สารพัดโรคร้าย จาก “สภาพอากาศร้อนจัด”

สารพัดโรคร้าย จาก “สภาพอากาศร้อนจัด”

  • ทำความเข้าใจกับสถานการณ์ “ความร้อน” ในประเทศไทย หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนเจ็บป่วย และเสียชีวิตเพิ่มต่อเนื่อง
  • เช็ก 12 จังหวัดที่ครองแชมป์อาการร้อนถึง 40 องศาเซลเซียส ยาวนานที่สุดในประวัติการณ์
  • แนะวิธีป้องกันตนเอง และข้อปฏิบัติเมื่อต้องเผชิญหน้ากับ “ความร้อน” ปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพที่สามารถป้องกันได้

สภาพอากาศที่ร้อนจัด เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนเจ็บป่วย และเสียชีวิตเพิ่มมากต่อเนื่อง อย่างในปี พ.ศ. 2546 มีชาวยุโรปเสียชีวิตจากอากาศที่ร้อนจัดถึง 70,000 ราย และในปี พ.ศ. 2558 ประเทศอินเดีย มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,200 ราย เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2538 ถึง 4 เท่า

ในขณะที่ประเทศไทย อัตราผู้ป่วยด้วยโรคจากความร้อนก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยในช่วงปี พ.ศ. 2553-2556 เพิ่มขึ้นจาก 1.76 ต่อแสนประชากร เป็น 4.24 ต่อแสนประชากร ซึ่งจะมีอัตราป่วยสูงสุดในเดือนเมษายน และพฤศจิกายนเกือบทุกปี โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคใต้ และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ตามอุณหภูมิของประเทศที่สูงขึ้นต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม กรมอนามัย เผยว่า ผลกระทบต่อสุขภาพจาก “ความร้อน” ยังเป็นความเสี่ยงที่ป้องกันได้ หากประชาชนรู้วิธีการป้องกันตัว และเตือนภัยได้ทันเวลา แต่ถ้าหากยังไม่มีมาตรการแก้ไข คาดการณ์ว่าประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2593 จะมีผู้เสียชีวิตจากความร้อนเพิ่มขึ้น 6,000 ราย และ 14,000 ราย ในปี 2623

12 จังหวัด ครองแชมป์ “อากาศร้อน” ยาวนานที่สุด

นอกจากอุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนแล้ว ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ยังพบว่า วันที่หนาวมีจำนวนลดลง ในขณะเดียวกันจำนวนวันที่ร้อน หรืออบอุ่นกลับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดในภาคกลางและเมืองขนาดใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานคร นนทบุรี กาญจนบุรี ชุมพร และภูเก็ต เป็นต้น

โดยกลุ่มวิจัยและพัฒนาสารสนเทศอุตุนิยมวิทยา เผยสถิติ สถานการณ์ความร้อน หรือ HEAT SITUATION ในจังหวัดที่มีอุณหภูมิสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส ติดต่อกัน 20 วันขึ้นไป ซึ่งมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ในปี 2559 ได้แก่

  1. สุโขทัย
  2. ลำปาง
  3. อุตรดิตถ์
  4. แพร่
  5. ตาก
  6. กำแพงเพชร
  7. นครสวรรค์
  8. อุทัยธานี
  9. กาญจนบุรี
  10. เพชรบูรณ์
  11. ลพบุรี
  12. หนองคาย

ดัชนีความร้อน คืออะไร

ดัชนีความร้อน หรือ heat index คือ ค่าเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อน โดยการนำเอาค่าอุณหภูมิของอากาศที่ตรวจวัดได้จริง และความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศ มาวิเคราะห์หาค่าที่เป็นตัวแทนของอุณหภูมิ ที่คนเรารู้สึกได้ในขณะนั้น ว่าอากาศร้อนเป็นอย่างไร หรือ อุณหภูมิที่ปรากฏขณะนั้นเป็นเช่นไร

ซึ่งปกติแล้วร่างกายของคนเรา จะรู้สึกร้อนกว่าอุณหภูมิของอากาศที่แท้จริง เมื่อดัชนีความร้อนมีค่าสูงในระดับหนึ่ง จะทำให้ร่างกายสูญเสียความสามารถในการควบคุมอุณหภูมิ เกิดการเจ็บป่วยต่างๆ ได้ เช่น อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ลมแดด จนถึงขั้นเสียชีวิต

ผลกระทบต่อสุขภาพจาก “ความร้อน”

การที่ร่างกายต้องสัมผัสกับความร้อนเป็นเวลานาน หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีความร้อนสูง จนไม่สามารถปรับตัวต่อความร้อนได้ ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ ดังนี้

1. ผลกระทบทางกายภาพ มีหลายโรคและหลายอาการที่เกิดขึ้นเมื่ออยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนจัด ได้แก่

