วช. เปิด NRCT TALK โชว์ นักวิจัยดีเด่น ปี 66 “ศ.ดร.จินตวีร์ คล้ายสังข์” ผู้พัฒนาสื่อการเรียนการสอนยุคดิจิทัล

วช. เปิด NRCT TALK โชว์ นักวิจัยดีเด่น ปี 66 “ศ.ดร.จินตวีร์ คล้ายสังข์” ผู้พัฒนาสื่อการเรียนการสอนยุคดิจิทัล

วช. เปิด NRCT TALK โชว์ นักวิจัยดีเด่น ปี 66 “ศ.ดร.จินตวีร์ คล้ายสังข์” ผู้พัฒนาสื่อการเรียนการสอนยุคดิจิทัล

วันที่ 24 เมษายน 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อวด.) จัดเวทีแถลงข่าว “NRCT Talk : นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2566 ครั้งที่ 4” เปิดตัว ศาสตราจารย์ ดร.จินตวีร์ คล้ายสังข์ ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาการศึกษา ประจำปี 2566 โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้มอบหมายให้ นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นประธานเปิดงาน ณ ศูนย์จัดการความรู้การวิจัย อาคาร วช.1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร

นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า (วช.) ภายใต้กระทรวง (อว.) มีภารกิจที่สำคัญในการยกย่อง เชิดชู ประกาศเกียรติคุณหรือยกย่องบุคคลหรือหน่วยงานด้านการวิจัยและนวัตกรรม โดยเป็นผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการส่วนรวม ซึ่งในปี 2566 (วช.) ได้มอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2566 ใน 4 ประเภท ได้แก่ รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ และ รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับนักวิจัยและนักประดิษฐ์ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ให้พัฒนาและสร้างองค์ความรู้ด้านการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม ตลอดจนการพัฒนาไปสู่การประยุกต์ใช้องค์ความรู้เพื่อต่อยอด ไปสู่นวัตกรรมทางเศรษฐกิจหรือนวัตกรรมทางสังคมได้ อย่างเช่นในวันนี้ (วช.) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญทางการศึกษาที่เป็นรากฐานทางสังคม จึงเปิดตัวนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาการศึกษา ประจำปี 2566 “ศาสตราจารย์ ดร.จินตวีร์ คล้ายสังข์ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ผู้คิดค้นผลงานวิจัยที่สร้างองค์ความรู้ใหม่และมีประโยชน์ต่อการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยีการศึกษาและสื่อสารการศึกษาในวงกว้าง ตลอดจนการต่อยอดเป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาให้สามารถนำผลวิจัยไปใช้งานได้จริง ให้กับสื่อมวลชนในครั้งนี้

ศาสตราจารย์ ดร.จินตวีร์ คล้ายสังข์ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ กล่าวว่า เริ่มทำการศึกษาวิจัยตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 จนถึงปัจจุบัน ด้วยแรงผลักดันที่อยากเป็นต้นแบบให้กับนิสิต นักศึกษา ให้เกิดความใฝ่รู้ จึงเริ่มศึกษาวิจัยและนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยี และสื่อสารการศึกษา ทำให้มีความเชี่ยวชาญพัฒนาเทคโนโลยีอัจฉริยะ และระบบเสริมในการเรียนออนไลน์ การเรียนแบบผสมผสาน ห้องเรียนกลับด้าน สภาพแวดล้อมการเรียนรู้เสมือน การพัฒนาแอปพลิเคชันช่วยสอนด้วยแชทบอท ร่วมกับอุปกรณ์เทคโนโลยีสวมใส่ เพื่อเป็นตัวช่วยในการเรียนรู้ในบริบทต่างๆ ซึ่งงานวิจัยที่ทำอยู่จะมุ่งเน้นประโยชน์ใน 4 มิติที่สำคัญ มิติที่ 1 Acadamic contribution งานวิจัยนวัตกรรมจะต้องเน้นให้ผู้เรียนเกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ ทั้งในเรื่องทักษะสมรรถนะทางวิชาชีพ soft skill ทักษะการคิดต่าง ๆ โดยให้ความสำคัญกับ User Experience คือประสบการณ์ของผู้ใช้งาน และ User Interface Design ให้เหมาะสมกับบริบทและตรงกับความต้องการของผู้ใช้มากที่สุด มิติที่ 2 Co-creation การทำงานร่วมกับศาสตร์สาขาวิชาอื่น ๆ เช่น การทำงานร่วมกับอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ในการพัฒนาสมรรถนะทางวิชาชีพของนักศึกษาแพทย์ โดยการพัฒนานวัตกรรมแอปพลิเคชั่นที่ใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ไมโครคอนโทรลเลอร์และหุ่นจำลองในการพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพของนักศึกษาแพทย์ มิติที่ 3 International collaboration การสร้างเครือข่ายในระดับสากล โดยร่วมมือกับอาจารย์นักวิจัยในต่างประเทศ เพื่อเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งในเรื่องของเทคโนโลยีและการจัดการเรียนรู้ เพื่อเตรียมพร้อมให้คนไทยสามารถที่จะเป็นพลเมืองโลก ได้อย่างเหมาะสม มิติที่ 4 Scalability การร่วมมือเป็นเครือข่ายการทำวิจัยและนวัตกรรมกับภาคเอกชน ทั้งนี้เพื่อยกระดับงานวิจัยให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องมือวิจัยและนวัตกรรมต่อไป

ศาสตราจารย์ ดร.จินตวีร์ กล่าวทิ้งท้ายถึงนักวิจัยรุ่นใหม่ว่า “การเป็นนักวิจัยที่ดีนั้น เราจะต้องมองภาพงานวิจัยในระยะยาว มองให้เห็นภาพใหญ่ว่าความเชี่ยวชาญของเราจะสามารถส่งเสริม สนับสนุน และช่วยขับเคลื่อน พัฒนาสังคมและประเทศชาติได้อย่างไร โดยยึดหลักในการทำงาน 3 Ps ได้แก่ Purpose : ทุกความสำเร็จ เริ่มต้นจากการที่มีเป้าหมายที่ชัดเจน Passion : ระหว่างทางสู่เป้าหมาย ต้องมีความสุข สิ่งที่ทำเกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น และ Pertinacious : ความมุ่งมั่น เพียรพยายามเพื่อไปให้ถึงความสำเร็จที่ตั้งไว้”

ทั้งนี้ (วช.) ได้มีการจัดงาน NRCT Talk ขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในครั้งนี้เป็นการจัดเรื่องนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ครั้งที่ 4 ประจำปี 2566 เพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัยได้นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมผ่านสื่อมวลชนและยังเป็นการเชิดชูนักวิจัยทางด้านสาขาการศึกษา ที่มีคุณค่า สร้างแรงจูงใจ และกระตุ้นให้นักวิจัยยกระดับงานวิจัยและนวัตกรรมสร้างองค์ความรู้พื้นฐานทางวิชาการต่อสังคมและเศรษฐกิจส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยดังกล่าวจะนำไปสู่การพัฒนาและเปลี่ยนแปลงโลกแห่งอนาคต สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ที่มา:ข่าวความมั่นคงออนไลน์

ผู้นำเสนอข่าว

ยัยแม่มด

Written by:

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You May Have Missed