เล็งปรับเกณฑ์ เยียวยาแผ่นดินไหว “เจาะขยายโพรง” ตึก สตง. เร่งถึงชั้นใต้ดิน

เล็งปรับเกณฑ์ เยียวยาแผ่นดินไหว “เจาะขยายโพรง” ตึก สตง. เร่งถึงชั้นใต้ดิน

รองผู้ว่าฯ กทม.เผย ทีมค้นหาพบชิ้นส่วนศพหลายชิ้นพื้นที่บริเวณช่องบันไดโซนบีและโซนซี พร้อมทั้งวางแผนร่วมกับชุดปฏิบัติการเตรียมการค้นหาผู้สูญหายเพิ่มเติมคาดว่า ฝังอยู่ใน ชั้นใต้ดินของอาคารและลงมือเปิดขยายโพรงจุดที่ทีมกู้ภัยนานาชาติเคยชี้เป้าว่าน่าจะมีร่างผู้ที่ติดอยู่ในซากอาคารหลายราย โดยล่าสุดการรื้อซากปรักหักพังทุกโซนความสูงลดเหลือ 3.5 เมตร ส่วนการเยียวยาเงินช่วยเหลือค่าเสียหายที่อยู่อาศัยจากเหตุแผ่นดินไหว ใน กทม.มีผู้ยื่นคำร้องรวมประมาณ 4 หมื่นคน อีกทั้งกำลังพิจารณาดูว่าจ่ายเพิ่มอะไรได้อีก

กรณีกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ต่างรวบรวมพยานและเก็บหลักฐานเพื่อตรวจสอบหาสาเหตุอาคาร สตง.ใหม่ที่กำลังก่อสร้าง ย่านจตุจักร ถล่มเมื่อวันที่ 28 มี.ค. จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวจุดศูนย์กลางที่ประเทศเมียนมา พร้อมทั้งดำเนินคดีผู้ที่เกี่ยวข้อง เริ่มจากดีเอสไอจับกุมนายชวน หลิง จาง อายุ 42 ปี กรรมการบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทที่รับเหมาก่อสร้างในคดีนอมินี และหุ้นส่วนชาวไทย 3 คนเข้ามอบตัว หลังส่งฝากขังศาลอาญาทั้งหมดได้ประกันตัวไป โดยโครงการก่อสร้างตึก สตง.ส่อเค้าเห็นถึงความไม่โปร่งใส คณะพนักงานสอบสวน บช.น.ร้องขอ สตง.ให้เร่งส่งแบบ TOR หาวิศวกรคนแรก นำข้อมูลไปเปรียบเทียบกับกรมโยธาธิการ กทม.ที่ได้มา เพื่อรวบรวมพยานหลักฐาน ก่อนสรุปสำนวนคดีเรียกผู้เกี่ยวข้องทำตึก สตง.ถล่มมาดำเนินคดี ส่วนการรื้อซากอาคารค้นหาผู้สูญหายที่เหลือ กทม.ระบุจะเสร็จตามกำหนดภายในสิ้นเดือน เม.ย. คาดว่ามีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมฝังอยู่ที่ชั้นใต้ดิน ด้านการค้นหาผู้ประสบเหตุทั้ง 103 คน ยืนยันผู้เสียชีวิตได้แล้ว 62 คน บาดเจ็บ 9 คน และยังมีผู้สูญหายอยู่ระหว่างค้นหาอีก 32 คน ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าเมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 26 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การปฏิบัติการค้นหาผู้สูญหายที่ถูกทับอยู่ในซากตึก เจ้าหน้าที่กู้ภัย USAR จากหลายหน่วยงานยังระดมกำลังรื้อถอนซากปรักหักพัง พร้อมกับค้นหาร่างผู้สูญหายอย่างต่อเนื่องเข้าสู่วันที่ 30 ทั้งเครื่องจักรหนักและกำลังคนได้สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำงานทั้งวันทั้งคืน พร้อมทั้งฉีดพ่นละอองน้ำลดการฟุ้งกระจายของฝุ่น ช่วงเวลา 17.00 น. ของวันที่ 25 เม.ย. จนถึงเวลา 12.00 น. วันที่ 26 เม.ย. ทีมค้นหาพบชิ้นส่วนอวัยวะมนุษย์เพิ่มอีกหลายชิ้น บริเวณพื้นที่ช่องบันไดโซน B และโซน C เจ้าหน้าที่ได้นำร่างบางส่วนของผู้เสียชีวิต และชิ้นส่วนอวัยวะที่พบทั้งหมดส่งสถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ ตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์ยืนยันบุคคลอย่างเป็นทางการต่อไป เบื้องต้นผลการตรวจพบว่ามีชิ้นเนื้อ 3 ชิ้น ตรงกับชิ้นเนื้อที่เจ้าหน้าที่ได้เก็บนำส่งสถาบันนิติเวชฯ เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ตามลำดับบัญชีนำส่งร่างผู้เสียชีวิตและชิ้นส่วนอวัยวะ ลำดับที่ 170