  • ผื่นจากความร้อน (Heat rash หรือ Prickly heat) เกิดจากการที่เหงื่อออกแล้วไม่ระเหย ทำให้เกิดการสะสมเปียกชื้นตลอดเวลา จนอุดตันอยู่ภายในท่อเหงื่อให้ขยายออก และอักเสบเป็นผื่นแดง ในรายที่เป็นมาก จะมีอาการคันและเจ็บได้ มักพบในสภาวะที่อากาศร้อนและมีความชื้นสูง
  • บวมจากความร้อน (Heat edema) เกิดความร้อน ที่ไปทำเส้นเลือดขยายตัว จนสารน้ำในร่างกายไหลไปรวมอยู่บริเวณข้อเท้า และขาตามแรงโน้มถ่วง 
  • ตะคริวจากความร้อน (Heat cramps) ภาวะที่กล้ามเนื้อหดตัว และเกร็งอย่างเฉียบพลัน บริเวณขา แขน และท้อง เกิดขึ้นเมื่อดื่มน้ำเปล่าไปจำนวนมาก หลังจากสูญเสียเหงื่อ ทำให้ความเข้มข้นของเกลือแร่เจือจางลง เป็นผลให้ระดับโซเดียมในกล้ามเนื้อลดลง จนเป็นตะคริว
  • เป็นลมจากแดด (Heat syncope) เกิดจากการที่ร่างกาย พยายามขับความร้อนส่วนเกินออก โดยการเพิ่มการไหลเวียนโลหิตไปที่ผิวหนัง เป็นผลให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะภายในลดลง โดยเฉพาะที่สมอง จึงทำให้เป็นลมหมดสติได้ ภาวะนี้พบบ่อยมากกับผู้ที่ไม่เคยชินกับอากาศร้อน เมื่อต้องไปอยู่ในสภาพอากาศร้อนในช่วงแรกๆ
  • เพลียแดด (Heat exhaustion) มักเกิดเมื่อต้องอยู่ในบริเวณที่มีความเครียดจากความร้อน และขาดน้ำเป็นเวลานาน ทำให้มีเหงื่อออก อ่อนแรง อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ คลื่นไส้ หัวใจเต้นเร็ว แต่ยังคงมีสติสมบูรณ์ เป็นภาวะที่อันตรายน้อยกว่าลมแดด
  • ลมแดด (Heat stroke) ภาวะที่รุนแรงที่สุดของโรคที่สัมพันธ์กับความร้อน และเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ เพราะเกิดขึ้นเมื่อกลไกการควบคุมอุณหภูมิ ไม่อาจทำงานได้อีกต่อไป ทำให้เกิดภาวะอุณหภูมิสูง (Hyperthermia) ระบบประสาทส่วนกลางเริ่มสูญเสียหน้าที่ไป ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการสับสน หมดสติ และเสียชีวิตได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง

2. ผลกระทบต่อสุขภาพจิต

ความเครียดจากความร้อน อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพจิต จากการศึกษาปัญหาสุขภาพจิตในประเทศออสเตรเลีย พบข้อมูลว่า การเกิดคลื่นความร้อน พ.ศ. 2536-2549 มีผู้ป่วยในที่เป็นโรคความจำเสื่อม ความผิดปกติทางจิตและอารมณ์เพิ่มขึ้นมาขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่า ความเครียดจากความร้อนยังสัมพันธ์กับพฤติกรรมที่ก้าวร้าว และการฆ่าตัวตายอีกด้วย 

3. ผลกระทบต่อสุขภาวะมนุษย์

ความร้อน มีผลต่อสุขภาวะของมนุษย์ ทำให้เกิดความเครียด ทำงานได้ลำบาก และรู้สึกไม่สบาย อ่อนล้าได้ง่ายขึ้น ทำให้กิจกรรมต่างๆ หยุดชะงัก เช่น งาน การเดินทาง และเวลาพักผ่อนหย่อนใจ

อย่างคนที่ต้องใช้มือทำงาน จะมีปัญหาเรื่องสมาธิ ความตื่นตัว และความอดทนในการทำงาน ซึ่งจะส่งผลต่อสมรรถนะของร่างกาย และงานโดยรวม และส่งผลทางอ้อมต่อความพึงพอใจในชีวิตและคุณภาพชีวิต

กลุ่มเสี่ยงที่ได้ผลกระทบจากปัญหา “ความร้อน” 

นอกจากการเจ็บป่วย และเสียชีวิตจากความร้อนโดยตรงแล้ว สภาพอากาศที่ร้อนส่งยังกระทบต่อเศรษฐกิจ ในภาพรวมของประเทศ จากการสูญเสียรายได้ของกลุ่มแรงงาน จากประสิทธิภาพการทำงานลดลงหรือผลผลิตทางการเกษตรลดลง

