” สักวา อา-รมย์-ดี ” เล่าวิถี-พหุวัฒนธรรมปัตตานี ผ่านบทกลอนสักวา ด้านเลขาธิการ ศอ.บต.
เผย ปัตตานีมีขุมทรัพย์ที่เป็น soft power ที่แท้จริง
วันนี้ (2 ก.พ. 66) สำนักงานวัฒนธรรม จังหวัดปัตตานี กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ หน่วยงานภาครัฐ
ภาคประชาชน และสถาบันการศึกษา จัดกิจกรรม สักวา อา-รมย์-ดี เล่าเรื่องราวสังคมพหุวัฒนธรรม วิถีชีวิต
และประวัติศาสตร์ของปัตตานีผ่านบทกลอนสักวา จากนักวิชาการ 7 คน โดยมีพลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร
เลขาธิการ ศอ.บต. เป็นประธานเปิดกิจกรรม และมีนางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี
เป็นประธานบอกเล่าเรื่องราวความสวยงามของปัตตานี มีหัวหน้าส่วนราชการ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม
และประชาชนร่วมชมความงามของปัตตานีเป็นจำนวนมาก
” สักวา อา-รมย์-ดี ” เป็นการบอกเล่า บริบทและประวัติศาสตร์ของปัตตานี ผ่านการสัมผัสคำ
ของถนน 3 เส้นทางในปัตตานี คือ ถนนอาเนาะรู ถนนปัตตานีภิรมย์ และถนนฤดี โดยถนน 3 สาย เป็นถนน
ที่มีความเจริญรุ่งเรืองด้านการค้าขายในอดีต เป็นย่านเมืองเก่าที่เรียบง่าย แต่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ของผู้คน
อาหาร อาคาร และอาภรณ์
โดย พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวถึงจังหวัดปัตตานีว่า เป็นสังคม
แห่งพหุวัฒนธรรมโดยแท้จริง มีความหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม มีทั้ง จีน มลายู ไทย
และโอรังอัสลี มีผู้คนนับถือศาสนาพุทธ อิสลาม คริสต์ ฮินดู-พราหมณ์ หลายศาสนารวมกัน อีกทั้งเป็นถิ่น
ที่มีอาหารการกินหลากหลาย การแต่งกายหลากสี และมีวันสำคัญตลอดทั้งปี ปัตตานีมีวัฒนธรรม
ความเป็นไทย หรือ ซอฟเพาเวอร์ 5f คือ Food ,Fashion , Film , Fight และ Festival พร้อมกับมี
อารยธรรมโบราณ 2,000 ปี ที่น่าสนใจ นอกจากนี้ ปัตตานียังเป็นเมืองท่ารองรับอารยธรรมมากมาย
เป็นจุดที่มีร่องรอยอารยธรรมสูงที่สุดในราชอาณาจักรไทย และเป็นจุดเชื่อมต่อของอารยธรรมโลก
ระหว่างตะวันตกสู่ตะวันออกอีกด้วย
นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวถึงความสำคัญของถนน 3 สายว่า เป็นพื้นที่
ที่สะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ ลักษณะทางสถาปัตยกรรม รูปแบบประเพณี ความเชื่อ วิถีชีวิตและลักษณะ
ทางสังคมที่โดดเด่น กิจกรรมสักวา อา-รมย์-ดี สามารถร้อยเรียงเชื่อมความสัมพันธ์ของผู้คน อาคาร อาหาร
และอาภรณ์ ผ่านบทกลอนสักวาเชื่อมั่นว่า จะสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งในสังคมพหุวัฒนธรรม
ส่งเสริมเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชุมชน และและวัฒนธรรมท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป
โดยภายในกิจกรรมมีการจัดแสดงดนตรีพื้นถิ่น นิทรรศการผ้า และภาพถ่าย เพื่อตามรอยเส้นทาง
ถนน 3 สายอีกด้วย