ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนสิงหาคม 2546 |
---|---|
ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
เผยแพร่ | วันพฤหัสที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2565 |
พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือที่เรียกและรู้จักกันทั่วไปว่า “พระบรมรูปทรงม้า” นอกจากเป็นพระบรมรูปที่มีความงามในด้านศิลปกรรม, เป็นการเฉลิมฉลองการครองราชย์ครอบ 40 ปี ของพระองค์ แล้วยังเป็นการเลิกขนบและความเชื่อเดิม ที่ไม่สร้างรูปเหมือน (หมายรวมถึงรูปถ่าย, รูปแกะสลัก, รูปปั้น ฯลฯ) หากบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่ เพราะจะเป็นการลดทอนอายุขัย ฯลฯ
หากในบทความเรื่อง “ค้นกรุงปารีส ตามล่าหาความจริง King Chulalongkorn รัชกาลที่ 5 กับประธานาธิบดีฝรั่งเศส” (ศิลปวัฒนธรรม, เดือนสิงหาคม 2546) ของไกรฤกษ์ นานา ยังได้กล่าวถึงข้อมูลอื่นเกี่ยวกับ “พระบรมรูปทรงม้า” เช่น การที่รัชกาลที่ 5 ทรงเลือกโรงหล่อฝรั่งเศสเป็นผู้ผลิต ทั้งที่ทรงโปรดฝีมือช่างอิตาลี, การเสด็จประทับเป็นแบบให้นายช่าง ฯลฯ เพื่อหาคำตอบเหล่านี้ ไกรฤกษ์ นานา ค้นคว้า และลงพื้นที่จริงตามรอยเสด็จพระราชดำเนินสถานที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเรียบเรียงคำอธิบายไว้ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม)
รัชกาลที่ 5 ตรัสสดุดียกย่องกระบวนช่างอิตาเลียนไว้ตั้งแต่เสด็จประพาสอิตาลีครั้งแรกในปี พ.ศ. 2440ว่า…
“ด้วยฉันมาอยู่ที่นี่เกือบจะเรียกว่าพบปะแต่ช่างปั้น ช่างเขียน ช่างแกะ ช่างสลักวันยังค่ำ ด้วยการช่างเช่นนี้ย่อมเป็นที่พอใจลุ่มหลงของฉันแต่เดิมมาแล้ว” ทรงพรรณนาถึงความมีชื่อเสียงโด่งดังของช่างอิตาเลียนเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก “ถึงว่าเมืองอื่นๆ จะทําได้ก็ไม่มีเสมอเหมือนเมืองนี้ เจ้าแผ่นดินและผู้มีบันดาศักดิ์เมืองอื่นย่อมมาทําของที่ดีในประเทศนี้โดยมาก ชาติชาวอิตาเลียนย่อมเป็นช่างมาแต่โบราณ มีสิ่งซึ่งเป็นฝีมือดี ทําแล้วตั้งพันปีสําหรับอวดได้”
และ ณ กรุงโรมนั้นเองที่ทรงตกลงให้ปั้นพระบรมรูปขึ้นครั้งแรกเป็นประวัติการณ์ ในวันที่ 1 มิถุนายน 2440 โดยเสด็จไปประทับเป็นแบบ เป็นการยอมรับอย่างพอพระทัยทันทีที่เสด็จถึงทวีปยุโรป ถึงแม้จะเป็นเพียงประเทศแรกที่ทรงพบเห็นโดยไม่ลังเลพระทัย “การทํารูปของฉันที่ทําอยู่เดี๋ยวนี้คือรูปศิลาครึ่งตัวที่เมืองโรม ได้ไปนั่งแต่วันเดียว พรุ่งนี้เขาจะเอาหุ่นดินมาสอบ ได้เริ่มทํารูปศิลาครึ่งซีกซึ่งเรียกว่าบาส์รีลีฟ เมื่อวานนี้ดูมันตั้งท่าเหลวๆ แต่วันนี้ออกเชื่อ”
ด้วยความเชี่ยวชาญในฝีมือปั้นแกะสลักชาวโรม เพียง 2 วันพระบรมรูปดังกล่าวก็เสร็จสมบูรณ์ ทรงเตรียมการจัดส่งกลับไปพระราชทานพระราชินีทอดพระเนตรทันที “ส่วนฉันนั้นได้รูปศิลาที่ช่างผู้วิเศษทําโตกว่าเก่าและเหมือนมากทั้งสององค์ จะส่งตรงไปบางกอก ฉันเห็นว่าควรที่จะส่งเข้าไปที่เดียวจะได้ทันใจ”
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงนิพนธ์ “ประวัติของพระบรมราชวงศ์จักรี” ไว้ในปี พ.ศ. 2503 โดยแทรกเกร็ดสาเหตุของการสร้างพระบรมรูปทรงม้า ร.5 ไว้โดยย่อแต่น่าทึ่งว่า
“ใน พ.ศ. 2451 พระเจ้าอยู่หัวได้ครองราชย์มาเป็นเวลา 40 ปีเต็ม จึงมีการฉลองกันอย่างใหญ่หลวงทั้งประเทศ ประชาชนแสดงความจงรักภักดีเลื่อมใสในพระองค์อย่างวิเศษยิ่ง โดยสละเงินตามมากและน้อยได้เงินเป็นอันมากเพื่อจะสร้างอนุสาวรีย์ ความอันเป็นของที่ไม่เคยมีใครทํามาแต่ก่อนมี ข่าวว่าประชาชนอยากจะสร้างอนุสาวรีย์ให้ใหญ่มหึมา เช่น อนุสาวรีย์พระเจ้าวิกเตอเอมมานูเอลที่ 2 แห่งอิตาลีที่กรุงโรม แต่ทรงห้ามเสีย โปรดให้สร้างแต่พระบรมรูปทรงม้าอันไม่หรู หราอะไรนัก”
…………
…ผู้เขียนจึงได้ทดลองสืบจากทฤษฎีของพระองค์จุลฯ เป็นเกณฑ์ในการค้นคว้า ได้เดินทางไปดูหลักฐานที่น่าเชื่อถือด้วยตนเองถึงอนุสาวรีย์ใหญ่ของพระเจ้าวิกเตอเอมมานูเอลที่ 2 ที่ ร.5 ตรัสถึงและได้เสด็จไปทอดพระเนตรมาแล้วอย่างละเอียด ทั้งในกรุงโรม เวนิส และมิลาน
ได้บทสรุปเป็นที่พอใจ มีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าพระบรมรูปทรงม้าของพระเจ้ากรุงอิตาลีที่ไม่มีใครเคยได้ยินชื่อนี้มีความงามสง่าน่าพิศวงเพียงมองด้วยตาเปล่า ยิ่งเมื่อกลับไปอ่านพระราชหัตถเลขาคราวเสด็จประพาสยุโรป ทั้ง 2 ครั้ง ซึ่งห่างกันอยู่ 10 ปี ก็พบว่าทรงให้ความสนพระทัยอย่างจริงจังกับอนุสรณ์สถานทั้ง 3 แห่งนั้น เสด็จเยือนซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างกระตือรือร้น คล้ายจะบอกว่าทรงโปรดเป็นพิเศษ
ลายพระหัตถ์ในบางฉบับทรงตั้งข้อสังเกตไว้ลึกซึ้งแฝง ความนัยไว้น่าฉงน เช่นครั้งหนึ่งที่มิลาน ตรัสว่า “มีรูปกิงวิกเตออิแมนวลขี่ม้าชักดาบหันหน้าเข้าไปข้างโบสถ์ งามยิ่งนัก”
ผู้เขียนพบพระบรมรูปทรงม้าของวิกเตอเอมมานูเอลอีกองค์หนึ่งที่เวนิสบนเส้นทางเสด็จ ในความรู้สึกส่วนตัวเห็นว่า เป็นอนุสาวรีย์ที่งามสง่าที่สุด หล่อแบบที่ฐานโดยรอบเป็นเรื่อง ราวของการรวมชาติอิตาลีเข้าด้วยกัน มีรูปเทพยดาองค์ใหญ่ เสริมบารมีอยู่ด้านล่าง ไม่เคยเห็นพระบรมรูปทรงม้าที่ไหนใน ยุโรปวิจิตรพิสดารเท่าที่นี่ พระจุลจอมเกล้าฯ ทรงบันทึกไว้ในเวนิสว่า “ของที่เป็นงานฝีมือช่างสําหรับเมืองนี้มีหลายอย่าง ซึ่งถูกตาถูกใจเรา”
ร.5 ทรงตั้งพระทัยเสด็จไปทอดพระเนตรพระบรมรูปวิกเตอเอมมานูเอลที่ 2 ในกรุงโรมอีกครั้ง หลังจากเคยทอดพระเนตรการก่อสร้างเมื่อเริ่มต้นมาแล้วครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2440 (ในเวลาต่อมาเป็นอนุสาวรีย์ที่ใหญ่โตที่สุดในยุโรป-ผู้เขียน) ครั้นปี พ.ศ. 2450 ตรัสไว้ว่า “ไปดูอนุสาวรีย์กิงวิกเตออิแมนวลที่ 2 พึ่งทําที่เขาแคปิโตล เป็นรูปเสาเรียงด้านหลัง เป็นฉาก ด้านน่าจะตั้งรูปกิงวิกเตออีแมนวลขี่ม้า แต่ดูงานยังมากเต็มที่ สิบปีไม่เห็นร่วมเข้าไปได้เท่าไร”
ทําไมกรุงอิตาลีจึงเต็มไปด้วยพระบรมรูปของกษัตริย์พระองค์นี้? คําถามดังกล่าวพอจะตอบได้ว่า พระเจ้าวิกเตอเอมมานูเอลที่ 2 (พ.ศ. 2362-2420) เป็นกษัตริย์ที่มีวีรกรรมโชกโชนในประวัติศาสตร์อิตาลี เป็นนักรบผู้กล้าในสมรภูมิ เป็นวีรบุรุษผู้สามารถรวมอาณาจักรอันแข็งกร้าวทั้งหลายเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้สําเร็จ เป็นที่ยอมรับของประชาชนอย่างกว้างขวาง อนุสาวรีย์ของพระองค์ในที่ต่างๆ เป็นสัญลักษณ์ของลัทธิชาตินิยมอันยิ่งใหญ่ในอิตาลีนับตั้งแต่จักรพรรดิซีซาร์ได้เคยสร้างความนิยมไว้ในโรมนานมาแล้ว ที่สําคัญคือพระราชานุสาวรีย์ของพระโดยมากสร้างแบบ “พระบรมรูปทรงม้า” อันโดดเด่นสะดุดตา…
หลังจากเสด็จประพาสยุโรปครั้งหลังแล้ว ร.5 ทรงตั้ง พระทัยที่จะนําแบบฉบับอิตาเลียน พร้อมทั้งนายช่างชาวโรมชุดใหญ่ 3 คนกลับไปสยามด้วย เพื่อสร้างสถาปัตยกรรมสไตล์อิตาเลียนเรเนสซองส์ในกรุงเทพฯ ภายหลังเป็นอาคารรัฐสภาที่งดงามที่สุดในทวีปเอเชีย หรือที่เราเรียก พระที่นั่งอนันตสมาคมในทุกวันนี้ ในระหว่างเดินทางไปค้นหาพระบรมรูปทรงม้า ณ สถานที่จริงในยุโรป ที่เคยเสด็จไปทอดพระเนตรเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้วบนเส้นทางมิลาน-โรม บังเอิญรถขับผ่านไปทางคาราร่า (ทางหลวงสาย E80 