นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง และประธานคณะอนุกรรมการ MIU วิชาการและติดตามประเมินผลถ่ายโอนภารกิจ สอน./รพ.สต. ให้แก่ อบจ. กล่าวว่า จากการติดตามประเมินผลการถ่ายโอนภารกิจ สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) พบว่า บุคลากรกว่า ร้อยละ 40 ที่โอนย้ายไปมีความต้องการขอย้ายกลับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
โดยมีสาเหตุมาจาก 1.ระบุว่าอยากให้โครงสร้าง อบจ.มีความพร้อมมากกว่านี้ถึงจะทำการถ่ายโอน และให้สมัครใจย้าย ไม่ใช่บังคับสมัครใจโดยนำกฎหมายมาอ้าง 2.ภาระงานเพิ่มมากขึ้น บุคลากรไม่เพียงพอต่องาน ความไม่มั่นคงทางการเงินของ รพ.สต. ทำให้ต้องหาเงินเข้า รพ.สต.ด้วย ขณะที่บุคลากร อบจ.ไม่เพียงพอและไม่มีความรู้ด้านสาธารณสุข ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ 3.ความก้าวหน้าและความมั่นคงในการทำงาน โดยลูกจ้างมีโอกาสก้าวหน้าค่อนข้างยากและไม่มีความชัดเจน การปรับ เงินเดือนขึ้นน้อยกว่า เงินเวรน้อยกว่าสวัสดิการและเงินค่าตอบแทนต่างๆได้ไม่เท่าเดิม อีกทั้งยังมีปัญหาสิทธิการรักษาพยาบาลที่ได้ไม่เท่าเดิม สิทธิการรักษาของ สธ.มีความมั่นคงมากกว่า อปท.
นพ.รุ่งเรืองกล่าวต่อว่า 4.ระบบการทำงานของ อบจ.ไม่เอื้อต่อการทำงานของ รพ.สต. แนวทางการปฏิบัติงานยุ่งยากซับซ้อน ขั้นตอนมาก ขณะที่ สธ.มีระบบการทำงานที่ไม่ซับซ้อน อีกทั้งมิใช่การถ่ายโอนลงพื้นที่ตามเจตนารมณ์การกระจายอำนาจ และ 5.ความรู้สึกหลังการโอนย้าย โดยระบุว่าไม่ชอบระบบทางการเมือง แนวนโยบายก่อนกับหลัง ถ่ายโอนไม่สามารถทำตามได้จริง และเห็นว่างานสาธารณสุขควรอยู่กับสาธารณสุข.
ที่มา:thairath