เมื่อวันที่ 28 ส.ค. ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การพัฒนานวัตกรรมการจัดการด้านการดูแล ติดตาม และเฝ้าระวังทางสุขภาพของผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม และกระดูกหักรวมถึงการหักซ้ำ ระหว่างคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย สมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และภาคีเครือข่าย
โดย ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า หากดำเนินการระบบดังกล่าวเสร็จสิ้นจะช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยจากการพลัดตกหกล้ม ลดอัตราการเสียชีวิต เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย รวมถึงลดภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ความร่วมมือนี้ไม่เพียงแต่สนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่สามารถสื่อสารความรู้และการดูแลตนเองตามความเสี่ยงให้กับผู้สูงอายุ รวมถึงการรวบรวมข้อมูลการรักษาและการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน และการจัดส่งข้อมูลให้กับเครือข่ายหน่วยบริการสุขภาพทุกระดับที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ยังเป็นการยกระดับนวัตกรรมด้านสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ และระบบสุขภาพในประเทศไทยอย่างยั่งยืน
ด้าน นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า โรคกระดูกพรุนเป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงทำให้กระดูกหักมากกว่าผู้ที่ไม่เป็นโรคประมาณ 5 เท่า คาดการณ์ว่าอุบัติการณ์ของกระดูกสะโพกหักจะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 2.02% ต่อปี สาเหตุสำคัญของกระดูกสะโพกเกิดจากการพลัดตกหกล้ม ซึ่งรายงานจากกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข ปี 2566 ในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป พบการพลัดตกหกล้มทำให้เสียชีวิตสูงถึง 10.20 คนต่อประชากรผู้สูงอายุแสนคน ความร่วมมือครั้งนี้ส่งผลให้เกิด 1.พัฒนานวัตกรรมการจัดการ 2.สร้างระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยต่อการเฝ้าระวังทางสุขภาพของผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม กระดูกหัก และการหักซ้ำ 3.ยกระดับการเข้าถึงสิทธิการรักษาเพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิต และสุขภาวะในชีวิตประจำวันที่ดีต่อไปในอนาคต.
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/