นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดเผยว่า จากการที่ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 มีผลการบังคับใช้มาแล้ว 7 ปี พบว่า มีคู่สามี-ภรรยาที่มีบุตรยากมีความประสงค์จะขออนุญาตให้ผู้อื่นตั้งครรภ์แทน หรือที่เรียกกันว่าอุ้มบุญ รวม 684 ราย โดยคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (กคทพ.) อนุญาตให้มีการตั้งครรภ์แทนแล้ว 621 ราย ซึ่งแต่ละปีเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์สามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ ปีละกว่า 4,000 ล้านบาท ทั้งนี้ สบส.ขอเน้นย้ำให้ผู้ประกอบกิจการและผู้ดำเนินการสถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งกวดขันบุคลากรของตนให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า การอุ้มบุญนั้น กฎหมายอนุญาตให้เฉพาะคู่สมรสชาวไทยที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย หรือเป็นคนไทยที่แต่งงานกับชาวต่างชาติจะต้องจดทะเบียนสมรสมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี และมีภาวะมีบุตรยาก ไม่อนุญาตให้คู่สมรสซึ่งเป็นชาวต่างชาติทั้งคู่ทำอุ้มบุญ หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องเคยมีบุตรมาก่อน หากยังอยู่กินกับสามีจะต้องได้รับการยินยอมจากสามีก่อน ส่วนหญิงผู้ไม่เคยมีบุตรไม่สามารถรับตั้งครรภ์ได้ สามารถใช้ 2 วิธีคือ ใช้อสุจิและไข่ของคู่สมรสที่ต้องการมีบุตร หรือใช้อสุจิหรือไข่ของคู่สมรสกับไข่หรืออสุจิบริจาค ห้ามใช้ไข่ของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน และห้ามทำในเชิงพาณิชย์ หากฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎหมายทั้งแพทย์ นายหน้า คู่สมรส และหญิงที่ตั้งครรภ์แทน.
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/