“บิ๊กต่อ” และภรรยา เบี้ยวพบคณะอนุฯ ป.ป.ช.รับทราบข้อกล่าวหาซุกบ้านมูลค่า 20 ล้านบาท ที่ประเทศอังกฤษ “นิวัติไชย เกษมมงคล” เลขาฯ ป.ป.ช. เผย น่าจะขอเลื่อน แต่คณะอนุกรรมการต้องพิจารณาว่ามีเหตุผลหรือไม่ หลังจากนั้นสรุปรายละเอียดเสนอ คณะกรรมการ ป.ป.ช.วินิจฉัยว่ามีกรณีจงใจยื่นบัญชีเท็จ ปกปิด หรือไม่ยื่นหรือไม่ ส่วนกรณีคำสั่งให้ “บิ๊กโจ๊ก” ออกจากราชการไว้ก่อน “เอก อังสนานนท์” ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ วิเคราะห์หลังกฤษฎีกามีความเห็นตามที่สำนักเลขาธิการนายกฯสอบถาม ถึงยังไงต้องรอ ก.พ.ค.ตร.ชี้ขาด เพราะมีผลถึงการรับราชการและลุ้นตำแหน่ง ผบ.ตร.ในอนาคต
กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรียก พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. และภรรยามาแจ้งข้อกล่าวหา กรณีไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สินเป็นบ้านที่ประเทศอังกฤษมูลค่า 20 ล้านบาท เมื่อวันที่ 28 พ.ค. แต่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และภรรยาไม่ได้มารับทราบข้อกล่าวหานั้น ความคืบหน้าจาก ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 29 พ.ค. นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวในรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ว่าทราบว่าเมื่อวานนี้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์และภรรยายังไม่ได้มารับทราบข้อกล่าวหา น่าจะขอเลื่อน ตอนนี้ตนยังไม่ได้รับทราบว่าอนุมัติให้เลื่อนหรือไม่ ทราบเพียงแต่ว่าทั้ง 2 คนไม่ได้มา
ถามว่าตามระเบียบ ป.ป.ช.กรณีนี้ขอเลื่อนได้หรือไม่ เลขาธิการ ป.ป.ช.กล่าวว่า ได้ ถ้ามีเหตุผลและความจำเป็น ส่วนใหญ่เราจะให้ขยายเวลาการชี้แจง ถามย้ำว่าได้กี่ครั้งและครั้งละกี่วัน เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวว่า เป็นดุลพินิจของอนุกรรมการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน ตนไม่สามารถชี้ว่ากี่วัน ต้องดูเหตุผลความจำเป็น ตามกฎหมายมีกรอบกำหนดอยู่แล้ว ทั้งนี้เพื่อความเป็นธรรมเราต้องใช้ดุลพินิจพิจารณาว่ามีเหตุผลความจำเป็นว่าให้ชี้แจงภายในกี่วัน แต่เพื่อความเป็นธรรมเราต้องพิจารณาว่ามีเหตุผลมีความจำเป็นหรือไม่ เช่น การเจ็บป่วย ไม่สบาย หรือเกิดอุบัติเหตุไม่สามารถมาได้ ต้องดูเหตุผลแต่ละกรณี เราต้องไปตรวจสอบเหตุผลที่อ้างว่า หากเจ็บป่วยมีใบแพทย์หรือไม่ถึงขนาดไม่สามารถมาชี้แจงได้
“ยังไม่ถึงขั้นคณะอนุกรรมการไต่สวน เพราะในกระบวนการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินจะใช้แค่คณะอนุกรรมการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและคณะพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้น มันจะแตกต่างจากการดำเนินคดีอาญา การตรวจสอบทรัพย์สินจะเป็นลักษณะทางแพ่ง ไม่เหมือนกับคดีอื่นๆ” เลขาธิการ ป.ป.ช.กล่าว
ถามว่าหากตรวจพบว่ามีการซุกทรัพย์สินหรือซุกหนี้ ขั้นตอนจะเป็นอย่างไร นายนิวัติไชย ตอบว่า จะมีการสรุปรายละเอียดให้บุคคลที่เกี่ยวข้องชี้แจงและสรุปรายละเอียดเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะวินิจฉัยว่ามีกรณีจงใจยื่นบัญชีเท็จ ปกปิด หรือไม่ยื่นหรือไม่ มีนิติกรรมอำพรางหรือมีเจตนาปกปิดซ่อนเร้นทรัพย์สินหรือไม่ ต้องดูที่เจตนา ถามถึงกรณีภรรยา พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ พบว่าสัญญาเงินกู้ 20 ล้านบาทอาจเป็นนิติกรรมอำพราง ไม่มีการกู้ยืมเงินกันจริงๆ นี่คือจุดตั้งต้นของการตรวจสอบเรื่องทรัพย์สินใช่หรือไม่ และเป็นที่มาของการแจ้งข้อกล่าวหาใช่หรือไม่ เลขาธิการ ป.ป.ช.ตอบว่าน่าจะเป็นเรื่องของการตรวจสอบเกี่ยวกับรายละเอียดของทรัพย์สิน ส่วนรายละเอียดข้อเท็จจริงตนต้องขออนุญาตไม่ให้ข้อมูลเพราะอยู่ระหว่างการตรวจสอบ
