“โอภาส” หวังยกระดับสาธารณสุขไทย ปั้นศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก-ร.ร.แพทย์

“โอภาส” หวังยกระดับสาธารณสุขไทย ปั้นศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก-ร.ร.แพทย์

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวตอนหนึ่งในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการผลิตแพทย์ของโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทร่วม 16 มหาวิทยาลัย ว่า ความฝันของตนคือ อยากให้โรงพยาบาลศูนย์เป็นศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก โดยมี 3 วัตถุประสงค์ที่กระทรวงสาธารณสุขคาดหวัง คือ 1.หากมีศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาอยู่ในพื้นที่อย่างเชียงใหม่ เราสามารถดึงคนในพื้นที่ ฝึกนักศึกษาแพทย์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นๆ เพื่อให้กลับมาเป็นแพทย์ประจำอยู่ในจังหวัดหรือบ้านเกิดตัวเองจะอยู่ได้นาน ซึ่งโรงพยาบาลในสังกัดอย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง สามารถเปิดเป็นศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษา หรือร่วมมือกับคณะแพทย์เพื่อให้เด็กในท้องถิ่นได้เรียนได้ฝึกอบรมและกลับมาดูแลรักษาคนในพื้นที่ได้ 2.การที่อาจารย์แพทย์ได้มาช่วยเปิดการเรียนการสอน จะทำให้เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจและตั้งใจหาความรู้เพิ่มเติม และ 3.ประเทศไทยมีแหล่งเรียนรู้แหล่งวิจัยทางคลินิกที่ใหญ่มาก ตรงนี้จะทำให้อุตสาหกรรมการแพทย์ชั้นสูงเป็นไปอย่างก้าวกระโดด จึงหวังว่าศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาและโรงเรียนแพทย์จะเป็นแหล่งต่อยอด รวมไปถึงเป็นศูนย์วิจัยทางคลินิกระดับโลกได้ในอนาคต

นพ.โอภาสกล่าวอีกว่า นโยบายสำคัญของ สธ.ที่สื่อสารไปยังโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ คือ การยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ว่า การยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ หมายถึงการยกระดับการบริการของประชาชน ส่วนบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ในส่วนโรงพยาบาลในสธ.ได้ปรับข้อมูลเป็นดิจิทัล และการเชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมดของ สธ.ไปอยู่ในระบบคลาวด์ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญของระบบสาธารณสุข โดยขณะนี้เข้าใจว่ามหาวิทยาลัยสุราษฎร์ธานีได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลกับโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาแล้ว ส่วนเรื่องการยกระดับบริการประชาชนนั้น สธ.ได้กำหนดการให้บริการไว้ 4 ระดับ คือ 1.การปรับโฉมโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวง อย่างโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ขณะนี้หลายโรงพยาบาลมีการดำเนินการแล้ว เช่น โรงพยาบาลน่าน เชียงราย ลำปาง เป็นต้น 2.การยกระดับการให้บริการด้วยหัวใจ อย่าง CareD+ 3.ยกระดับเทคโนโลยีต้องมีเครื่องมือที่ทันสมัย และ 4.เรื่องกำลังคน การเงิน และการเชื่อมระบบข้อมูลเพื่อตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชน ทั้งนี้ ยังมีตัวชี้วัดที่สำคัญที่จะต้องทำร่วมกันคือ การอัปเกรดอายุขัยคนไทยให้เพิ่มขึ้นอย่างน้อยปีละ 0.5-1 ปี ในทุกปี.

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/

ผู้นำเสนอข่าว

Hnoy

Written by:

3,490 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *