เหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศไทยเมื่อบ่ายวานนี้ (28 มี.ค. 2568) ไม่เพียงสะท้อนเสี้ยววินาทีแห่งความเป็นความตาย ช่วงเวลาที่ “เปราะบาง” ที่สุดในชีวิตของใครหลายๆ คน

แต่ยังเผยให้เห็นถึงความ “เปราะบาง” ของอาคารตึกสูงหลายแห่งทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑลจากความเสียหายต่างๆ ที่ถูกทิ้งร่องรอยไว้ให้เห็นหลายระดับหลังเกิดเหตุ
นี่เป็นครั้งแรกที่แผ่นดินไหวได้แสดงผลกระทบที่ชัดเจนในเมืองหลวงของไทย ซึ่งอาจเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ไปตลอดกาล
โครงสร้างที่เราเคยเชื่อมั่น ตึกสูงระฟ้าที่เคยเป็นสัญลักษณ์ของความมั่นคงและความก้าวหน้า วันนี้กลับปรากฏรอยแตกร้าว ทิ้งคำถามให้ค้างคาว่าเรายังจะเชื่อมั่นในความแข็งแกร่งของมันได้แค่ไหน? และทิศทางตลาดคอนโดมิเนียมไทยจะเป็นอย่างไร นับหลังจากนี้
“สวรรค์ลอยฟ้า ยิ่งสูง ยิ่งแพง” เมื่อแผ่นดินไหวสั่นคลอนมูลค่าคอนโดมิเนียม
ย้อนไปในอดีต คอนโดมิเนียมสูงเสียดฟ้าของกรุงเทพฯ ถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของความหรูหรา ขณะปัจจุบัน แม้ภาพรวมการอยู่อาศัยในคอนโดฯ ไม่ได้ถูกแทนค่าด้วยความหรูเหมือนเก่า แต่กลายเป็นที่อยู่อาศัยตลาดใหญ่สุดที่ตอบโจทย์ “คนเมือง” และสะดวกสบายมากที่สุด ทว่าความจริงที่ยังเลี่ยงไม่ได้ก็ คือ คอนโดฯ เกือบทุกแห่ง “ยิ่งสูง ยิ่งแพง” ทั้งในแง่ราคาและสถานะทางสังคม
แต่เมื่อแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เกิดขึ้น “สวรรค์ลอยฟ้า” เหล่านี้อาจกลายเป็นจุดเสี่ยงที่ผู้ซื้อและนักลงทุนอาจต้องทบทวนกันใหม่อีกครั้ง เจาะข้อมูลตลาดคอนโดฯ ในกรุงเทพ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอสังหาริมทรัพย์ไทย ปัจจุบันมีสต็อกรอขายมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 4.5 แสนล้านบาท และกำลังมีอาคารใหม่รอเข้าตลาดอีกมหาศาล จากสัญญาณซัพพลายคอนโดฯ ที่เพิ่งฟื้นความตายกลับมาอีกครั้งหลังวิกฤติโควิด-19
ข้อมูลรายงานของบริษัทที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์เผยว่า เพียงช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 ตลาดคอนโดฯ มีซัพพลายเปิดใหม่นับกว่า 5,000 ยูนิต ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนนับ 67%

แผ่นดินไหวรุนแรงในกรุงเทพฯ อาจไม่ใช่เรื่องไกลตัว
การแตกร้าวของอาคารสูงหลายแห่ง เหตุการณ์ลูกบ้านต้องลอยตัวปีนระเบียงคอนโดฯ หนีเพื่อเอาชีวิตรอด, วิ่งเท้าเปล่าเบียดเสียดกันลงจากตึกสูงนับ 30 ชั้น, ฝ้าเพดานหลุดร่อนเป็นโพรง, ทางเชื่อมโครงการดังที่อยู่ในตำแหน่งมูลค่าขายต่อแพงที่สุดในทองหล่อหักผ่ากลางให้เห็นคาตา, ผนังปูนแตกกระจายร้าวทั้งตึก, กระจกรอบอาคารทะลุแตกเสียหาย, น้ำในสระว่ายน้ำบนดาดฟ้าทะลักกระเพื่อมเป็นน้ำตก, อาคารแฝดสูงโอนเอียงจนใจหาย ไหนจะโครงการดังเสาอาคารเปราะหักจนเห็นโครงสร้างภายใน

ต่างๆ เหล่านี้ นำไปสู่คำถาม “หลังจากนี้ คนไทยจะยังกล้าซื้อคอนโดหรือไม่?” ไม่นับรวมผลกระทบอื่นๆ ที่จะตามมาอีก แม้หลังเกิดเหตุเจ้าของโครงการซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการอสังหาฯ แนวหน้านับ 10 บริษัท จะออกมาแถลงการณ์เรียกความเชื่อมั่นลูกบ้านและผู้บริโภค ยืนยันความปลอดภัยของอาคาร และเน้นย้ำถึงคุณภาพการก่อสร้างก็ตาม
ที่มา ไทยรัฐ