ด้านความเคลื่อนไหวคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ออกจากราชการไว้ก่อน ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เมื่อเวลา 12.00 น.วันที่ 29 พ.ค. พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ เผยกรณีคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบคำถามสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กรณีมีคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ออกจากราชการไว้ก่อนว่า สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีสอบถามความเห็นกรณีนี้ 2 ประเด็นคือ การสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ออกจากราชการไว้ก่อน นายกรัฐมนตรีต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อให้โปรดเกล้าฯ พ้นจากตำแหน่งหรือไม่ และมีกรอบระยะเวลาต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่งหรือไม่ คณะกรรมการกฤษฎีกาตอบว่า นายกรัฐมนตรีต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูลตามมาตรา 140 และมาตรา 179 แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2565 ส่วนกรอบเวลาอยู่กับดุลพินิจของนายกรัฐมนตรี ที่จะต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบภายในระยะเวลาเหมาะสม
“นอกจากนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาตั้งข้อสังเกตว่า คำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน หากเป็นการปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะกรรมการสอบสวนที่ตั้งขึ้นจะชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมายและเป็นธรรมกับผู้ถูกสอบสวน สำหรับ 2 ประเด็นที่สอบถามไป หน่วยงานรัฐที่สอบถามความเห็นจะต้องปฏิบัติตาม เป็นไปตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2482 และแนวคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ส่วนข้อสังเกตของคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่ได้มีผลบังคับให้หน่วยงานต้องปฏิบัติตาม ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของหน่วยงานนั้น อย่างกรณีนี้นายกรัฐมนตรีอาจรับข้อสังเกตมาพิจารณา แต่ต้องนำความขึ้นทูลเกล้าฯ แน่นอนตามที่วินิจฉัย แต่เมื่อไหร่ นายกรัฐมนตรีอาจต้องรอฟังผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ หรือ ก.พ.ค.ตร.” พล.ต.อ.เอกกล่าว
พล.ต.อ.เอกกล่าวอีกว่า การวินิจฉัยของ ก.ค.พ.ตร.เทียบเท่ากับศาลปกครองชั้นต้น การวินิจฉัยจะมี 2 แนวทางคือ กรณีแรกเป็นคุณกับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ผลคือต้นสังกัดจะต้องมีคำสั่งให้กลับเข้ารับราชการทันที มีผลย้อนหลังกลับไปตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย. เป็นวันที่มีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน และเชื่อว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์จะนำคำวินิจฉัยดังกล่าวเพื่อใช้สิทธิฟ้อง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รรท.ผบ.ตร. อย่างแน่นอน ส่วนกรณีผลคำวินิจฉัยเป็นโทษ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ สามารถร้องศาลปกครองสูงสุดได้ มีกรอบนระยะเวลา 90 วัน ย้ำว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นข้อกฎหมายไม่ใช่ว่าใครจะมาให้ความเห็นว่าต้องเข้ามาตรา 120 วรรคท้าย หรือมาตรา 131 ต้องรอ ก.พ.ค.ตร.และศาลปกครองสูงสุดชี้ขาด
“ทั้งนี้ ทราบว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบข้อหารือและส่งเรื่องมาให้สำนักงานเลขาธิการนายก รัฐมนตรีแล้ว ตามไทม์ไลน์ รรท.ผบ.ตร.มีคำสั่งให้ตั้งกรรมการสอบสวนวินัยและให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อน เมื่อวันที่ 18 เม.ย. จากนั้นวันที่ 22 เม.ย.ส่งเรื่องไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อให้นำความขึ้นกราบบังคมทูล แต่กรณีนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ อุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค.ตร.ในประเด็นเกี่ยวกับข้อกฎหมายดังกล่าว ปรากฏว่าสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 พ.ค. ส่งเรื่องให้กฤษฎีกาพิจารณา ต่อมาวันที่ 9 พ.ค.สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมีหนังสือแจ้งไปยัง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ว่า คำสั่งตั้งกรรมการสอบวินัยและให้ออกจากราชการดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย ส่วนการจะยกเลิกคำสั่งให้ไปอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค.ตร.” ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิกล่าว
พล.ต.อ.เอกกล่าวย้ำว่า สถานะของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ขณะนี้ถูกให้ออกจากราชการไว้ก่อน และกระบวนการทางกฎหมายยังไม่สมบูรณ์ ต้องรอกระบวนการโปรดเกล้าฯให้พ้นจากตำแหน่งจะมีผลย้อนหลังกลับไปตั้งแต่วันที่มีคำสั่งให้ออกจากราชการคือ 18 เม.ย.67 กระบวนการวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร.จะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพราะมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์หลายเรื่อง หากล่าช้าออกไปอาจเสียสิทธิการเป็นแคนดิเดต ผบ.ตร. ขณะเดียวกันการพิจารณาวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร.มีความเป็นอิสระความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าวไม่มีผลต่อการพิจารณาวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร. อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ถือเป็นครั้งแรกที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีส่งเรื่องให้กฤษฎีกาตีความ ตามขั้นตอนปกติสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่งเรื่องให้นายกรัฐมนตรีนำความขึ้นกราบบังคมทูล แต่กรณีนี้มีการอุทธรณ์และร้องทุกข์หลายหน่วยงาน
ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เวลา 17.30 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลัง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร.ฐานะรักษาราชการแทน ผบ.ตร.เข้าพบ เพื่อรายงานความคืบหน้ากรณีบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ออกจากราชการไว้ก่อนหรือไม่ว่า ไม่ได้พูดคุยกันเรื่องดังกล่าว เป็นการพูดคุยเรื่องอื่น เรื่องอาชญากรรม ยืนยันว่าไม่ได้คุยเรื่อง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ถามว่า นายกฯมองอย่างไรกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ระบุให้ออกจากราชการตรงนี้ ยังไม่ถูกต้องและสมบูรณ์ใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ยังไม่สมบูรณ์ ตนขอใช้ว่าไม่สมบูรณ์ดีกว่า ตนเชื่อว่าหากมีการทักท้วงมาต้องรับฟังและต้องให้ดำเนินการต่อไป ต้องมีความรอบคอบในการปฏิบัติ ถามต่อว่าหลังจากนี้จะต้องไปศึกษาข้อกฎหมายทำให้ถูกต้องใช่หรือไม่ นายกฯกล่าวว่า ถูกต้อง ใช่ครับ
ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องนี้ไม่มีอะไรน่ากังวลใจใช่หรือไม่ นายกฯตอบว่า กังวลใจทุกเรื่องอย่างที่เคยบอก คำถามนี้ถามกันบ่อยเหลือเกิน เรื่องของความกังวลใจ เพราะว่ากังวลใจก็ต้องทำให้มันถูกต้อง มันมีรายละเอียดย่อยที่ต้องทำ และมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรับฟังความคิดเห็นให้ครบถ้วน ถามย้ำว่าต้องฟังคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) ด้วยหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า ทุกๆภาคส่วนเดี๋ยวต้องมานั่งพูดคุยกัน แต่มันมีขั้นตอนระหว่างอะไรก่อนอะไรหลังด้วยเหมือนกัน เดี๋ยวขอไปลำดับเรื่องก่อนว่าอะไรมาก่อนอะไรมาหลัง
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/