โลกแรงงานอาเซียนยุคดิจิทัล

โลกแรงงานอาเซียนยุคดิจิทัล

ดร.นครินทร์ อมเรศ ฝ่ายยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างองค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์

จำนวนแรงงานของแต่ละประเทศเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญในระบบเศรษฐกิจ และเป็นสาเหตุหนึ่งให้เกิดการย้ายฐานการผลิตมายังประเทศกำลังพัฒนาที่มีความได้เปรียบด้านปริมาณและต้นทุนแรงงาน ภูมิภาคอาเซียนเองถือเป็นพื้นที่สำคัญที่มีจุดแข็งด้านกำลังแรงงานจึงมีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลกมาโดยตลอด

ในวันนี้ขอแลกเปลี่ยนมุมมองของโลกแรงงานอาเซียนในยุคดิจิทัล โดยเก็บตกเนื้อความจากงานสัมมนา Regional Seminar on Effective Employment Services in ASEAN : Challenges in the Digital Economy ที่กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานเป็นเจ้าภาพการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านแรงงานร่วมกับสำนักงานเลขาธิการอาเซียน ในวันที่ 29 มิ.ย.66

ขอเริ่มด้วยประสบการณ์ตลาดแรงงานที่ผู้เขียนได้รับเกียรติเป็นวิทยากรและดำเนินรายการ ร่วมกับคุณสิริวัน ร่มฉัตรทอง เลขาธิการสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย และคุณวุฒิศักดิ์ ปฐมศาสตร์ อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายแรงงาน สำนักงานแรงงานในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเมื่อมองภาพรวมของตลาดแรงงานในภูมิภาคแล้ว พบว่า ทศวรรษที่ ผ่านมาประเทศส่วนใหญ่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอลงจากผลของจำนวนชั่วโมงการทำงานรวมที่ไม่ได้เติบโตเท่าในอดีต ขณะที่ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการลงทุนและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของภูมิภาคอาเซียนอยู่ในระดับไม่สูงนัก

แม้แต่ประเทศสิงคโปร์ที่มีอันดับดีที่สุดในภูมิภาคยังอยู่เพียงอันดับที่ 27 จาก 63 ประเทศทั่วโลกตามรายงาน World Talent Ranking 2022 ของ IMD ดังนั้น การปรับตัวของตลาดแรงงานในช่วงที่เศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย จึงต้องส่งเสริมระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเคลื่อนย้ายทักษะในภูมิภาค

ในส่วนของข้อเสนอเพื่อส่งเสริมบทบาทของกระบวนการจัดหางานของภาครัฐให้ยกระดับตลาดแรงงานในภูมิภาคนั้น ผู้เข้าร่วมสัมมนาจาก องค์การแรงงานระหว่างประเทศ, กระทรวงแรงงานไทย, Ministry of Manpower สิงคโปร์, Ministry of Labour, Invalids and Social Affairs เวียดนาม, Social Security Organization มาเลเซีย และ Department of Labor and Employment ฟิลิปปินส์ มีความเห็นสอดคล้องกันว่า หัวใจหลัก คือ การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในการปิด Gap ของทักษะเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่ให้บริการในกระบวนการจัดหางานในปัจจุบัน โดยสร้างความร่วมมือในการให้บริการจัดหางานของภาครัฐระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในการแลกเปลี่ยนระบบข้อมูลสารสนเทศด้านแรงงาน เพื่อให้ทราบสถานการณ์การจับคู่แรงงานและทักษะตามที่ตลาดแรงงานในภูมิภาคต้องการ รวมถึงแนวทางการให้บริการที่ประยุกต์ตอบสนองความต้องการของแรงงานระดับบุคคล ควบคู่กับการดูแลไม่ให้เกิดการหลอกลวงทุจริต

โดยสรุปแล้ว ยุทธศาสตร์หลักของภาครัฐที่จะเอื้อให้เกิดการพัฒนาโลกแรงงานอาเซียนในยุคดิจิทัล คือ การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการยกระดับการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศด้านแรงงานและแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ ภายใต้การสร้างความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างภาครัฐ นายจ้าง ลูกจ้างและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ผ่านกลไกการเจรจาทางสังคม หรือ Social Dialogue ทั้งในระดับยุทธศาสตร์ นโยบาย และปฏิบัติการซึ่งจะเอื้อให้ภาคเอกชนทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง และสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะแรงงาน สามารถปรับตัวได้เท่าทันความต้องการทักษะที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มีกระบวนการจ้างงานที่ยืดหยุ่นสำหรับนายจ้างและเป็นธรรมสำหรับลูกจ้าง และดำเนินกลยุทธ์ด้านแรงงานทั้งในและระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้กฎระเบียบที่ไม่เป็นภาระในทางปฏิบัติ.

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/

ผู้นำเสนอข่าว

Hnoy

Written by:

3,818 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *