ยกระดับสีแดง ระงับห้ามใช้ 34 ตึกอันตราย โยธาฯสํารวจทั่วปท.พบ 63 จังหวัดเสียหายแผ่นดินไหว

ยกระดับสีแดง ระงับห้ามใช้ 34 ตึกอันตราย โยธาฯสํารวจทั่วปท.พบ 63 จังหวัดเสียหายแผ่นดินไหว

กรมโยธาฯสั่งระงับใช้อาคารที่โครงสร้างเสียหายหนัก จากเหตุแผ่นดินไหว หรืออาคาร “สีแดง” 34 อาคาร ขณะที่มีอาคารปลอดภัยใช้งานได้ปกติ 798 อาคาร กอปภ.ก. ย้ำทุกหน่วยงานให้เร่งสำรวจความเสียหายและอัปเดตสถานการณ์ให้เป็นปัจจุบัน เพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างรอบด้าน ครอบคลุมและรวดเร็ว สส.ติงในสภาฯ รัฐควรจริงจังกับเรื่องมาตรฐานสินค้า มอก. แนะบรรจุวิชาเอาตัวรอดเหตุภัยพิบัติ กสทช.เผยแอปเปิลปลดล็อกการส่งข้อความเตือนภัยฉุกเฉินผ่านเครือข่ายมือถือ ภายใน 5 วัน สก.ดอนเมืองแจงเหตุปัดตกงบติดตั้งเครื่องวัดแรงสั่นสะเทือนของ กทม. ที่ “ชัชชาติ” มองการณ์ไกลเสนอต่อที่ประชุมสภา กทม. ชี้หากปรับปรุงรายละเอียดและวัตถุประสงค์ของผลลัพธ์ที่ชัดเจน สก.พร้อมให้ความเห็นชอบ

คนไทยทั่วประเทศยังห่วงใยและเฝ้าสวดมนต์ภาวนา ขอให้ผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์อาคารสำนักงานแห่งใหม่ของ สตง.ย่านจตุจักร ที่ถล่มลงมาและยังติดอยู่ใต้ซากตึกมีความปลอดภัยทุกคน

ถึงเวลารัฐควรจริงจังสินค้า มอก.

ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 2 เม.ย.มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม ก่อนเข้าสู่วาระ สส.หลายคนหยิบยกเหตุการณ์แผ่นดินไหวมาหารือ อาทิ นายภัทรพงษ์ ภัทรประสิทธิ์ สส.พิจิตร พรรคภูมิใจไทย หารือว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องจริงจังกับเรื่องสินค้ามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ไม่ใช่แค่เหล็กและอุปกรณ์ก่อสร้าง รวมถึงของเล่นเด็ก อุปกรณ์ไฟฟ้าด้วย

สส.แนะบรรจุวิชาเอาตัวรอดเหตุภัยพิบัติ

ขณะที่นายปารมี ไวจงเจริญ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน หารือว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเป็นเรื่องเร่งด่วนนักเรียนและคนไทยจำเป็นต้องเรียนและฝึกทักษะอย่างจริงจัง ในวิชาการเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉินทุกรูปแบบ ทั้งเหตุรถบัสทัศนศึกษาไฟไหม้ แผ่นดินไหว ภัยธรรมชาติ ต้องเรียนทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เน้นลงมือปฏิบัติซ้ำๆ จนเกิดทักษะเอาตัวรอดให้ได้ ถึงเวลาต้องออกแบบวิชานี้ในโรงเรียน และหลักสูตรอบรมระยะสั้นระยะยาว สำหรับประชาชนทั่วไป ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ภาคประชาสังคมต่างๆ เร่งสร้างวิชานี้ขึ้นมา

63 จังหวัดเสียหายจากแผ่นดินไหว

ที่กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เมื่อวันที่ 2 เม.ย. มีการประชุมติดตามสถานการณ์ ผลกระทบและการแก้ไขปัญหาภัยจากแผ่นดินไหว นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะ ผอ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) กล่าวว่า จากสถานการณ์แผ่นดินไหวที่สหภาพเมียนมาที่เกิดขึ้นเมื่อบ่ายวันที่ 28 มี.ค. ไทยรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนรวม 63 จ. มีพื้นที่ได้รับความเสียหาย 18 จังหวัดรวมถึงกทม.ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลําพูน ลําปาง แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย ชัยนาท อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร รวม 125 อำเภอ 358 ตำบล 548 หมู่บ้าน บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 771 หลัง วัด 76 แห่ง โรงพยาบาล 164 แห่ง อาคาร 12 แห่ง โรงเรียน 64 แห่ง สถานที่ราชการ 39 แห่ง ผู้บาดเจ็บรวม 35 ราย (กทม. 34 ราย จ.นนทบุรี 1 ราย) กอปภ.ก.จะยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ประสานการปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างครอบคลุม ครบถ้วนและรวดเร็วที่สุด

อาคารปลอดภัยใช้งานปกติ 798 แห่ง

อธิบดี ปภ.กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 2 เม.ย.ได้เปิดเส้นทางจราจรเฉพาะฝั่งขาเข้าถนนกำแพงเพชร 2 เป็นถนนหน้าจุดเกิดเหตุอาคารถล่ม ส่วนฝั่งขาออกบริเวณหน้าห้าง JJ Mall ใช้สัญจรได้ตามปกติและรถไฟฟ้า เรือโดยสารคลองแสนแสบ เรือด่วนเจ้าพระยา เปิดบริการได้ตามปกติ ตรวจสอบอาคารสีเขียวที่มีความปลอดภัยพบใช้งานได้ปกติ 798 แห่ง ชาว กทม.ตรวจสอบความเสียหายของอาคารบ้านเรือนเบื้องต้นด้วยตนเองผ่าน Traffy Fondue ส่วนการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เยียวยาจิตใจเหตุอาคารถล่ม มีผู้มารับบริการรวม 1,064 คน แบ่งเป็น อาการทางกาย 155 คน ปฐมพยาบาลเบื้องต้น 929 คน ให้คำปรึกษาด้านจิตใจเบื้องต้น 100 คน

กรมโยธาฯสั่งระงับใช้ 34 ตึก

ขณะที่ศูนย์รับแจ้งเพื่อตรวจสอบความเสียหายของอาคารที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว (ศรต.ย.ผ.) กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย แถลงว่าได้ร่วมกับสภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ตรวจสอบอาคารและวิศวกรอาสาภาคเอกชน จำนวน 110 คน ตรวจสอบอาคารที่มีการแจ้งว่าได้รับความเสียหาย และมีผลการตรวจสอบอาคารในส่วนจังหวัด 76 จังหวัด จำนวน 3,008 อาคาร โดยอาคารที่มีการแจ้งว่าได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว ตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค.-1 เม.ย.68 ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด รวมทั้งสิ้น 3,375 อาคาร ใช้งานได้ปกติ สีเขียว จำนวน 3,130 อาคาร มีความเสียหายปานกลาง ใช้งานได้ สีเหลือง 211 อาคาร โครงสร้างมีความเสียหายอย่างหนักและสั่งให้ระงับการใช้งานอาคาร สีแดง จำนวน 34 อาคาร

สภา กทม.เบรกงบติดตั้งเซ็นเซอร์

ที่ศาลาว่าการ กทม. 2 (ดินแดง) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กทม.เคยเสนอขอจัดสรรงบประมาณปี 68 ในการติดตั้งเซ็นเซอร์วัดแผ่นดินไหวบนอาคารสูง ของโรงพยาบาลสังกัด กทม. 8 แห่ง เพราะโรงพยาบาลมีคนไข้ที่เคลื่อนตัวได้ยากและมีความจำเป็นในการให้การรักษาเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ แต่ที่ประชุมสภา กทม. ไม่ให้ความเห็นชอบ เพราะตอนนั้นยังไม่เห็นความสำคัญ วันนี้มุมมองอาจเปลี่ยนไปเชื่อว่าน่าจะได้รับการพิจารณาผ่านสภา กทม. จึงจะเสนอของบประมาณ ปี 69 หรืออาจใช้งบกลางเพื่อติดตั้งจำนวน 9 ล้านบาท

จัดศูนย์พักพิงคนเครียดที่วัดเสมียนฯ

ด้าน รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า จากการที่ กทม.เปิดสถานที่ดูแลสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากอาคารที่ระงับการใช้ มีจำนวน 338 ครอบครัว ได้แจ้งไปยังศูนย์บัญชาการหน้างานเขตจตุจักรแล้วว่า กรณีที่ผู้ได้รับความเดือดร้อน เข้ามาอยู่ในจุดเฝ้าคอยได้ แต่กรณีที่ได้พบแล้วและมีความรู้สึกเครียด สำนักงานเขตจตุจักรจัดที่พักไว้ให้ที่ศูนย์พักพิงวัดเสมียนนารี ส่วนที่เป็นอาคารสีแดงที่มีการระงับการเข้าพัก ถ้าเป็นความเสียหายทั้งหมด ตามระเบียบจะมีการชดเชยและเยียวยา 49,500 บาท ในส่วนที่เสียหายบางส่วนจะมีการประเมิน โดยวิศวกรและมีสำนักงานเขตรับรองว่า ความเสียหายในส่วนนี้มีอัตราเบิกไม่เกิน 45,900 บาท ส่วนคนไข้ที่อยู่ในโรงพยาบาลการเยียวยาอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ ขณะที่โอพีดีจะเบิกให้คนไข้แต่ละราย พร้อมทั้งมีค่าปลอบขวัญให้

ชดเชยเยียวยาอุปกรณ์ทำมาหากิน

รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน อุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบอาชีพ จะพิจารณาว่าถ้าความเสียหายที่เกิดขึ้นมีความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ จะมีค่าชดเชยเยียวยาให้ ให้เก็บหลักฐานเป็นรูปถ่ายและนำไปแจ้งได้ที่สำนักงานเขต ทั้งนี้ ประชาชนที่พักอาศัยหรืออาคารได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว ถ่ายภาพความเสียหายนำมาประกอบการแจ้งความได้ที่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์กรุงเทพมหานคร บริเวณอาคาร สตง.ถล่ม หรือที่สำนักงานเขต ก่อนนำเอกสารไปยื่นคำร้องขอการเยียวยาอีกครั้ง

สก.ดอนเมืองแจงเหตุตัดงบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมสภา กทม.นางกนกนุช กลิ่นสังข์ สก.เขตดอนเมือง พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ได้ชี้แจงกรณีการพิจารณาตัดงบติดตั้งเครื่องวัดแรงสั่นสะเทือนของ กทม. ว่า เนื่องจากคณะอนุกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า โครงการไม่ชัดเจน ไม่ครอบคลุม เนื้อหาโครงการและทีโออาร์ยังขาดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน ไม่ได้อธิบายว่าจะนำผลประเมินมาใช้ในทางปฏิบัติอย่างไร คณะกรรมการเกรงจะไม่เกิดประโยชน์ เพราะลักษณะงานมีแต่การจ้างที่ปรึกษา ส่วนประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับมีแต่เรื่องรายงาน ขอใช้งบประมาณ 9 ล้านบาท แบ่งเป็นงบบุคลากรราว 3.5 ล้านบาทหรือเกือบ 40% ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งอุปกรณ์วัดการสั่นสะเทือน 3 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการสำรวจและวิเคราะห์ผล 2.4 ล้านบาท ค่าจัดทำรายงานประมาณ 7 หมื่นบาท แต่หากมีการปรับปรุงรายละเอียดและวัตถุประสงค์ของผลลัพธ์ที่ชัดเจน สก.พร้อมจะให้ความเห็นชอบ

ไอทีดีฯออกแถลงการณ์เสียใจ

วันเดียวกัน กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซีนัมเบอร์เทน (ไทย) ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อเหตุการณ์อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว พร้อมแสดงความเสียใจและความอาลัยต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว รวมถึงแสดงเจตนารมณ์ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเบื้องต้นแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ โดยระบุว่าไม่นิ่งนอนใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและแสดงความพร้อมในการเข้าร่วมปฏิบัติการกู้ภัย ตั้งแต่ช่วงแรกผ่านช่องทางที่เกี่ยวข้อง พร้อมจัดส่งบุคลากรและอุปกรณ์สนับสนุนเพื่อช่วยเหลือ บรรเทาความเสียหายให้ได้มากที่สุดและสุดความสามารถ นอกจากนี้ยังให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อวิเคราะห์และตรวจสอบสาเหตุของการถล่มของอาคารในระหว่างเหตุแผ่นดินไหวอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม

รอผลตรวจทางวิศวกรรมชี้ชัด

กิจการร่วมค้าฯ ยังแถลงยืนยันว่า การจัดซื้อวัสดุและการก่อสร้างอาคารสำนักงานดังกล่าว ดำเนินการตามข้อกำหนดในสัญญาโครงการ (TOR) กฎหมายที่เกี่ยวข้อง มาตรฐานทางวิศวกรรมและหลักปฏิบัติทางวิศวกรรมที่ดีอย่างเคร่งครัด เพื่อให้มั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยของโครงการ วัสดุที่ใช้ในโครงการนี้ได้คัดเลือกผู้ผลิตตามข้อกำหนดทางเทคนิคที่กำหนดไว้ วัสดุก่อสร้างทั้งหมดได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการตรวจรับวัสดุ ต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพอย่างเข้มงวดก่อนนำเข้าสู่พื้นที่ก่อสร้างทุกครั้งและกิจการร่วมค้าฯ จะยังคงทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างใกล้ชิด เพื่อดำเนินการฟื้นฟูและเยียวยาหลังเกิดเหตุอย่างเต็มที่ ขอร้องจากทุกฝ่ายให้อดทนรอผลการตรวจสอบทางวิศวกรรมอย่างเป็นทางการ เพื่อให้สามารถสรุปข้อเท็จจริงและหาสาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนี้ได้อย่างชัดเจน

ส่งทีมแพทย์ช่วยชาวเมียนมา

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข เผยว่า มี รพ.ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว 480 แห่ง เปิดบริการได้แล้วเกือบ 100% เหลือ 5 แห่งที่ยังไม่ครบ 100% คือ รพ.ราชวิถีปิด 1 อาคารทศมินทราธิราช อาคาร รพ.จ.แพร่ อาคาร รพ.วิเศษชัยชาญ อาคาร รพ.สมุทรสาครและอาคาร รพ.พระยืน ขอนแก่น ส่วนการช่วยเหลือเมียนมา ด้านการแพทย์ จะส่งทีม EMT type 1 (Emergency Medical Technician) ที่ได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลกและเคยไปช่วยเหลือเมียนมาจากเหตุพายุนาร์กีส ประมาณ 80 คน ไปช่วย

ตรวจ รพ.สงขลาไม่พบผิดปกติ

นายสมศักดิ์ยังกล่าวถึงการตรวจสอบ รพ.สงขลาที่ใช้บริษัทเดียวที่ก่อสร้างตึก สตง. ว่า กรมโยธาธิการ ผวจ. และ ผอ.รพ. ไม่พบความผิดปกติในการก่อสร้าง ขอให้สบายใจได้ กรณีกระทรวงคมนาคมขึ้นแบล็กลิสต์บริษัทก่อสร้างดังกล่าว จะต้องยกเลิกสัญญาหรือไม่อย่างไรนั้น เรื่องยกเลิกสัญญาต้องดูให้ครบองค์ประกอบของระเบียบราช การ คงไม่ต้องหยุดก่อสร้าง แต่ต้องตรวจสอบควบคู่กันไป ยังมีบางอาคารที่ยังไม่แล้วเสร็จ ส่วนไหนที่ต้องรับคนมากต้องดูให้ละเอียด เหล็กที่สร้างไปแล้วตรวจสอบได้ อาจต้องคำนวณใหม่ว่ารับไหวหรือไม่ เป็นเรื่องของวิศวกรต้องพิจารณาเพื่อทำให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด

อีก 5 วันแอปเปิลปลดล็อก

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสานให้บริษัทแอปเปิลปลดล็อกระบบ Cell Broadcast เพื่อให้สามารถส่งข้อความเตือนภัยฉุกเฉินผ่านเครือข่ายมือถือจะเสร็จภาย ใน 5 วัน ระบบนี้รองรับการส่งข้อความได้สูงสุด 30 ล้านครั้งต่อชั่วโมง (บน 4G/5G) เร็วกว่าการส่ง SMS เดิมใช้เป็นแผนสำรองร่วมกับ LINE Alert, โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ และวิทยุสมัครเล่น พร้อมเปิดสายด่วน 1531 ให้ประชาชนแจ้งเหตุแผ่นดินไหว ด้าน กสทช.เตรียมหารือหน่วยงานเกี่ยวข้อง 3 เม.ย.เพื่อพัฒนาระบบเตือนภัยผ่านทีวีดิจิทัล (Mux) ที่สามารถตัดเข้ารายการได้ทันที หรือแสดงตัววิ่งบนหน้าจอ ที่ผ่านมา กสทช.พยายามทำระบบนี้กับ ททบ.5 และไทยพีบีเอสมาแล้ว นอกจากนี้จะมีการทำโทรทัศน์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติผ่านระบบทีวีดิจิทัล หรือช่อง 1 ด้วย

ที่มา ไทยรัฐ

ผู้นำเสนอข่าว

yoko

Written by:

4,052 Posts

View All Posts
Follow Me :