คุณดื่มแบบไหน? การศึกษาเผย “กาแฟ” ช่วยลดความเสี่ยงโรคเบาหวานประเภท 2 เมื่อไม่เติม “น้ำตาล” ลงในเครื่องดื่ม
การศึกษาที่เผยแพร่ใน American Journal of Clinical Nutrition ได้วิเคราะห์การดื่มกาแฟของคนเกือบ 290,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีเกือบ 13,000 คน ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่าผู้ที่ดื่ม “กาแฟดำ” มีความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ลดลง 10% ต่อการดื่มกาแฟทุกวัน
สำหรับการเติมนมลงไปในกาแฟ ผลประโยชน์ดังที่กล่าวข้างต้นนี้ยังคงอยู่ แต่สำหรับผู้ที่เติมน้ำตาลลงไปในกาแฟนั้น พบว่าอัตราผลประโยชน์ลดลงเหลือเพียง 5% เท่านั้น ต่อการใส่น้ำตาลประมาณ 1 ช้อนชา
การศึกษานี้พบว่า ผู้ที่ดื่มกาแฟมักมีแนวโน้มที่จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นช้ากว่า ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคเบาหวานประเภทที่ 2 อีกทั้ง คาเฟอีนและสารพฤกษเคมีในกาแฟอาจช่วยลดการอักเสบในร่างกายที่เกี่ยวข้องกับเบาหวานประเภทที่ 2 แต่การเติมน้ำตาลจะเพิ่มความเสี่ยงในการเพิ่มน้ำหนัก
กาแฟที่เติมน้ำตาลมีแคลอรี่สูง แต่ไม่ทำให้รู้สึกอิ่มเหมือนอาหารที่มีน้ำตาล ดังนั้นคนที่ดื่มกาแฟที่มีน้ำตาล ก็อาจไม่ลดการรับประทานแคลอรี่น้อยลงในมื้ออาหารและขนม เช่นเดียวกับการเติมสารให้ความหวานเทียมในกาแฟ พบว่าลดประสิทธิภาพในการป้องกันเบาหวานประเภทที่ 2 ลงเช่นกัน โดยจะลดอัตราผลประโยชน์ลงเหลือแค่ 7%
ดร. มาทธีอัส เฮนน์ ผู้ที่นำการศึกษานี้จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่า “การดื่มกาแฟอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคเบาหวาน แต่การเติมน้ำตาลหรือสารให้ความหวานเทียมจะทำให้ประโยชน์ลดลงอย่างมาก” และเสริมว่า “การศึกษานี้ช่วยให้เราเข้าใจถึงผลกระทบของการบริโภคกาแฟที่มีสารเติมแต่ง เช่น น้ำตาล และสารให้ความหวานเทียม ที่มีผลต่อความเสี่ยงในการเกิดเบาหวานประเภทที่ 2”
การศึกษานี้ใช้ข้อมูลจากพยาบาลหญิง และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพชายในสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการดื่มกาแฟทุก 4 ปีและการตรวจสุขภาพทุก 2 ปี โดยใช้เวลาติดตามนานถึง 34 ปี โดยพบว่า 13,281 คน พัฒนาเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2 นักวิจัยพบว่าการเติมน้ำตาลในกาแฟอาจทำให้ประโยชน์ในการลดความเสี่ยงของโรคเบาหวานประเภทที่ 2 หายไปและจะมีผลกระทบต่อความเสี่ยงมากขึ้น

ที่มาsanook