แยกออกไปคาราร่าก่อนถึงเมืองมาสซ่า-ผู้เขียน) ทําให้มีโอกาสเห็นโรงโม่หินขนาดใหญ่ 2-3 แห่ง ตีนเขาหินอ่อนของเมืองคาราร่ามีก้อนหินสีขาวนวลขนาดใหญ่นับร้อยก้อนวางเรียงเป็นระเบียบอยู่ตลอดแนวถนน สามารถบอกได้อย่างแน่ใจว่าต้องเป็นแหล่งหินอ่อนชั้นดีที่ ร.5 เสด็จไปคัดเลือกด้วยพระองค์เอง เพื่อจัดส่งกลับมาสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคมในคราวนั้นอย่างไม่ต้องสงสัย
อิตาลีในทุกวันนี้เปรียบเสมือนพิพิธภัณฑ์เปิดที่เชื่อมโยงเหตุการณ์ในอดีตเข้าเป็นรูปภาพใหญ่ที่สมบูรณ์ได้อย่างเหลือเชื่อ
พระราชดําริในอันที่จะสร้างปฐมบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ท่านเองได้ก่อตัวขึ้นอย่างเงียบๆ แล้ววันหนึ่งจึงถูกเปิดเผยขึ้นมาอย่างกะทันหันในระหว่างการเสด็จประพาสยุโรปนั่นเอง ไม่ใช่ในกรุงโรมแต่กลายเป็นกรุงปารีสที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นที่หล่อพระบรมรูปทรงม้า ร.5 อย่างเป็นทางการ พลิกความคาดหมายอีกครั้งอย่างถล่มทลาย มิใช่เพราะฝีมือช่างโรมันจะด้อยไปกว่าฝรั่งเศส แต่ด้วยข้อเสนอที่ย่อมเยาในราคา และที่สําคัญสามารถเสร็จทันเปิดในงานพระราชพิธีอันสําคัญยิ่งพิธีหนึ่งซึ่งใกล้จะมีขึ้นในกรุงสยาม
นับเวลาใกล้หนึ่งพันปีตั้งแต่เมืองไทยก่อตั้งขึ้นมาในสุวรรณภูมินี้ ที่พระมหากษัตริย์ไทยในอดีตไม่เคยเสด็จออกนอกพระราชอาณาเขตมาก่อน ทั้งยังปรากฏว่ากษัตริย์ไทยไม่โปรดให้มีการหล่อพระรูปเหมือนของพระองค์เองในขณะดำรงพระชนมชีพอยู่ เพราะมิใช่ธรรมเนียมปฏิบัติ การสร้างรูปเหมือน ทุกประเภท ไม่ว่ารูปแกะสลัก รูปถ่าย หรือรูปปั้นนั้นถือกันว่า เป็นการตัดทอนอายุผู้สร้าง จวบจนปี พ.ศ. 2450 พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยกเลิกความเชื่อในประเพณีโบราณที่ล้าสมัยนั้นทั้งหมด…
เรื่องของพระบรมรูปทรงม้า ร.5 มีข้อมูลเบื้องต้นพบในพื้นที่ปรากฏอยู่บนคําจารึกที่ฐานของพระบรมราชานุสาวรีย์ดังกล่าว คนส่วนใหญ่จึงใช้เวลาอยู่ที่เบื้องพระพักตร์ด้านหน้า ตํานานพระบรมรูปทรงม้าในเมืองไทยจึงขาดความสมบูรณ์ และมักจบลงดื้อๆ โดยไม่มีอะไรให้ค้นคว้าต่อไปได้อีกจากตรงนั้น
ปริศนาสองข้อที่ฝังใจผู้เขียนมาตลอดคือ หนึ่ง สาเหตุแห่งแรงบันดาลใจในการสร้าง และสองคําจารึกที่ฐานพระบรมรูปใต้เท้าม้าหลังนั้นมีภาษาฝรั่งเศสเป็นลักษณะโค้ดลับสลักไว้ว่า “SUSSE Fres Fondeurs PARIS” แปลตรงตัวได้คือ “พี่น้องตระกูลซูส ปารีส” ตรงนี้แหละที่พอจะบอกเบาะแสว่าอยู่ในฝรั่งเศส แต่ ทุกคนก็ลืมเรื่องนี้ไปหมด จนเวลาผ่านเลยไปเกือบหนึ่งศตวรรษ…
คำถามอันน่าพิศวงต่อไปคือ ทําไมจึงเป็นพระบรมรูปทรงม้า? และเหตุใดจึงมาประดิษฐานอยู่ ณ ลานหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมอันภูมิฐานนี้? คําตอบที่ละเอียดที่สุดพบในเมืองไทยอยู่ที่ “คําถวายพระบรมรูปทรงม้า” ในจดหมายเหตุพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ร.ศ. 127 ซึ่งเน้นไปที่พระราชพิธีเปิดเท่านั้น ความสนุกและสีสันของเบื้องหลังการสร้างทั้งหมดจะมีอยู่ใน “ไกลบ้าน” อันเป็นพระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ 5 มีถึงสมเด็จเจ้าฟ้านิภานภดล พระราชธิดา ในขณะที่เสด็จประพาสยุโรป ครั้งหลังเท่านั้น หนังสือไกลบ้านเป็นคู่มือให้ผู้เขียนเดินทางไปค้นหาต้นกําเนิดของการสร้างถึงในทวีปยุโรป ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้เพียงแห่งเดียว
สมเด็จพระปิยมหาราชเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกในปี พ.ศ. 2440 เพื่อทรงตรวจแบบแผนราชการบ้านเมือง และหาทางสนับสนุนทางการเมืองจากมหาอํานาจในยุโรป จวบจนปี พ.ศ. 2450 จึงเสด็จยุโรปอีกเป็นครั้งที่ 2 เหตุผลก็เพื่อรักษาพระโรคซึ่งเกิดขึ้นจากการทรงงาน…
เหตุการณ์สําคัญที่จะตามมาหลังจากเสด็จกลับแล้วก็คือที่กรุงเทพฯ กําหนดจะมีสมโภชใหญ่ในงานพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก เป็นงานเฉลิมฉลองการที่พระพุทธเจ้าหลวงทรงครองราชย์มาบรรจบครบ 40 ปี เป็นรัชสมัยที่ยาวนานที่สุด…สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธทรงเป็นแม่งานทั้งหมด ได้ทรงปรึกษาในที่ประชุมเสนาบดี ในอันที่จะสร้างถาวรวัตถุเป็นที่ระลึกถวายแด่พระปิยมหาราช เพื่อเป็นการถวายความจงรักภักดี ได้เห็นพ้องที่จะบอกบุญต่อสาธารณชนให้พสกนิกรทุกหมู่เหล่าได้มีส่วนร่วมด้วยในการบริจาคเงินเพื่อสร้างอนุสรณ์สถานนั้น เงินบริจาคที่ได้รับเป็นจํานวนมากถึงล้านกว่าบาท เกินกว่าราคาค่าใช้จ่ายจริงถึงห้าเท่า!
เป็นที่รู้กันอยู่ในระหว่างผู้ตามเสด็จประพาสยุโรปในครั้งนั้น ทรงปรารภว่าถ้าได้มีพระบรมรูปของพระองค์ตั้งไว้ในสนามหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมที่กําลังก่อสร้างนั้นก็จะเป็นสง่างามดี คณะกรรมการจึงได้ประชุมปรึกษากันที่จะตอบสนองพระราชประสงค์ดังกล่าว โดยให้มีการสรรหาโรงหล่อที่มีชื่อเสียงสักแห่งหนึ่งในทวีปยุโรป เพื่อสร้างพระบรมรูปให้ทันการ แรงบันดาลใจได้ก่อเกิดขึ้นอย่างน่าติดตามในอิตาลี แต่ในเวลาต่อมามีการตกลงที่จะสร้างขึ้นในกรุงปารีสแทน โดยโรงหล่อซูสแฟร์ได้รับเลือกเป็นเอกฉันท์ด้วยราคาที่กะทัดรัดเป็นเงิน 45,820 ฟรังก์ และที่สําคัญสามารถสร้างให้แล้วเสร็จทันใจในเวลาเพียงสิบสองเดือนกับอีกสองสัปดาห์เท่านั้น
วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2450 สมเด็จพระปิยมหาราชเสด็จเป็นการส่วนพระองค์ไปที่โรงหล่อซูสแฟร์ ตรัสถึงบ้านช่างหล่อปารีสว่า…
“บ่าย 5 โมงถึงได้ออกจากเรือนไปดูรูปม่ที่ช่างปั้นจะทำรูป ทางอยู่ข้างจะไกลไปด้วยรถมอเตอร์คาร์ ทางแขวงมองต์ปาร์นัสส์ ซึ่งเป็นตอนคนจนอยู่ ที่ซึ่งช่างปั้นอยู่นั้นเขาเรียกว่าถนนช่าง มีช่างเขียน ช่างปั้นอยู่แถบนั้นโดยมาเป็นที่เงียบ”
การค้นหาตำแหน่งของสถานที่จริงล้มเหลวลงในครั้งแรก แผนที่นำทางตามพระราชนิพนธ์ขาดตอนกะทันหัน เมื่อแขวงมองต์ปาร์นัสส์ที่ตั้งอยู่เดี๋ยวนี้ ได้แปรสภาพเป็นเมืองคนละแบบกันกับในปี 2450 มีตึกระฟ้า “มองต์ปาร์นัสส์พาร์ค” สูง 75 ชั้นขึ้นมาแทนที่ ประเพณีการสร้างอนุสาวรีย์ของกษัตริย์ผู้โด่งดังลดความนิยมลงจนหมดสิ้น โรงหล่อระดับแนวหน้าแทบทั้งหมดปิดตัวลงอย่างไร้ร่องรอย ความผันผวนทางการเมือง การสละราชสมบัติของราชวงศ์ในยุโรป และพิษเศรษฐกิจหลังมหาสงครามโลกเปลี่ยนแปลงค่านิยมของคนในสมัยหนึ่งไปสู่รสนิยมแบบจืดชืดของคนอีกสมัยหนังอย่างน่าเสียดาย
อนุสาวรีย์กษัตริย์ชาลเลอมาญจ์ หลุยส์ที่ 14 นักบุญชองดาร์ค หรือนโปเลียนบนหลังม้าพระที่นั่งในปารีส น่าจะบอกอะไรบางอย่างถึงความนิยมศิลปะแบบนี้สืบเนื่องมานานของชาวปารีเซียน การสํารวจจึงดําเนินต่อไปอีก คราวนี้ทดลองใช้แนวทางใหม่โดยสืบจากประติมากรรมรุ่นหลังๆ ประเภทรูปปั้นนักการเมือง แม่ทัพ และนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งพอจะสื่อกันได้บ้างกับความเป็นไปในสมัยปัจจุบัน วิธีนี้ดูจะได้ผล ช่างฝีมือที่ยังประกอบอาชีพอยู่ชี้ทางสาวขึ้นไปถึงย่านใหม่ชานกรุงปารีส ในตําบลที่มีชื่อว่า “อาคเคย” ณ ที่นี่เป็นที่ตั้งแห่งใหม่ของโรงหล่อเจ้าของตํานานเดิม โดยยังสามารถอนุรักษ์ยี่ห้อเก่าที่ชื่อ “โรงหล่อพี่น้องตระกูลซูสแฟร์” ทุกตัวอักษร บทพิสูจน์ปริศนาสองข้อจึงจบลงอย่างปาฏิหาริย์ เป็นเรื่องเหลือเชื่อที่โค้ดลับไม่กี่คำจะบอกลายแทงนําไปพบขุมทรัพย์ทางโบราณคดีที่ซุกซ่อนอยู่ในมหานครที่ ทันสมัยที่สุดในยุโรปได้ แล้ววันสําคัญก็มาถึง
ผู้เขียนยืนถือจดหมายตอบรับการเข้าพบเจ้าหน้าที่ซูสแฟร์หน้าโรงหล่ออย่างสั่นเทา ตอนนั้นไม่แน่ใจว่าสั่นเพราะลมเย็นเฉียบที่พัดมา หรือเกรงว่าจะไม่ได้เข้าไป สั่นกระดิ่งสักพัก คุณแอ็กเนส (Agnes Haligon) เลขานุการ ออกมารับแล้วนํา ไปพบคุณเอริค (Eric L. Gibbard) ผู้จัดการอาวุโสของที่นี่ และสิ่งที่ท่านวางเตรียมไว้ให้ชมทันทีคือ หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส ฉบับหนึ่งชื่ออิลลุสตรา ซีอง ปี ค.ศ. 1908 ฉบับลงข่าวการที่ ร.5 มีพระราชดําริให้หล่อพระบรมรูปของพระองค์ขึ้นที่ปารีส พร้อมผนวกสาระอื่นๆ อาทิ ความนิยมและชื่อเสียงของปฏิมากรปารีเซียนผู้หล่อรูปเหมือนของบุคคลสําคัญในโลกรวมถึงกษัตริย์แห่งสยามจากแดนไกล หมายถึงว่าการหล่อแบบพระบรมรูปผู้มีชื่อเสียงครั้งนี้ก็เป็นข่าวดังไปทั่วยุโรปด้วย
คุณเอริคเล่าว่า ซูสแฟร์ดําเนินกิจการมากว่า 180 ปีแล้ว และย้ายที่ตั้งมาสามครั้ง จนมาอยู่ที่นี่ อันเนื่องจากการเวนคืนที่ดินเพื่อพัฒนาเมืองหลวงในหลายสมัยที่ผ่านมา ซูสแฟร์เป็นชื่อของตระกูลช่างหล่อเก่าแก่ที่สุดในเมืองนี้ ที่ยืนหยัดฝ่าคลื่นลมแห่งความเปลี่ยนแปลงมานาน แม้แต่แบบแผนของศิลปกรรม ก็เปลี่ยนตามไปด้วย ค่านิยมในสรีรวิทยาที่คนเคยสนใจแปรผัน เป็นความนิยมในศิลปะแบบแอ๊บสแทร็กต์ที่เข้าใจได้ยากกว่า ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าใจ แต่ทางโรงหล่อก็จําต้องรับงานใหม่ๆ เหล่านี้ นอกเหนือไปจากซ่อมแซมงานคลาสสิครุ่นเก่าที่ทยอยส่งคืนมาซ่อมไม่ขาดระยะ เป็นหนทางอยู่รอดของโรงหล่อในวันนี้
ยังมีเกร็ดพงศาวดารที่น่ารู้เกี่ยวกับการเสด็จเยือนของ ร.5 ที่โรงหล่อแห่งนี้คือ ในชั้นแรกต้องเสด็จมาฉายพระรูปพระพักตร์ตรงและข้างทั้งสี่ด้าน เพื่อนายช่างจะได้นําแบบเหล่านี้ไปทดลองปั้นก่อน พระรูปมุมแปลกทั้งสี่แผ่นนี้ผู้เขียนได้มีโอกาสเห็นที่นี่ด้วย วันที่เสด็จไปฉายพระรูป พระราชทานเล่าติดตลกว่า…
“บ่ายสี่โมงจึงได้ออกจากสถานทูตไปถ่ายรูปก่อน การถ่ายรูปนี้เพื่อทําสเตชู (statue แปลว่ารูปปั้น) เขาขอให้ถ่ายสี่ด้านแลอยากจะให้แต่งยูนิฟอม แต่เผอินไม่อยู่ เขาเอาไปทําตัวอย่างตัดยูนิฟอมใหม่ ที่ซึ่งถ่ายรูปนี้มันขึ้นไปอยู่ถึงชั้นที่ 7 นับแต่พื้นดินขึ้นไปเป็นชั้นหลังคา ถ้าไม่ขึ้นไปอยู่เช่นนั้นไม่มีแดด แต่รอดตัวที่มีลิฟต์ ตุ๊กกับจรูญไปด้วย ถูกขึ้นกระไดเกือบตาย”
