจารณาลดดอกเบี้ยได้มากขึ้น
ส่วนอีกปัจจัยที่จะกําหนดทิศทางตลาดคือการวินิจฉัยคดีการเมือง ทั้งคดียุบพรรคก้าวไกลวันที่ 7 ส.ค. และโดยเฉพาะคดีนายกฯ เศรษฐา วันที่ 14 ส.ค. หากผลออกมาจะทําให้ Upside ระยะกลาง-ยาว เปิดกว้างขึ้นจากปัจจัย Overhang ที่หายไป โดยเฉพาะกลุ่มที่อิงเศรษฐกิจในประเทศคาดว่าจะฟื้นตัวได้แรง
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/