เพราะกลุ่มอาชีพผู้ป่วยสูงสุด คือ กลุ่มอาชีพเกษตรกร รองลงมา คือ กลุ่มคนงานรับจ้างทั่วไป และกลุ่มนักเรียน นอกจากนี้อากาศที่ร้อนขึ้น ยังเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดภาวะภัยแล้ง และเพิ่มผลกระทบต่อสุขภาพจากภาวะหมอกควันด้วย

ดังนั้น กลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังผลกระทบจากสภาพอากาศร้อนจัด ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ผู้อยู่โดดเดี่ยว เกษตรกร คนงานก่อสร้าง ตำรวจจราจร คนยากจน หญิงตั้งครรภ์ ผู้ออกกำลังกายกลางแจ้ง และนักท่องเที่ยว เป็นต้น

ระดับค่า “ดัชนีความร้อน” ที่ผลกระทบต่อสุขภาพ

ค่าดัชนีความร้อนที่มีผลต่อสุขภาพ สามารถแบ่งได้เป็น 4 ระดับ หากสัมผัสความร้อน ออกกำลังกาย หรือทำงานใช้แรงงานท่ามกลางอากาศที่ร้อนเป็นเวลานาน ดังนี้

  • ระดับเฝ้าระวัง (27-32) จะเกิดอาการอ่อนเพลีย วิงเวียน คลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว
  • ระดับเตือนภัย (32-41) จะเกิดอาการตะคริวจากความร้อน และอาจเกิดอาการเพลียแดด (Heatexhaustion)
  • ระดับอันตราย (41-54) มีอาการตะคริวที่น่อง ต้นขา หน้าท้อง หรือไหล่ ทำให้ปวดเกร็ง มีอาการเพลียแดด และอาจเกิดภาวะลมแดด (Heat stroke)
  • ระดับอันตรายมาก (> 54) เกิดภาวะลมแดด (Heat stroke) โดยมีอาการตัวร้อน เวียนศีรษะ หน้ามืด ซึมลงระบบอวัยวะต่างๆ ในร่างกายล้มเหลว และทำให้เสียชีวิตได้ หากสัมผัสความร้อนติดต่อกันหลายวัน

คำแนะนำการดูแลสุขภาพจากความร้อน

สำหรับการดูแลสุขภาพจากความร้อน สามารถแบ่งคำแนะนำเป็น 3 กลุ่ม คือ ประชาชนทั่วไป กลุ่มเสี่ยงเด็กผู้สูงอายุ และคนที่ทำงานกลางแจ้ง ดังนี้

ประชาชนทั่วไป

  1. ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ ชั่วโมงละประมาณ 1 ลิตร ในระหว่างวันที่มีอากาศร้อนจัด หรือวันที่ทำกิจกรรมหนักๆ กลางแดด
  2. หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดในวันที่อากาศร้อนจัด โดยเฉพาะช่วง เวลา 10.00 – 15.00 น. ควรอยู่ในบ้านที่มีเครื่องปรับอากาศ หรือ การระบายอากาศที่ดี หากบ้านไม่มีเครื่องปรับอากาศ ควรอยู่ในห้างสรรพสินค้า ห้องสมุด หรือ สวนสาธารณะที่มีร่มไม้ใหญ่
  3. สวมเสื้อผ้าสีอ่อน หลวม มีน้ำหนักเบา และระบายอากาศได้ดี
  4. สังเกตสีปัสสาวะ หากมีสีเหลืองเข้ม แสดงว่าร่างกายเกิดสภาวะเสียเหงื่อ เสียนํ้า ควรดื่มน้ำให้มากๆ หากมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ให้ดื่มน้ำเกลือแร่ทดแทน
  5. เมื่อจำเป็นต้องออกจากบ้าน หรืออยู่ในที่มีอากาศร้อน ควรปฏิบัติตัว ดังนี้
    – ทำกิจกรรมนอกบ้านเฉพาะตอนเช้าและเย็น
    – ลดการออกกำลังกายกลางแดด ถ้าต้องออกกำลังกาย ควรออกในโรงยิม หรือในอาคาร และดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ รวมทั้งเครื่องดื่มเกลือแร่ สำหรับนักกีฬาเพื่อทดแทนเกลือแร่ที่สูญเสียไป
    – พยายามพักในที่ร่มและมีอากาศ ถ่ายเทสะดวกเป็นระยะๆ
    – ป้องกันตัวเองจากแสงแดด โดยการใส่หมวกปีกกว้าง สวมแว่น กันแดด และทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF ตั้งแต่ 15 ขึ้นไป
  6. หลีกเลี่ยงการกินยาแก้แพ้ลดนำ้มูก โดยเฉพาะก่อนการออกกำลังกาย กลางแจ้งหรือเมื่อต้องอยู่ในอากาศ ร้อนเป็นเวลานาน
  7. หากมีอาการเกี่ยวข้องกับความร้อน เช่น อ่อนเพลีย เวียนหัว รีบทำให้อุณหภูมิในร่างกายให้เย็นลง โดยอาจเข้าไปอยู่ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ หากไม่ดีขึ้นควรรีบไปพบแพทย์

กลุ่มเสี่ยง : เด็ก ผู้สูงอายุ และคนมีโรคประจำตัว

กลุ่มเสี่ยงในที่นี้ ได้แก่ เด็กทารก เด็กเล็ก ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ผู้ที่โรคประจำตัวหรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ โดยเฉพาะโรคหัวใจ หรือความดันโลหิตสูง มีวิธีการดูแลสุขภาพ ดังนี้

  1. หากอากาศร้อนจัด (อุณหภูมิ สูงกว่า 40°C) ควรอยู่ในอาคารให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ หรืออยู่ภายในอาคารที่มีเครื่องปรับอากาศ
  2. ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ ในระหว่างวัน โดยไม่ต้องรอกระหายน้ำ
  3. ห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง ในช่วงอากาศร้อนจัด เพราะจะทำให้ร่างกายขาดน้ำ
  4. สวมเสื้อผ้าที่มีสีอ่อน หลวม มีน้ำหนักเบา ระบายอากาศได้ดี ไม่ควรสวมเสื้อผ้าแบบรัดรูป
  5. ห้ามให้กลุ่มเสี่ยงอยู่ในรถยนต์ที่จอดปิดกระจกทั้งหมด แม้จะสตาร์ทเครื่องไว้ เนื่องจากอุณหภูมิภายนอกจะทำให้อุณหภูมิภายในรถเพิ่มขึ้น
  6. หากมีอาการที่เกี่ยวข้องกับความร้อน ไม่ควรเพิกเฉยให้รีบแจ้งบุคคลใกล้ชิดทันที
  7. ผู้ดูแลกลุ่มเสี่ยง ควรมีความรู้เกี่ยวกับโรคที่เกี่ยวข้องจากความร้อน วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน
  8. ควรมีหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน ของสถานพยาบาลในพื้นที่เมื่อเกิด
  9. ติดตามข่าวสารหรือการเตือนภัย จากหน่วยงานราชการอยู่เสมอ

กลุ่มคนทำงานกลางแจ้ง

โดยทั่วไปคนงานที่ทำงานกลางแจ้ง ไม่สามารถที่หลีกเลี่ยงการออกแดดได้ ควรป้องกันตนเองจากความร้อนตามวิธี ดังนี้

  1. พิจารณาความพร้อมของร่างกาย ในการทำงานภายใต้สภาพแวดล้อมที่ร้อน เช่น คนอ้วน หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดความเครียดจากความร้อนได้สูงกว่าคนทั่วไป
  2. ควบคุมความร้อนในสถานที่ทำงาน เช่น การระบายอากาศ ระบบทำความเย็นแบบระเหย การจัดหาน้ำดื่มให้ เพียงพอ เป็นต้น
  3. ควรสลับการทำงาน และพักเป็นระยะ โดยเวลาพัก ให้พักในสถานที่ที่มีอากาศเย็น มีการระบายอากาศที่ดี และลดการใช้แรงงานในระหว่างช่วงที่ร้อนที่สุดของวัน
  4. หากหยุดการทำงานกลางแจ้งไปนาน ควรปรับตัวเข้ากับความร้อนก่อน โดยค่อยๆ เริ่มทำงานเบาๆ และหยุดพักในช่วงแรกหากรู้สึกเหนื่อย 
  5. ควรสวมเสื้อผ้าสีอ่อน หลวม น้ำหนักเบาระบายอากาศได้ดี และให้เปลี่ยนชุด ถ้าเสื้อผ้าชุ่มเหงื่อ 43 องศาเซลเซียส
  6. ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ และหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง เพราะจะทำให้ร่างกายขาดน้ำ
  7. หากทำงานกลางแจ้งเป็นกลุ่ม ควรเตือนเพื่อนในกลุ่มให้ดื่มน้ำบ่อยๆ และควรสังเกตอาการเพื่อนร่วมงานเป็นระยะ เพื่อปฐมพยาบาลได้ทันการณ์
  8. ควรมีหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินของสถานพยาบาล ในพื้นที่เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น 1669
  9. หากมีอาการที่เกี่ยวข้องกับความร้อนไม่ควรเพิกเฉยให้ รีบแจ้งบุคคลใกล้ชิดทันที

ขอบคุณข้อมูลจาก กลุ่มวิจัยและพัฒนาสารสนเทศอุตุนิยมวิทยา, กรมอนามัย

ผู้นำเสนอข่าว

Lemon

Written by:

720 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You May Have Missed