กรมทะเลชายฝั่ง เปิดภาพทะเลตรัง หลังสำรวจประเมินชนิด การแพร่กระจาย และสถานภาพของหญ้าทะเล พบส่วนใหญ่อยู่ในระดับสมบูรณ์เล็กน้อยถึงสมบูรณ์ปานกลาง
วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 19-26 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง ได้ออกสำรวจประเมินชนิด การแพร่กระจาย และสถานภาพของหญ้าทะเลโดยวิธีวาง Line transect และ Spot check ในพื้นที่เกาะลิบง และบริเวณใกล้เคียง จังหวัดตรัง
ผลการสำรวจสถานภาพหญ้าทะเลในพื้นที่หญ้าทะเลรวมทั้งหมด 19,751 ไร่ พบหญ้าทะเลทั้งหมดที่มีการแพร่กระจายในเขตทะเลอันดามัน ทั้ง 12 ชนิด คือ หญ้าเงาแคระ (Halophila beccarii), หญ้าเงาใบใหญ่ (Halophila major), หญ้าเงาใบเล็ก (Halophila minor), หญ้าใบมะกรูด (Halophila ovalis), หญ้าคาทะเล (Enhalus acoroides), หญ้าชะเงาเต่า (Thalassia hemprichii), หญ้าชะเงาปลายใบมน (Cymodocea rotundata), หญ้าชะเงาปลายใบฟันเลื่อย (Cymodocea serrulata), หญ้ากุยช่ายเข็ม (Halodule pinifolia), หญ้ากุยช่ายทะเล (Halodule uninervis), หญ้าเงาใส (Halophila decipiens) และหญ้าต้นหอมทะเล (Syringodium isoetifolium)
สถานภาพหญ้าทะเลโดยส่วนใหญ่อยู่ในระดับสมบูรณ์เล็กน้อยถึงสมบูรณ์ปานกลาง ซึ่งพบหญ้าใบมะกรูด หญ้าคาทะเล และหญ้าชะเงาเต่าเป็นชนิดเด่นในพื้นที่สำรวจ และยังพบร่องรอยการกินหญ้าทะเลของพะยูนกระจายทั่วทั้งบริเวณแนวหญ้าใบมะกรูด โดยเฉพาะบริเวณอ่าวทุ่งจีนและเกาะลิบงด้านเหนือ
ส่วนหญ้าคาทะเลที่พบส่วนใหญ่มีลักษณะใบขาดสั้น ไม่สมบูรณ์ มีสีเขียวและสีน้ำตาลปะปนกัน ราก เหง้า เน่าเปื่อย พื้นทะเลมีลักษณะเป็นทรายปนโคลน คุณภาพน้ำ ความลึกน้ำ 0.1 – 6 เมตร อุณหภูมิ 30-31 องศาเซลเซียส ความเค็ม 30 พีพีที ความเป็นกรด-ด่าง 7.7-8.2 สัตว์น้ำชนิดเด่นที่พบบริเวณแหล่งหญ้าทะเล ได้แก่ ดาวทะเลชนิด Pentaster obtusatus และดาวทราย (Astropecten bengalensis) ปลิงดำ (Holothuria atra) ปลิงสีชมพู (Cercodesma anceps) กลุ่มปลาบู่ และปลาสลิดทะเล ขยะทะเลในแหล่งหญ้าทะเลที่พบส่วนใหญ่ คือถุงและขวดพลาสติก ขวดแก้ว และเศษอวน.
ที่มา:ไทยรัฐ