มีรายงานว่า ชุดทีมค้นหาชิ้นส่วนอวัยวะ ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน เจ้าหน้าที่กู้ภัย USAR และสุนัข K-9 ได้แจ้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ว่า เมื่อเวลา 06.50 น. ขณะออกพบชิ้นส่วนกระดูก 1 ชิ้น บริเวณกองดินที่จุดทิ้งเศษซากวัสดุก่อสร้างซากตึก สตง. บริเวณหลังศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ได้ส่งให้สถาบันนิติเวชฯ ไปทำการตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์ยืนยันตัวบุคคลเรียบร้อยแล้ว

เวลา 10.20 น. วันเดียวกัน ที่กองอำนวยการร่วม ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์สำนักงานเขตจตุจักร น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายสุริยชัย รวิวรรณ ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร (สปภ.กทม.) แถลงความคืบหน้าการค้นหาผู้สูญหายและตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลยืนยันผู้เสียชีวิต น.ส.ทวิดา กล่าวว่า สามารถลดระดับความสูงของซากอาคารลงมาได้อีกประมาณ 2 เมตร ขณะนี้ความสูงของซากอาคารอยู่ที่ราว 3.5 เมตร คาดว่า 2-3 วันจะรื้อถึงบริเวณพื้นชั้น 1 ทุกโซนความสูงเหลือเกือบใกล้เคียงกัน บริเวณโซน C เป็นจุดที่ต่ำที่สุด สามารถนำชิ้นส่วนปูนออกได้เกือบหมดแล้ว เหลือเพียงเหล็กอยู่ระหว่างตัดและขนย้าย เครื่องจักรหนักได้เข้าทำงานทุกโซน เมื่อถึงชั้นใต้ดินเบื้องต้นได้วางแผนเจาะเปิดพื้นที่ โซน A B และ D ในลักษณะตัว L บริเวณพื้นที่ด้านหน้า เพื่อเข้าไปสู่ผนังกันดินชั้นใต้ดินของอาคาร วันนี้ตั้งเป้าขนย้ายซากปูนและเหล็กประมาณ 330 เที่ยว เปิดพื้นที่โดยรอบให้ได้โดยเร็วโดยเตรียมแผนสำหรับค้นหาชั้นใต้ดินไว้ล่วงหน้า วันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมาใช้น้ำมันไปประมาณ 6,600 ลิตร ในการขนย้าย พร้อมทั้งเครื่องจักรหนักที่ต้องใช้ทำงานตลอดเวลา

“ขณะนี้มีอยู่ 1 โพรง ที่เป็นจุดทางทีมกู้ภัยนานาชาติเคยระบุไว้ คาดว่าจะมีร่างผู้สูญหายอยู่หลายร่าง ตอนนี้ทางเจ้าหน้าที่พยายามเปิดโพรงให้กว้างขึ้นต้องใช้ความระมัดระวัง ขณะเดียวกันได้เตรียมค้นหาผู้สูญหายบริเวณชั้นใต้ดินที่มีความลึกประมาณ 4 เมตร อาจต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ เพราะต้องระวังในเรื่องของโครงสร้างและความปลอดภัย” รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

น.ส.ทวิดากล่าวถึงงบประมาณใช้จ่ายภารกิจรื้อซากตึกและค้นหาผู้สูญหายว่าเป็นสิ่งที่ กทม.ต้องทำ อาจมีค่าทำงานล่วงเวลาให้สำหรับเจ้าหน้าที่ ตอนนี้ยังไม่ได้คิดคำนวณเนื่องจากภารกิจยังดำเนินการอยู่ ที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจากการไฟฟ้าฯ และการประปาฯ ส่วนน้ำมันมีผู้ให้การสนับสนุนเช่นกัน รวมทั้งอาหาร น้ำและเครื่องดื่มต่างๆ ขณะนี้ กทม.ยื่นเรื่องขอขยายวัตถุประสงค์การใช้เงินทดรองราชการ เพื่อนำมาจ่ายการซ่อมแซมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรที่ชำรุดเสียหายจากการใช้งาน ส่วนงบฉุกเฉินของ กทม.มีการตั้งไว้สำหรับภัยที่เกิดขึ้นใน กทม. ยืนยันว่ายังสามารถบริหารจัดการได้เป็นหน้าที่ของ กทม. ทั้งงบประมาณและกำลังคน เมื่อถามว่า หากพิสูจน์ได้ว่าตึกถล่มเป็นการกระทำโดยประมาท กทม.จะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายย้อนหลังหรือไม่ น.ส.ทวิดากล่าวว่า หากมีการดำเนินคดีหาผู้กระทำผิดได้จริง น่าจะเป็นหนึ่งส่วนของความเสียหายอื่นมากกว่า กทม.ยังไม่ได้คิดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงหลักเกณฑ์ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินจากเหตุแผ่นดินไหวในส่วนของรัฐว่า ปัจจุบันมีประชาชนมายื่นขอรับเงินช่วยเหลือจำนวนมาก กทม.ได้ขยายระยะเวลาเพิ่มเติม กำหนดสิ้นสุด 2 พ.ค.68 ข้อมูลตอนนี้ทุกสำนักงานเขตมีผู้เข้ามายื่นเรื่องวันละประมาณ 1,000 คน รวมทั้งหมดประมาณ 40,000 คน ที่ยังเหลือ เช่น เขตจตุจักร เขตภาษีเจริญ เขตห้วยขวาง เขตธนบุรี เขตราชเทวี และเขตวัฒนา เนื่องจากมีอาคารสูง จำนวนมากเป็นที่พักอาศัย นำไปสู่กระบวนการพิจารณา จ่ายเงิน ต่อไปจะหารือกับกรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย และกรมบัญชีกลาง สามารถปรับกระบวนการยื่นหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ได้หรือไม่ โดยที่ไม่ต้องมายืนยันตัวตน แต่ต้องมียืนยันตัวตนเพื่อป้องกันการขโมยสิทธิ์

“ส่วนการช่วยเหลือค่าวัสดุซ่อมแซมที่อยู่อาศัยกำหนดให้จ่ายเงินช่วยเหลือตามที่ได้รับความเสียหายจริง ไม่เกินหลังละ 49,500 บาท การปรับจำนวนเงินเพิ่มนั้นกรมบัญชีกลางจะเป็นผู้พิจารณา และได้มีการศึกษาไว้แล้วอยู่ในขั้นตอนของการหารือว่า จะสามารถปรับแก้ได้เร็วที่สุดเมื่อไหร่ ทุกหน่วยงานเข้าใจถึงความไม่พอใจ และความไม่เหมาะสมของอัตราดังกล่าว ขอเวลาในการทำงานสักระยะ และขอดูว่าจะสามารถเพิ่มอะไรได้บ้าง” น.ส.ทวิดากล่าว

ต่อมาเวลา 18.00 น. ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์สำนักงานเขตจตุจักร สรุปยอดความคืบหน้าภารกิจกู้ภัยคนงานที่ประสบภัย และผู้สูญหายจากอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินหลังใหม่พังถล่ม ในวันที่ 26 เม.ย.68 มีจำนวนผู้ประสบเหตุ 103 คน แบ่งเป็น ผู้เสียชีวิตที่ได้รับการตรวจยืนยันอัตลักษณ์บุคคลเบื้องต้น 62 คน ผู้บาดเจ็บ 9 คน และยังมีผู้สูญหายอยู่ระหว่างค้นหา 32 คน ยอดคงที่เหมือนกับวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา

ล่าสุดเวลา 19.05 น. มีรายงานว่า ทีมค้นหาเจ้าหน้าที่กู้ภัย USAR ตรวจพบชิ้นส่วนร่างกายมนุษย์ 1 ชิ้น และโครงร่างมนุษย์สภาพไม่สมบูรณ์อีก 1ร่าง ที่บริเวณช่องบันได ในซากอาคาร สตง. บริเวณโซนD เจ้าหน้าที่ได้ทำการเคลื่อนย้ายชิ้นส่วนศพทั้ง 2 เคส ที่พบเพิ่มเติมส่งสถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ เพื่อทำการตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์ยืนยันตัวบุคคลให้ชัดเจนว่าเป็นผู้สูญหายที่อยู่ระหว่างค้นหาอีก 32 รายที่เหลือหรือไม่

ที่มา ไทยรัฐ

ผู้นำเสนอข่าว

yoko

Written by:

4,116 Posts

View All Posts
Follow Me :