จีดีพีไทยโตต่ำสุดในอาเซียน สศช.ลดเป้าขยายตัวปีนี้ซ้ำอีกเหลือแค่ 2.5%

จีดีพีไทยโตต่ำสุดในอาเซียน สศช.ลดเป้าขยายตัวปีนี้ซ้ำอีกเหลือแค่ 2.5%

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสแรกปี 67 ขยายตัว 1.5% ต่อเนื่องจากขยายตัว 1.7% ในไตรมาส 4 ปี 66 เมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว ขยายตัว 1.1% จากไตรมาส 4 ปี 66 ส่วนทั้งปี 67 คาดขยายตัว 2-3% มีค่ากลางที่ 2.5% ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ จากการขยายตัว 1.9% ในปี 66 แต่ลดลงจากการประมาณการครั้งก่อนที่คาดขยายตัว 2.7%

“จีดีพีไตรมาส 1/67 ที่ขยายตัวมาจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวสูงถึง 24.8% ผลักดันให้สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารขยายตัว 11.8%, ขนส่ง 9.4%, การค้า 4.3%, การเงิน 2.9% ขณะที่การบริโภคเอกชน ขยายตัว 6.9% ส่วนการบริโภครัฐ หดตัว 2.1% เช่นเดียวกับการลงทุนรวมที่ติดลบ 4.2% มาจากเอกชน ขยายตัว 4.6% แต่ลงทุนภาครัฐ ติดลบถึง 27.7% เพราะไตรมาส 1 งบประมาณรายจ่ายปี 67 ยังไม่สามารถใช้ได้ ต้องใช้งบไปพลางก่อน ส่วนที่หดตัวยังมีส่งออก 2% ภาคเกษตร 3.5%, ภาคอุตสาหกรรม 3%, ก่อสร้าง 17.3%”

สำหรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าไทยไตรมาสแรก มี 9.370 ล้านคน คิดเป็น 92.01% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในช่วงก่อนโควิด-19 เพิ่มขึ้น 43.5% ส่งผลให้มูลค่าบริการรายรับด้านการท่องเที่ยว อยู่ที่ 371,000 ล้านบาท ส่วนคนไทยเที่ยวไทย 67.99 ล้านคน/ครั้ง สร้างรายได้ 232,000 ล้านบาท ส่งผลให้มีรายรับรวมจากการท่องเที่ยว 603,000 ล้านบาท มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 75.27% สูงสุดในรอบ 20 ไตรมาส

ขณะที่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจนั้น อัตราว่างงานอยู่ที่ 1.01% เงินเฟ้อทั่วไปลดลง 0.8% เงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 0.4% ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน มี.ค.67 อยู่ที่ 2,234 ล้านเหรียญฯ และหนี้สาธารณะ 11.47 ล้านล้านบาท คิดเป็น 63.4% ของจีดีพี “ส่วนการส่งออกจะเริ่มดีขึ้น โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่ หากเร่งทำตลาด และปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม เห็นได้จากการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงต่อเนื่อง 6 ไตรมาส คาดการลดลงของการส่งออก มาจากโครงสร้างส่งออกสินค้าไทย มีสัดส่วนสินค้าไฮเทคน้อยมากเมื่อเทียบประเทศอื่น เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม จีน เกาหลีใต้ ยกเว้นอินโดนีเซีย”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากเทียบจีดีพี ไตรมาส 1 ของประเทศอื่นในอาเซียน พบว่า ขยายตัวสูงกว่าไทยทั้งสิ้น โดยเวียดนาม ขยายตัว 5.7%, ฟิลิปปินส์ 5.7%, มาเลเซีย 4.2%, อินโดนีเซีย 5.1%, สิงคโปร์ 2.7% ส่วนเอเชียตะวันออก จีน ขยายตัว 5.3%, เกาหลีใต้ 3.4%, ไต้หวัน 6.5%, ฮ่องกง 2.7% มีเพียงญี่ปุ่นติดลบ 0.2% นอกจากนี้ สหรัฐฯขยายตัว 3%, สหภาพยุโรป 0.4% สหราชอาณาจักร 0.2%

นายดนุชากล่าวว่า การที่ สศช.ลดประมาณการเศรษฐกิจปีนี้จากเดิม 2.7% มาที่ 2.5% มาจากความเสี่ยงของปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ ทั้งกีดกันการค้า ขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ความผันผวนของเศรษฐกิจ-การเงินโลก โดยสงครามการค้าพุ่งเป้าที่จีนเป็นหลัก หากถูกกีดกัน จีน อาจนำสินค้ามาทุ่มตลาดในไทย ขณะที่ สศช.คาดการณ์ ปี 67 เศรษฐกิจโลกขยายตัวเพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อน จาก 2.7% เป็น 2.9% โดยสหรัฐฯจาก 1.8% เป็น 2.4%, สหภาพยุโรป 0.6% แต่ญี่ปุ่น 0.8% เท่าเดิม ส่วนจีน เพิ่มจาก 4.3% เป็น 4.5%

“สำหรับเงินดิจิทัล หากทำได้ตามเป้าหมายคือไตรมาส 4 ปี 67 จะช่วยผลักดันให้จีดีพีขยายตัวได้เพิ่มอีก 0.25% จากที่ประมาณการไว้ที่ 2.5% โดยอาจมีการใช้เงิน 200,000 ล้านบาท ในไตรมาส 4 จากทั้งหมด 500,000 ล้านบาท มีเงื่อนไขใช้ได้ 6 เดือน”.

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/

ผู้นำเสนอข่าว

Hnoy

Written by:

3,444 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You May Have Missed