สถานการณ์ผู้ป่วยจากโรคโควิด-19 ในเดือนพฤษภาคม ยังคงพุ่งขึ้นอีก โดยเมื่อวันที่ 12 พ.ค.เว็บไซต์กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อทางเดินหายใจที่สำคัญ อย่างโรคโควิด-19 ข้อมูลประจำสัปดาห์ที่ 19 ของปี 2568 (วันที่ 4-10 พ.ค.) มีผู้ป่วยรายใหม่ 16,662 คน (เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน ซึ่งอยู่ที่ 14,684 คน) เป็นผู้ป่วยนอก 15,163 คน ผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล 1,499 คน เสียชีวิต 6 คน (เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน ซึ่งเสียชีวิต 3 คน) รวมเสียชีวิตสะสม 21 คน กลุ่มอายุผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน โดยกลุ่มที่ป่วยสูงสุดคือกลุ่มอายุ 30-39 ปี จำนวน 3,706 คน กลุ่มอายุ 20-29 ปี จำนวน 3,225 คน กลุ่มอายุ 40-49 ปี จำนวน 2,781 คน
ด้าน รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กวิเคราะห์ถึงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ว่าสัปดาห์ที่ผ่านมาคือสัปดาห์ที่ 19 ช่วง 4-10 พ.ค.2568 มีเคสเพิ่มจากสัปดาห์ก่อนหน้าอย่างชัดเจน รวมแล้วมีผู้ป่วยที่ไปรักษา รพ. ทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก 16,607 ราย เสียชีวิต 6 ราย ในขณะที่สัปดาห์ที่ 18 ซึ่งมีเคส 14,680 ราย เสียชีวิต 3 ราย จะสังเกตเห็นว่า เสียชีวิตสูงขึ้น 2 เท่า และเคสเพิ่มกว่าเดิมเกือบ 2,000 ดังนั้น จึงยังเป็นขาขึ้น ไม่ใช่แนวโน้มลดลงอย่างที่บางแหล่งข่าวพยายามสื่อกัน สิ่งที่ต้องระวังในการดูข้อมูลคือการรายงานจำนวนรายสัปดาห์ จำเป็นต้องสรุปตอนที่ครบสัปดาห์ไปแล้ว จึงจะนำมาแปลผลได้ แต่หากเราได้รับข้อมูลระหว่างสัปดาห์ ย่อมทำให้แปลผลไปในทางที่ลดลง ทั้งๆที่ไม่ได้เป็นจริง
ขณะที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กว่า การติดเชื้อหรือวัคซีนที่เคยฉีด ร่างกายจะมีหน่วยความจำระดับเซลล์ต่อตัวไวรัส โดยเฉพาะการทำลายไวรัสในระดับเซลล์ โดยภูมิที่สร้างความจำไว้ให้กับเซลล์ โดยเฉพาะที่เกิดจากการติดเชื้อและหรือวัคซีน ทำให้การกำจัดไวรัสหลังการติดเชื้อได้ดีและเร็วขึ้น จึงเป็นการลดความรุนแรงของโรคลง ประชากรส่วนใหญ่เคยติดเชื้อแล้ว หน่วยความจำระดับเซลล์จึงมีความจำที่ดีมากต่อไวรัสโควิดไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใด ทำให้การติดเชื้อครั้งที่ 2 หรือครั้งหลังๆความรุนแรงจะลดลงตามลำดับ มีผู้ป่วยรายหนึ่งติดเชื้อแล้วถึง 7 ครั้ง จากการทำงานในหน่วยโควิด และโรคทางเดินหายใจ จึงมีการติดเชื้อซ้ำได้บ่อยและเห็นได้ชัดเจน การติดเชื้อครั้งแรกรุนแรงที่สุด และการติดเชื้อครั้งหลังๆ แทบจะไม่รู้เลยว่าเป็นโควิด-19 และจากการศึกษาของเรา การติดเชื้อครั้งที่ 2 จำนวนหลายร้อยคน เห็นได้ชัดเจนว่าความรุนแรงลดลง
ศ.นพ.ยงระบุอีกว่า ปัจจุบันบริษัทวัคซีน โควิด-19 จำนวนมากได้เลิกผลิตวัคซีนแล้ว ที่รู้ยังคงเหลืออยู่ 2 บริษัท ที่เป็น mRNA อยู่ 1 บริษัท และ protein subunit อีกหนึ่งบริษัท แต่การนำเข้าวัคซีนมาในประเทศไทยมีเพียงบริษัทเดียว และมีราคาแพงมากซึ่งหาฉีดได้ยากมาก เพราะโรงพยาบาลต่างๆส่วนใหญ่ไม่เอาเข้าโรงพยาบาล เพราะการเก็บรักษาค่อนข้างยาก ดังนั้น ความจำเป็นในการฉีดวัคซีนในประเทศไทย จึงมีน้อยมากๆ และเชื่อว่าต่อไปคงจะหาวัคซีนในประเทศไทยไม่ได้ โควิด-19 ในปัจจุบันถึงแม้จะพบผู้ป่วยได้มาก แต่ส่วนใหญ่อาการจะน้อยลง และดูแลรักษาเช่นเดียวกับโรคทางเดินหายใจ เมื่อไม่มีอาการก็ไปโรงเรียนได้ ไปทำงานได้ ไม่มีการกำหนดว่าจะต้องหยุดกี่วัน สิ่งสำคัญขนาดนี้คือการป้องกันทางด้านสุขอนามัย ด้วยการล้างมือ ใช้แอลกอฮอล์ ถ้าป่วยให้ใส่หน้ากากอนามัย เพื่อลดการแพร่กระจายของโรค และการให้ความรู้กับเด็กนักเรียนในการป้องกันโรคทางเดินหายใจ รวมทั้งโรคมือเท้าปากไปพร้อมๆกัน จึงมีความสำคัญมากกว่า
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/