มท.ตามเข้มไฟป่า-หมอกควัน-PM 2.5 ผู้ว่าฯ นครนายก คาดคุมไฟไหม้เขาแหลมได้ 3-5 วัน

มท.ตามเข้มไฟป่า-หมอกควัน-PM 2.5 ผู้ว่าฯ นครนายก คาดคุมไฟไหม้เขาแหลมได้ 3-5 วัน

ปลัดมหาดไทย ประชุมติดตามและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM 2.5 ในภาคเหนือ กลาง และอีสาน รวม 62 จังหวัด ด้านผู้ว่าฯ นครนายก เผยสถานการณ์ไฟไหม้เขาแหลม พยายามคุมสถานการณ์ให้ได้ใน 3-5 วัน

วันนี้ (30 มี.ค. 66) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมติดตามและแก้ไขปัญหากรณีไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยมี นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายรัฐพล นราดิศร นายเธียรชัย ชูกิตติวิบูลย์ นางสาวชัชดาพร บุญพีระณัช รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เรือโท ภัทรชัย ขันธหิรัญ ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง ผู้บริหารกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมประชุม และยังมีการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 62 จังหวัด รวมถึงพระอาจารย์วิบูลย์ พุทธอุทยานดอยอินทรีย์ จังหวัดเชียงราย

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการให้กระทรวงมหาดไทยในฐานะกองป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ บูรณาการทุกภาคส่วนดำเนินแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ยกระดับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ขณะเดียวกัน พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้กำชับให้กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการ 8 มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างเข้มข้น ทางด้าน พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ มอบนโยบายและกำกับติดตามการดำเนินงานแก้ไขสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก อย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการจังหวัด ร่วมกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ดำเนินการทั้งมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างหนักและต่อเนื่อง โดยผู้บังคับบัญชาทุกระดับรับทราบการดำเนินงานพร้อมทั้งให้กำลังใจท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและทีมงานทุกระดับเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จังหวัดที่ได้รับผลกระทบสูง เช่น เชียงใหม่ เชียงราย และนครนายก
ปลัดกระทรวงมหาดไทย ระบุต่อไปว่า เมื่อวานนี้ (29 มี.ค. 2566) ลงพื้นที่ร่วมกับ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี และมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ โดยนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ รายงานสถานการณ์สาธารณภัยขณะนี้ นอกจากไฟป่า หมอกควัน PM 2.5 ยังต้องบริหารจัดการภัยอื่นๆ ทั้งวาตภัย พายุลูกเห็บ ฯลฯ ผู้บังคับบัญชาเข้าใจดีว่าผู้ว่าราชการจังหวัดมีภารกิจที่เหน็ดเหนื่อยแสนสาหัส และต้องเผชิญเหตุกับสาธารณภัยทั้งตามฤดูกาล และนอกฤดูกาล จึงขอเป็นกำลังใจให้ทุกจังหวัด และขอให้อดทน ไม่ย่อท้อ ในการบริหารสถานการณ์ แก้ไขปัญหาและบรรเทาสถานการณ์ให้กับพี่น้องประชาชน จึงจำเป็นที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดที่จะต้องช่วยกันร่วมไม้ร่วมมือกับหน่วยราชการที่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยตรง หาทางป้องกันและแก้ไขสถานการณ์ พร้อมทั้งสร้างการรับรู้กับประชาชนในทุกช่องทางสื่อสารเพื่อให้ทราบแนวทางการแก้ปัญหา เพราะสังคมหวังจะได้รับคำตอบในการระงับเหตุที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะช่วงนี้เป็นเรื่องไฟป่า เพื่อให้ได้อุ่นใจว่าหน่วยงานราชการจะช่วยกันป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

“เรื่องที่สำคัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องตื่นตัวที่จะช่วยกันระดมสรรพกำลัง ทั้งส่วนราชการ ท้องถิ่น ประชาชน อาสาสมัคร โดยเฉพาะจังหวัดที่กำลังเผชิญปัญหาไฟป่า หมอกควันรุนแรง ต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของจิตอาสา อาสาสมัคร ควบคู่กับการช่วยกันดูแลทำให้ไฟป่าไปในทิศทางที่สามารถจำกัดวงไม่ให้ลุกลามไปยังบ้านเรือนพี่น้องประชาชน ส่วนวัสดุอุปกรณ์ของส่วนกลาง โดยเฉพาะเฮลิคอปเตอร์ KA-32 ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประเมินระดับสถานการณ์ หากพื้นที่ใดต้องการให้ประสานมายังอธิบดี ปภ. โดยทันที พร้อมขอให้ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ของจังหวัด/พื้นที่เกิดเหตุต้องทำงาน 24 ชั่วโมง ช่วยรับแจ้งเหตุ สแตนด์บายสายด่วนนิรภัย 1784 และสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 ต้องมีเจ้าหน้าที่อยู่เวรยามระวังเหตุ เพื่อให้พี่น้องประชาชนอุ่นใจและมีลู่ทางในการแจ้งเหตุ”
จากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย นครนายก น่าน และสระบุรี ได้รายงานสถานการณ์ โดย นายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก รายงานว่า สถานการณ์ของนครนายก เมื่อ 28 มี.ค. 2566 ช่วงกลางคืนมีพายุแต่ไม่มีฝน มีลมแรง ส่งผลทำให้เกิดไฟไหม้เขาชะพลู ต่อมาวันที่ 29 มี.ค. 2566 ทิศทางลมมีความรุนแรงทำให้ไฟปะทุไปทางเขาแหลม ทำให้เขาแหลมส่วนหน้าไหม้ทั้งเขา พื้นที่รวม 700 ไร่ โดยเป็นในส่วนหน้าโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ไหม้ประมาณ 500 ไร่ และส่วนตอนหลังเขาพระ ประมาณ 200 ไร่ ส่วนใหญ่ไหม้บริเวณสันเขา

กระทั่งเมื่อช่วงเช้าวันนี้ (30 มี.ค.) ประเมินสถานการณ์ร่วมกับผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และยกระดับตั้งเป็นศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันระดับจังหวัด ซึ่งเมื่อเวลา 08.00 น. ได้รับการสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์ KA-32 และเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพ เวลา 10.30 น. ใช้โดรนบินเข้าไป มีชุดอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นทีมชี้เป้า เพื่อประเมินสถานการณ์ และทีมท้องที่ ท้องถิ่น สแตนด์บายบริเวณตีนเขาเพื่อควบคุมสถานการณ์ ส่วนของน้ำที่ใช้ในการดับไฟ ใช้แหล่งน้ำห้วยปรือเป็นหลัก และได้รับการประสานจากหน่วยอินทรีย์ (ภาคเอกชน) ช่วยเครื่องฉีดน้ำระยะไกล และทำระบบตัดทางไฟ ใช้เส้นทางเดิน (ทางดำ) เป็นเส้นทางเดินเป็นหลัก มีการไล่เคลียร์จุดอันตรายบริเวณเขาพระ และล่าสุดไฟบริเวณสันเขาทำให้ไม่สามารถเดินได้ จึงใช้อากาศยานเป็นหลัก

“จากการประเมินสถานการณ์คาดว่าจะสามารถควบคุมได้ภายในไม่เกิน 5 วัน แต่จังหวัดนครนายกจะพยายามแก้ไขสถานการณ์ให้ได้ภายใน 3 วัน”
ขณะที่ อธิบดี ปภ. กล่าวว่า ภาพรวมสถานการณ์ PM 2.5 ปี 2565-2566 สถานการณ์ปัจจุบันมีพื้นที่ประสบไฟป่าในเดือน มี.ค. จำนวน 27 จังหวัด ทั้งภาคเหนือ กลาง และอีสาน ขณะนี้จังหวัดที่ยังมีสถานการณ์ ได้แก่ นครนายก เชียงราย เชียงใหม่ สำหรับการขอรับการสนับสนุนเครื่องมือจากส่วนกลาง ปภ. ได้ประสานทำงานอย่างใกล้ชิดกับทุกจังหวัด หากพื้นที่ใดเป็นพื้นที่เสี่ยงโดยเฉพาะ เช่น ไฟจะลามเข้าสถานที่สำคัญ หมู่บ้าน/ชุมชน หรือแหล่งท่องเที่ยวที่จะกระทบเศรษฐกิจ รวมถึงพื้นที่ที่ไม่สามารถใช้กำลังภาคพื้นดินเข้าไปช่วยได้ ถ้าพิจารณาแล้วต้องใช้อากาศยาน ให้ประสานโดยด่วน
ในช่วงท้าย ปลัดกระทรวงมหาดไทย เน้นย้ว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดกำชับนายอำเภอเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนงานร่วมกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ และประสานกับ อปท. สนับสนุนการแก้ไขสถานการณ์ตามอำนาจหน้าที่ และขอเป็นกำลังใจให้กับพื้นที่ ทางด้านจังหวัดที่มีเหตุรุนแรงขณะนี้ ขอให้ทุ่มเทสรรพกำลังดำเนินการให้ประชาชนอุ่นใจ ส่วนจังหวัดที่ไม่มีสถานการณ์รุนแรง ขอให้เตรียมแผนที่ยั่งยืน โดยนายอำเภอต้องเป็นผู้นำสำคัญที่จะดึงความรักความสามัคคีมาช่วยกัน ขอให้เริ่มทันทีตั้งแต่บัดนี้ รวมถึงเพิ่มความเข้มข้นมาตรการตามสถานการณ์แต่ละพื้นที่ให้ได้ผล เพิ่มความรอบคอบรัดกุม และการสื่อสารกับสังคมเชิงรุก เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจ ความเชื่อมั่น และปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องตามสถานการณ์ในพื้นที่.

ที่มา:ไทยรัฐ

ผู้นำเสนอข่าว

ยัยแม่มด

Written by:

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You May Have Missed