มีผล 17 ม.ค. 66 โปรดเกล้าฯ กฎหมายปราบโกงออนไลน์ โทษคุก 5 ปี ปรับ 5 แสน

มีผล 17 ม.ค. 66 โปรดเกล้าฯ กฎหมายปราบโกงออนไลน์ โทษคุก 5 ปี ปรับ 5 แสน

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พ.ร.ก.ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 2566 โทษสูงสุดคุก 5 ปี ปรับ 5 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ มีผลตั้งแต่ 17 ม.ค. 66 แก้ปัญหาประชาชนถูกฉ้อโกงออนไลน์

วันที่ 16 มีนาคม 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระบรมราชโองการ พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ไว้ ณ วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2566 เป็นปีที่ 8 ในรัชกาลปัจจุบัน โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ มีเนื้อหาสาระโดยคร่าวว่า

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พระราชกำหนดนี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 32 มาตรา 36 มาตรา 37 และมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพบุคคลตามพระราชกำหนดนี้ เพื่อคุ้มครองประชาชนผู้สุจริตซึ่งถูกหลอกลวงจนสูญเสียไปซึ่งทรัพย์สิน โดยผ่านโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งแต่ละวันมีผู้ถูกหลอกลวงจำนวนมากและมีมูลค่าความเสียหายสูงมาก สมควรมีมาตรการเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมประเภทนี้ให้หมดไปโดยเร็ว อันเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเสี่ยงได้ เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ และความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการตราพระราชกำหนดนี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้โดยพระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

ในส่วนของมาตรา 4 ระบุว่า เพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีหรืออาจมีการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจ มีหน้าที่เปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีและธุรกรรมของลูกค้าที่เกี่ยวข้องในระหว่างสถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจนั้นผ่านระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูล ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และธนาคารแห่งประเทศไทย เห็นชอบร่วมกัน

เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ผู้ให้บริการ โทรคมนาคมอื่น หรือผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่เปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลการให้บริการที่เกี่ยวข้องระหว่างกันผ่านระบบ หรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เห็นชอบร่วมกัน

เมื่อมีการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองแล้ว ให้ผู้เปิดเผย หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลแจ้งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือดีเอสไอ แล้วแต่กรณี และสำนักงาน ปปง. ทราบโดยทันที และเมื่อได้รับแจ้งแล้ว ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดีเอสไอ หรือสำนักงาน ปปง. แล้วแต่กรณี มีอำนาจนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์เพื่อป้องกัน ปราบปราม หรือระงับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้

ขณะที่มาตรา 6 มีเนื้อหาว่า ในกรณีที่สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจพบเหตุอันควรสงสัยเองหรือได้รับข้อมูลจากระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลตามมาตรา 4 ว่าบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ใดถูกใช้หรืออาจถูกใช้ทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่ระงับการทำธุรกรรมและแจ้งสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจที่รับโอนถัดไป พร้อมทั้งนำข้อมูลเข้าสู่ระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลตามมาตรา 4 เพื่อให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจผู้รับโอนทุกทอดทราบ และระงับการทำธุรกรรมดังกล่าวไว้ทันทีเป็นการชั่วคราวไม่เกินเจ็ดวันนับแต่วันที่พบเหตุอันควรสงสัยหรือได้รับแจ้ง แล้วแต่กรณี เพื่อตรวจสอบความถูกต้องแท้จริง และแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจดำเนินคดีอาญาหรือเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดำเนินการตรวจสอบ

ในกรณีที่สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจได้รับแจ้งเหตุตามวรรคหนึ่งจากเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจดำเนินคดีอาญาหรือเลขาธิการคณะกรรมการ ปปง. ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่ระงับการทำธุรกรรม พร้อมทั้งนำข้อมูลเข้าสู่ระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลตามมาตรา 4 เพื่อให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจผู้รับโอนทุกทอดทราบ และระงับการทำธุรกรรมดังกล่าวไว้ทันที แล้วแจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ

เมื่อเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจดำเนินคดีอาญาหรือเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินตรวจสอบแล้ว ปรากฏพยานหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์นั้นถูกใช้ในการกระทำความผิด ให้ดำเนินการตามกฎหมายภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการระงับการทำธุรกรรมตามวรรคหนึ่ง หรือแจ้งสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจตามวรรคสอง หากไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่เชื่อได้ว่าบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์นั้นถูกใช้ในการกระทำความผิด ให้แจ้งผลการตรวจสอบให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจทราบเพื่อยกเลิกการระงับการทำธุรกรรมต่อไป

เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามวรรคสามแล้ว หากเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจดำเนินคดีอาญาหรือเลขาธิการ ปปง. ไม่แจ้งผลการดำเนินการ ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจยกเลิกการระงับการทำธุรกรรมนั้น

มาตรา 7 กรณีที่สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจได้รับแจ้งจากผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ถือบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ว่า ได้มีการทำธุรกรรมโดยบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวและเข้าข่ายเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวมีหน้าที่ระงับการทำธุรกรรมนั้นไว้ชั่วคราว พร้อมทั้งนำข้อมูลเข้าสู่ระบบหรือกระบวนการปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลตามมาตรา 4 เพื่อให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจ ผู้รับโอนทุกทอดทราบ และระงับการทำธุรกรรมดังกล่าวไว้ทันที และแจ้งให้ผู้เสียหายไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายใน 72 ชั่วโมง เมื่อมีการร้องทุกข์แล้ว ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับการทำธุรกรรมไว้ทราบ และให้พนักงานสอบสวนพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับบัญชีเงินฝากและบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งความร้องทุกข์ หากไม่มีคำสั่งให้ระงับการทำธุรกรรมไว้ต่อไปภายในเวลาดังกล่าว ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจยกเลิกการระงับการทำธุรกรรมนั้น

ในส่วนของการร้องทุกข์ในความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีจะกระทำต่อพนักงานสอบสวน ณ สถานีตำรวจแห่งใดในราชอาณาจักรหรือต่อกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีก็ได้ และจะร้องทุกข์โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ โดยให้ถือว่าเป็นการร้องทุกข์โดยชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และในการสอบสวนหรือดำเนินการเกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าว ให้พนักงานสอบสวนที่รับคำร้องทุกข์ไม่ว่าประจำอยู่ที่ใด หรือพนักงานสอบสวนที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนด เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบมีอำนาจสอบสวนและดำเนินการเกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าวได้ไม่ว่าความผิดนั้นจะเกิดขึ้น ณ ที่ใดในราชอาณาจักร

สำหรับบทลงโทษผู้กระทำความผิด มาตรา 9 ระบุว่า ผู้ใดเปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของตน โดยมิได้มีเจตนาใช้เพื่อตนหรือเพื่อกิจการที่ตนเกี่ยวข้องหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้หรือยืมใช้เลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตน ทั้งนี้ โดยประการที่รู้หรือควรรู้ว่าจะนำไปใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดทางอาญาอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 10 ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดทางอาญาอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 11 ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อหรือขายเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งลงทะเบียนผู้ใช้บริการในนามของบุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 12 การเปิดเผย การแลกเปลี่ยน การเข้าถึง ตลอดจนการเก็บ การรวบรวม หรือการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลตามพระราชกำหนดนี้ ไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แต่ผู้ได้รับหรือครอบครองข้อมูลจะเปิดเผยให้บุคคลอื่นซึ่งไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องทราบมิได้

อย่างไรก็ตาม ในท้ายของพระบรมราชโองการ ระบุเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันมีการใช้วิธีการทางเทคโนโลยีหลอกลวงประชาชนทั่วไปผ่านอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ จนทำให้ประชาชนสูญเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก และผู้หลอกลวงได้โอนทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดดังกล่าวนั้นผ่านบัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของบุคคลอื่นต่อไปเป็นทอดๆ อย่างรวดเร็ว เพื่อปกปิดหรืออำพรางการกระทำความผิด ซึ่งแต่ละวันประชาชนผู้สุจริตถูกหลอกลวงจำนวนมากและมีมูลค่าความเสียหายสูงมาก และการหลอกลวงดังกล่าวซึ่งเป็นการกระทำความผิดได้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างและ เป็นอันตรายร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในอันที่จะต้องมีมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ และความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้

ผู้นำเสนอข่าว

Lemon

Written by:

720 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *