เตือนภัย พนง.หยิบ “ขวดน้ำอัดลม” ใส่ถังน้ำแข็ง ระเบิดคามือ หมอแนะวิธีป้องกัน

เตือนภัย พนง.หยิบ “ขวดน้ำอัดลม” ใส่ถังน้ำแข็ง ระเบิดคามือ หมอแนะวิธีป้องกัน

เตือนภัยหน้าร้อน พนักงานหยิบ “ขวดน้ำอัดลม” ใส่ถังน้ำแข็ง ระเบิดคามือ เศษแก้วพุ่งบาดนิ้ว เย็บ 3 เข็ม แพทย์แนะวิธีป้องกัน

ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า Bee’z Alisa ได้โพสต์คลิปวิดีโอลงในกลุ่ม “พวกเราคือผู้บริโภค” เผยเหตุการณ์พนักงาน 2 คนกำลังนำขวดน้ำอัดลมที่จัดวางอยู่ใต้โต๊ะค่อย ๆ บรรจงเรียงลงในกล่องน้ำแข็ง แต่จู่ ๆ ขวดน้ำอัดลมขวดหนึ่งก็เกิดระเบิดขึ้นทันที ทำให้ทุกคนในร้านต่างพากันตกใจ งานนี้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วย

ผู้โพสต์ ระบุข้อความว่า “เตือนภัย! น้ำอัดลมขวดแก้วขวดใหญ่ขนาด 1 ลิตร ระเบิดภายในร้านเสียงดัง เศษแก้วบาดนิ้วเย็บ 3 เข็ม และเศษแก้วบาดบริเวณแขนหลายจุด บางส่วนกระเด็นโดนลูกค้าที่นั่งทานอาหารอยู่ อันตรายมาก ไม่ทราบสาเหตุการระเบิด อยากเตือนเพื่อน ๆ ในกลุ่ม

1.อากาศภายในร้านไม่ร้อน มีพัดลมหลายจุด บรรยากาศถ่ายเท ไม่ตั้งน้ำอัดลมตากแดด (ตั้งอยู่ใต้ถังน้ำแข็งอากาศค่อนข้างเย็น มีน้ำเย็น ๆ หยด ๆ )

2.ไม่มีการกระแทกจากร้าน ขวดวางเรียงแนวตั้งรอแช่

3.น้ำอัดลมไม่ได้เย็นจัด จนระเบิด เพราะไม่ได้แช่

4.ไม่ใช่ขวดค้างนาน เพิ่งสั่งจากเซลส์ 1-2 วันเท่านั้น

ขวดแก้วหนามาก แปลกใจทำไมระเบิด.. ฟาดเคราะห์ไม่โดนลูกตา แต่บาดตามแขนหลายแผล พนักงานในร้านเป็นคนโดน รีบพาไป รพ.ใกล้บ้าน”

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านตา แนะวิธีป้องกัน “ขวดน้ำอัดลมระเบิด”
นายแพทย์ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี เคยให้สัมภาษณ์ผ่าน สสส. ระบุว่า น้ำอัดลม เป็นเครื่องดื่มที่ประชาชนนิยมดื่มในช่วงกลางวัน โดยเฉพาะในช่วงอากาศร้อน เครื่องดื่มประเภทนี้ จะอัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปในขวด เพื่อให้มีความซ่า เพิ่มความสดชื่นแก่ร่างกาย

เมื่อขวดน้ำอัดลมถูกแดดหรืออยู่ในอากาศที่ร้อนจัด ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในขวดจะขยายตัว ดันฝาขวดและขวดแก้วแตก โดยเฉพาะโซดาจะมีปริมาตรก๊าซสูงกว่าน้ำอัดลมชนิดอื่น ๆ จึงมีโอกาสเสี่ยงเกิดการระเบิดได้ง่ายกว่าด้วย

โดยหากฝาจีบปิดขวดหรือเศษแก้วที่แตก กระเด็นใส่หน้า ถูกดวงตาซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญและมีความบอบบางมาก หากได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง มีบาดแผลที่ตาดำ หรือมีเลือดออกในช่องหน้าม่านตา อาจทำให้ตาบอดได้ หรืออาจระเบิดระหว่างเปิดฝาขวดใส่มือ ทำให้เกิดบาดแผล หรือนิ้วมือขาดได้เช่นกัน

ผู้ที่มีความเสี่ยงถูกแรงระเบิดจากขวดน้ำอัดลม ได้แก่

พนักงานในโรงงานผลิตน้ำอัดลมหรือโซดาบรรจุขวดแก้ว
พ่อค้า แม่ค้าร้านขายของชำ รถเร่
ประชาชนที่นิยมดื่มน้ำอัดลม
นายแพทย์ฐาปนวงศ์ กล่าวต่อไปว่า วิธีการป้องกันอันตรายดังกล่าว มีข้อแนะนำดังนี้

1.ในกลุ่มพนักงาน โรงงานผลิตน้ำอัดลมชนิดบรรจุในขวดแก้ว ฝาจีบ

ขอให้เพิ่มความระมัดระวัง โดยเฉพาะขณะเข็นรถขนย้ายลังบรรจุ ต้องระวังอย่าให้เกิดการกระแทก ควรใช้กระสอบป่านหรือผ้าหนาๆ คลุมบนลังน้ำอัดลมไว้ เพื่อป้องกันขวดหรือฝาจีบกระเด็นใส่หากขวดระเบิด
2.กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าร้านขายของชำ และประชาชนทั่วไป

ให้เก็บวางลังน้ำอัดลมไว้ในที่ร่ม
ในการแช่น้ำอัดลมขวดแก้วในตู้เย็นที่เย็นจัด ให้วางลักษณะตั้งขวด แต่หากวางขวดในลักษณะนอน ขอให้หันด้านที่มีฝาขวดไว้ด้านใน หันก้นขวดออกด้านนอก และไม่ควรแช่น้ำอัดลมในช่องแช่แข็งเป็นเวลานาน เนื่องจากความเย็นจะทำให้น้ำเกิดการแข็งตัวและขนาดใหญ่ขึ้น ขณะที่ขวดมีขนาดเท่าเดิม ทำให้เหลือพื้นที่ว่างน้อยลง ก๊าซจะอัดตัวกันแน่นขึ้น แรงดันภายในขวดสูง ทำให้ขวดระเบิดออก
นอกจากนี้ ขอแนะนำว่า ในช่วงที่มีอากาศร้อนอบอ้าว อย่าเปิดฝาขวดโดยใช้มือหรือใช้ฝาขวด 2 ขวดมางัดกัน และอย่าเปิดฝาทันที เพราะอาจทำให้ฝาขวดกระเด็นโดนตา มือ หรืออวัยวะอื่นๆ จนเกิดการบาดเจ็บได้

วิธีที่ดีที่สุด คือ ให้ใช้อุปกรณ์เปิดขวด ก่อนเปิดให้ใช้ผ้าขนหนูพันที่เปิดขวด และค่อย ๆ เปิดฝาขวดทีละน้อย เพื่อให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ค่อย ๆ ไหลออกมา ลดแรงดันของก๊าซในขวดลงก่อน

ที่มา:sanook

ผู้นำเสนอข่าว

ยัยแม่มด

Written by:

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *