เครื่องบินตกหลุมอากาศคืออะไร? มีความรุนแรงกี่ระดับ ทำให้เครื่องบินตกได้หรือไม่

เครื่องบินตกหลุมอากาศคืออะไร? มีความรุนแรงกี่ระดับ ทำให้เครื่องบินตกได้หรือไม่

วันที่ 21 พฤษภาคม 2567 เกิดเหตุเครื่องบินโดยสารของสายการบิน สิงคโปร์แอร์ไลน์ บนเครื่องบินโบอิ้ง 777-300ER เที่ยวบิน SQ321 ที่มีผู้โดยสารทั้งหมด 211 คน และลูกเรือ 18 คนบนเครื่อง ได้ลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต

โดยทางสิงคโปร์แอร์ไลน์ ได้ออกมาชี้แจงว่า เที่ยวบิน Singapore Airlines เที่ยวบิน SQ321 ที่เดินทางจากลอนดอน (Heathrow) มายังสิงคโปร์ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2024 พบ สภาพอากาศแปรปรวนรุนแรง ระหว่างเส้นทาง เครื่องบินจึงเบี่ยงไปยังกรุงเทพฯ และลงจอดเวลาที่สนามบินสุวรรณภูมิ เวลา 15.45 น. ตามเวลาท้องถิ่นในวันที่ 21 พฤษภาคม 2024

เครื่องบินตกหลุมอากาศคืออะไร
เวลาเครื่องบินบินอยู่กลางอากาศนั้น ต้องใช้แรงยกจากอากาศที่เคลื่อนที่ผ่านปีกไป ซึ่งโดยปกติแล้ว อากาศจะมีความหนาแน่นเท่ากัน และเคลื่อนที่สม่ำเสมอไปพร้อมกัน หลุมอากาศ (Turbulence) เกิดจากอากาศส่วนบน และอากาศส่วนล่าง มีความเร็ว และความหนาแน่นแตกต่างกัน เมื่อเครื่องบินเคลื่อนที่ผ่านอาจทำให้เกิดการกระทบ สั่นสะเทือน เหมือนตกหลุม จึงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้บ่อย เมื่อเครื่องบินโดยสาร บินเข้าไปใกล้รอยต่อระหว่างขอบนอกของ กระแสลมกรด (Jet Stream) กับบริเวณสภาพอากาศปกติ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้

ผู้โดยสารจะเหมือนตกลงไปจากระดับการบินเดิมเล็กน้อย บางครั้งเครื่องจะสั่น และหากรุนแรงมากอาจจะโดนสิ่งของหล่นใส่ จะเจ็บจากการกระแทก บางคนอาจจะโดนหนักถึงขั้นเสียชีวิต

อย่างไรก็ตาม การตกหลุมอากาศไม่สามารถทำให้เครื่องบินตก เพราะในความสูงระดับหนึ่ง เครื่องบินจะมีแรงยก นั่นคือลมช่วยพยุงไว้ แต่พอไต่ระดับลงมา อาจเจอกระแสลมอลวน ฉุดกระชากให้เครื่องบินกระดอนขึ้นแล้วกระแทกลง แต่มีโอกาสน้อยมากที่จะทำให้เครื่องบินตก เพราะเมื่อผ่านกระแสลมอลวนมาได้ เครื่องบินก็กลับมาอยู่ในสภาพปกติ กัปตันก็สามารถควบคุมเครื่องได้เหมือนเดิม

เครื่องบินตกหลุมอากาศเกิดขึ้นตอนไหน

  1. เกิดขึ้นเมื่อเครื่องบิน บินเข้าไปใกล้กับรอยต่อระหว่างขอบนอกของกระแสลมกรดกับบริเวณสภาพอากาศปกติ ซึ่งสาเหตุข้อนี้ไม่สามารถทราบล่วงหน้าได้ กระแสลมกรด (Jet Stream) คือ แถบกระแสลมแรงที่เคลื่อนที่ในเขตโทรโพพอส (แนวแบ่งเขตระหว่างชั้นโทรโพสเฟียร์กับชั้นสตราโตสเฟียร์) โดยพัดจากด้านตะวันตกไปตะวันออกตามแนวการหมุนของโลก และพัดโค้งไปมาคล้ายแม่น้ำจากละติจูดสูงไปละติจูดต่ำ หรือจากละติจูดต่ำไปละติจูดสูงและปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยและมักจะเกิดร่วมกับกระแสลมกรด เรียกว่า “บริเวณความปั่นป่วนในอากาศแจ่มใส” (Clear air turbulence: CAT)
  2. เกิดขึ้นเมื่อมีลมพัดปะทะภูเขา ทำให้อากาศอีกด้านปั่นป่วน เกิดเป็นหลุมอากาศ สาเหตุข้อนี้สามารถคาดการณ์ได้ และโดยส่วนใหญ่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ นักบินจะเตือนผู้โดยสารให้ทราบ
  3. พายุ ฝนฟ้าคะนอง สาเหตุข้อนี้สามารถตรวจพบได้ นักบินจึงหลีกเลี่ยงไม่บินไปใกล้ได้

ระดับความรุนแรงของการตกหลุมอากาศ
เครื่องบินเกิดการตกหลุมอากาศเกิดขึ้นในทุกระดับชั้นความสูง อาจทำให้เครื่องบินเสียการควบคุมร่วงหล่นจากเพดานบินปกติ และอาจเกิดอันตรายต่อผู้ที่อยู่บนเครื่องบินได้ โดยสภาพอากาศแปรปรวนถือว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการบิน ได้แก่ Clear Air Turbulance – CAT หรือ หลุมอากาศที่เกิดจากกระแสลมปั่นป่วนอย่างรุนแรงที่ระดับความสูงเดียวกับเพดานบินของเครื่องบินโดยสาร ลักษณะของหลุมอากาศชนิดนี้ เรดาร์บนเครื่องบินไม่สามารถตรวจจับได้ อากาศจะมีสภาพแจ่มใส แต่อาจเกิดความปั่นป่วนของกระแสลมได้ตลอดเวลา หากจะติดตั้งเรดาร์แบบตรวจจับ จะมีราคาแพงและน้ำหนักมาก ซึ่งเป็นอุปสรรคของเครื่องบิน จึงไม่ค่อยนิยมใช้

ความรุนแรงของหลุมอากาศที่เกิดจากกระแสลมแปรปรวน หรือ Clear Air Turbulance – CAT นั้น สำนักอุตุนิยมวิทยาได้แบ่งเป็น 4 ระดับ

  1. ความรุนแรงเล็กน้อย (Light) : ทำให้ผู้โดยสารต้องรัดเข็มขัด นั่งอยู่กับที่นั่ง สิ่งของต่างๆ ในเครื่องบินต้องเก็บให้เรียบร้อย ความรุนแรงในระดับนี้ ผู้โดยสารอาจจะไม่รู้สึกถึงการสั่น
  2. ความรุนแรงปานกลาง (Moderate) : ทำให้ผู้โดยสารต้องรัดเข็มขัด และผู้โดยสารอาจถูกโยนตัวขึ้นเป็นครั้งคราว แม้จะรัดเข็มขัดแล้ว และสิ่งของต่างๆ ในเครื่องบินอาจเคลื่อนที่ได้
  3. ความรุนแรงมาก (Severe) : สภาพปั่นป่วนทำให้นักบินไม่สามารถควบคุมเครื่องบินได้ขณะหนึ่ง ผู้โดยสารถูกโยนตัวขึ้นลงอย่างรุนแรงขณะรัดเข็มขัด และสิ่งของต่างๆ ในเครื่องบินอาจถูกโยนลอยขึ้นในอากาศได้
  4. ความรุนแรงมากที่สุด (Extreme) สภาพความปั่นป่วนระดับนี้พบน้อยมาก ตัวเครื่องบินถูกโยนขึ้นลงอย่างรุนแรงมาก นักบินไม่สามารถควบคุมเครื่องบินได้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อเครื่องบิน

วิธีป้องกันอันตรายขณะตกหลุมอากาศ ผู้โดยสารและลูกเรือจะต้องนั่งประจำที่ รัดเข็มขัดนิรภัยให้กระชับ มีสติและฟังคำแนะนำของพนักงานต้อนรับอย่างเคร่งครัด ซึ่งโดยปกติแม้จะไม่มีเหตุการณ์ผิดปกติใดๆ แต่ทุกสายการบินจะแนะนำให้ผู้โดยสารรัดเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลาเมื่ออยู่บนเก้าอี้ที่นั่งตลอดการเดินทาง เพื่อป้องกันอันตรายจากเหตุที่ไม่คาดคิด

ที่มา:sanook

ผู้นำเสนอข่าว

yoko

Written by:

3,746 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *