ผู้ว่าฯ พัทลุง-ปลัดฯ DES แสดงแบบผ้าไทย ผ้าถิ่นเมืองลุง ชูภูมิปัญญาท้องถิ่น

ผู้ว่าฯ พัทลุง-ปลัดฯ DES แสดงแบบผ้าไทย ผ้าถิ่นเมืองลุง ชูภูมิปัญญาท้องถิ่น

ผู้ว่าฯ พัทลุง ควง ปลัดฯ ดิจิทัลฯ แสดงแบบผ้าไทย ในงานผ้าถิ่น “นาฏยโนรา วิจิตรพัสตรา ผ้าถิ่นเมืองลุง” ที่ผลิตจากภูมิปัญญาในชุมชนท้องถิ่นของกลุ่มโอทอปจังหวัดพัทลุง ถือเป็นการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก และสร้างรายได้กระจายสู่ชุมชน

เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 66 นางนิศากร วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า จังหวัดพัทลุง บูรณาการทุกภาคส่วน จัดกิจกรรมแสดงแบบแฟชั่นโชว์ร่วมสมัยสวมผ้าไทยและผ้าพื้นถิ่น “นาฏยโนรา วิจิตรพัสตรา ผ้าถิ่นเมืองลุง” โดยได้รับเกียรติจาก ศ.พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมแสดงแบบผ้าไทยเคียงคู่ และมีนายแบบและนางแบบกิตติมศักดิ์เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก อาทิ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ เหล่ากาชาดจังหวัดพัทลุง ภาคเอกชน ประชาชน นักเรียนและนักศึกษา จัดขึ้น ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดพัทลุง

นางนิศากร กล่าวว่า จังหวัดพัทลุงได้น้อมนำแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ผู้ทรงมีพระปณิธานที่มุ่งมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อต่อลมหายใจให้ผืนผ้าไทย ทำให้พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่างทอผ้าและผู้ประกอบการผ้า ได้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้จากภูมิปัญญา หัตถศิลป์ หัตถกรรม ที่สืบสานถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ ผสมผสานต่อยอดด้วยหลักวิชาการแฟชั่นสมัยใหม่ให้ตรงตามความต้องการของตลาด สอดคล้องกับความนิยมชมชอบของประชาชน เป็นผลงานที่ร่วมสมัย ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างความสุขให้กับครอบครัว ชุมชน เพื่อร่วมสร้างสังคมที่มีความยั่งยืนในทุกมิติ และนับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” ในโอกาสเสด็จทรงงาน ณ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ด้วยทรงมีความรัก ความผูกพัน และความห่วงใยราษฎรของพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมีวิถีชีวิตที่แวดล้อมไปด้วยความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของระบบนิเวศ

ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง กล่าวต่ออีกว่า บรรยากาศบนเวทีกิจกรรมแสดงแบบแฟชั่นโชว์ร่วมสมัยสวมผ้าไทยและผ้าพื้นถิ่นในงาน “นาฏยโนรา วิจิตรพัสตรา ผ้าถิ่นเมืองลุง” ผู้เข้าร่วมทุกท่านต่างสวมใส่ผ้าไทยและผ้าพื้นถิ่น ที่ตัดเย็บขึ้นมาอย่างประณีต สีสันสวยงาม ตระการตา โดยตนได้เลือกส่วมใส่ “ชุดฟินาเล่” ซึ่งใช้ผ้าทอสีม่วง ที่ผลิตขึ้นเองจากภูมิปัญญาในชุมชนท้องถิ่นของกลุ่มโอทอปจังหวัดพัทลุง พร้อมด้วย ศ.พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายอำเภอ ทั้ง 11 อำเภอ และนักเรียนนักศึกษาจำนวน 100 คน

“ทั้งนี้ ชุดที่เป็นที่ถูกอกถูกใจและมีพี่น้องประชาชนชมเชยเป็นจำนวนมาก คือ ชุดผ้าบาติกของนายสมบูรณ์ เต็มชื่น นายอำเภอเขาชัยสน พร้อมภรรยา ที่มาในชุดผ้าบาติกที่ขึ้นชื่อของอำเภอเขาชัยสน และพิเศษสุดกับชุดผ้าทอยกดอกลายดอกพะยอมสีฟ้าสดใส ที่สวมใส่โดยนางสาววาสนา จงไกรจักร เจ้าหน้าที่สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพัทลุง ได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก ถึงความเป็นอัตลักษณ์ และเอกลักษณ์ที่สวยงาม ทรงคุณค่า และโดดเด่น ของผ้าไทยพื้นเมืองลุง” ผวจ.พัทลุง กล่าว

นางนิศากร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผ้าพื้นเมืองของจังหวัดพัทลุง ซึ่งได้รับการสืบสานและต่อยอดมาถึงชาวพัทลุงในยุคปัจจุบันมี 3 ประเภท ได้แก่ 1. ผ้าทอ ยกดอก มีลักษณะ คือ ผ้าที่มีลวดลายนูนเด่นกว่าส่วนที่เป็นพื้นผ้า การทอผ้ายกดอกจะต้องเตรียมเส้นยืนโดยการก่อเขา หรือเก็บตะกอลายผ้า เพื่อยกหรือดึงเส้นยืนบางส่วนขึ้นและข่มหรือดึงเส้นยืนบางส่วนลง ทำให้เกิดช่องว่างสำหรับพุ่งกระสวยเข้าไปสานขัดกับเส้นยืน ผ้าทอยกดอกจะมีเขาหรือตะกอตั้งแต่สี่เขา หรือสี่ตะกอขึ้นไป จำนวนเขาหรือตะกอขึ้นอยู่กับความละเอียดซับซ้อนของลวดลายผ้า ซึ่งผ้าทอยกดอกของจังหวัดพัทลุงที่มีชื่อเสียง อาทิ ผ้าทอแพรกหา และผ้าทอลานข่อย เป็นต้น 2. ผ้ามัดย้อม เกิดจากการนำ “คราม” สีจากพืชจากธรรมชาติ โดยภูมิปัญญาชาวบ้าน นำมาผ่านการบีบ ผ่านการคั้น ผ่านความตั้งใจ ผ่านการนวด ความทุ่มเท การเรียนรู้ ใส่ความคิด ความสร้างสรรค์ โดยการทำผ้ามัดย้อม โดยใช้ครามเป็นวัสดุในการทำสีผ้า จุดเด่นของผลิตภัณฑ์มีลวดลายผ้าที่หลากหลาย ทั้งนี้ ในส่วนของสีธรรมชาติได้จากต้นไม้ ได้แก่ ราก แก่น เปลือก ต้น ผล ดอก เมล็ด ใบ เป็นต้น หรือสีที่ได้จากการสกัด ซึ่งต้นไม้แต่ละชนิดให้โทนสีต่างกัน ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของต้นไม้นั้นๆ และ 3. ผ้าบาติก ที่ลักษณะที่โดดเด่นของผ้าบาติก คือ ศิลปหัตถกรรมบนผืนผ้าอันงดงาม เกิดจากฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่เขียนลวดลายสีสันและเอกลักษณ์ที่สะท้อนถึงศิลปวัฒนธรรมความเป็นชาติ ทั้งนี้ ภูมิปัญญาไทยของผ้าบาติกพัทลุง คือ การประยุกต์เอา คอมพิวเตอร์กราฟิกมาใช้ในการออกแบบลวดลายผ้าบาติก และสร้างกระแสแฟชั่นผ้าบาติกพื้นบ้านให้มีความโดดเด่นขึ้นโดยการใช้สีธรรมชาติเดิมและทำให้สีนั้นดูฉูดฉาดมากขึ้น เพื่อให้ดูมีราคาและทันสมัยขึ้น และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้มากขึ้น

ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง กล่าวในช่วงท้ายว่า การจัดเดินแบบแฟชั่นโชว์ร่วมสมัยสวมผ้าไทยและผ้าพื้นถิ่น “นาฏยโนรา วิจิตรพัสตรา ผ้าถิ่นเมืองลุง” ในครั้งนี้เป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ที่สะท้อนให้เห็นบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ ด้วยการถ่ายทอดหัตถกรรมผ่านผ้าทอจากบรรพชนสู่คนรุ่นปัจจุบัน ด้วยการส่งเสริมและเผยแพร่ผ้าพื้นถิ่นไทยให้ดำรงคงอยู่ปรากฏเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย เพื่อร่วมกัน “อนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้กระจายสู่ชุมชน” สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดพัทลุงตลอดไป

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/

ผู้นำเสนอข่าว

Hnoy

Written by:

3,813 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You May Have Missed