ธรรมเนียมการสร้างพระบรมรูปทรงม้านั้น มักจะทํากันก็ต่อเมื่อกษัตริย์พระองค์นั้นเสด็จสวรรคตแล้ว มีแบบแผนเป็นที่รู้กันว่า หากสวรรคตในสมรภูมิหรือเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในการรบ แบบของม้าจะยกเท้าหน้าให้แลดูผาดโผนโจนทะยาน แต่ในกรณีของ ร.5 เป็นการสร้างในขณะที่ทรงพระชนมชีพอยู่ จึงปั้นให้ม้าพระที่นั่งยืนนิ่งไม่ยกขา เช่นเดียวกับกษัตริย์แห่งสเปนลูกค้าคนดังพระองค์หนึ่งของซูสแฟร์
ทรงเล่าถึงเทคนิคการปั่นอย่างละเอียดว่า “โรงที่ปั้นนั้น เขาปั้นงาม แต่รูปข้างบนนั้นใช้ไม่ได้ ผอมโซ ด้วยเอารูปกิงออฟสเปนมาเป็นตัวอย่าง เรื่องปั้นรูปนี้จะทําตามรูปถ่ายอย่างเดียวไม่ได้ เพราะรูปมันนูนขึ้นมาไม่พอ แต่ช่างปั้นมันดีเสียจริงๆ พอพ่อลงไปนั่ง มันฉวยดินปั๊ปก็แตะหัวก่อน แก้หัวเสร็จ แล้วจึงมาแก้ที่หน้า ถมแก้มที่ลึกให้ตื่น เมื่อแรกพ่อออกจะฉุนๆ ว่าต้องไปนั่งแต่พอเห็นมันแตะสองสามแตะ รู้ทีเดียวว่า มันดีเลยหายฉุน นั่งดูเสียเพลิน เขาขอชั่วโมงเดียวพ่อนั่งให้กว่าสองชั่วโมง พ่อออกจะยอมเสียแล้วว่าฝีมือฝรั่งเศสมันดี”
จากลายพระหัตถ์ข้างบนนี้พอสรุปได้ว่า แรงบันดาลใจในแบบพระบรมรูปทรงม้านี้ถึงมีจริงมาตั้งแต่อิตาลี เรื่อยมาจนถึงที่ทรงพบในฝรั่งเศสตอนหลัง แต่ท้ายที่สุดพอจะปั้นเข้าจริงๆ ช่างปั้นกลับเสนอให้ใช้แบบของกษัตริย์สเปนเป็นตัวอย่างแทน ทรงผิดหวังอยู่ไม่น้อย เพราะผลออกมาไม่ถูกพระทัย แต่ภายหลังก็ถูกแก้ไขจนเป็นที่เรียบร้อย ประติมากรรมชั้นยอดที่ ร.5 ดํารัสชมว่า “พอเห็นมันแตะเข้าสองสามแตะ รู้ทีเดียว ว่ามันดี” นั้นเป็นฝีมือของนายยอร์จ เซาโล ผู้ถวายการปั้นเฉพาะพระบรมรูปจนดูเหมือนจริง ส่วนม้าพระที่นั่งที่ดูมีชีวิตนั้นเป็น ฝีมือของนายช่างชื่อโคลวิส มาสซอง ทรงออกพระโอษฐ์ชมว่า “นั่งดูเพลิน เขาขอชั่วโมงเดียวพ่อนั่งให้กว่าสองชั่วโมง”
เมื่อการสนทนาใกล้ยุตินั้น ผู้เขียนนําไปรษณียบัตรเก่าฉบับหนึ่งที่ค้นเจอในยุโรปเมื่อหลายเดือนก่อน และตั้งใจนํามาให้ทางนี้ชม เป็นภาพ ร. 5 ทรงเปิดแพรคลุมอนุสาวรีย์ที่ทางซูสแฟร์ ปารีสเพิ่งจัดส่งมาถึง ท่ามกลางคลื่นมหาชนนับแสนที่มาชุมนุมกัน เพื่อเป็นสักขีพยานในสัญลักษณ์ใหม่แห่งความเลื่อม ใสศรัทธา