ทางการจีนส่งเครื่องบินมารับตัวแก๊งคอลเซ็นเตอร์ชาวจีนอีก 300 คน จากท่าอากาศยานนานาชาติแม่สอด จ.ตาก กลับไปดำเนินคดีที่ประเทศอีก 6 เที่ยวบิน คุมตัวขึ้นเครื่องให้ใส่ชุดนักโทษพร้อมติดป้ายชื่อมีหมายเลขกำกับ มีตำรวจจีนล็อกตัวนั่งประกบติดแบบ 2 ต่อ 1 และรับตัวกลับอีก 300 คนเป็นชุดสุดท้าย ในวันที่ 22ก.พ. ขณะที่มีกระแสข่าวกะเหรี่ยง DKBA อาจเลิกกวาดล้างจับจีนเทาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เพราะแบกรับภาระการกินอยู่ของอาชญากรทางโทรคมนาคมของจีนไม่ไหว ภูมิธรรมจับมือ “หลิว จงอี้” “พล.อ.อ่องซอ ซอ” ย้ำทำงานร่วมกันขาดฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดงานไม่สำเร็จ ขณะที่แสงไฟที่ชเวโก๊กโก่ยังไม่มืดสนิท ด้านกองกำลังกะเหรี่ยง DKBA บก.โกล้ทูบอ เริ่มกวาดล้างจับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์และกลุ่มนักธุรกิจจีนเทา ในเมืองพญาตองซู ส่งให้กองกำลังทหารกะเหรี่ยง BGF/KNA บ้านฉ่วยโก๊ะโก ที่ จ.เมียวดี ขีดเส้นตายไล่ออกจากพื้นที่เมืองพญาตองซูให้หมดสิ้นภายในวันที่ 28 ก.พ.
ภายหลังทางการจีนรับตัวแก๊งคอลเซ็นเตอร์ชาวจีนลอตแรก 198 คน นำขึ้นเครื่องบินกลับไปรับโทษทัณฑ์ตามกฎหมายของสาธารณรัฐประชาชนจีนในการเป็นอาชญากรข้ามชาติ เมื่อวันที่ 20 ก.พ.ส่วนอีก 2 คน ที่ไม่ได้ถูกส่งตัวกลับไปด้วย เนื่องจากป่วยโรคร้ายแรงและถูกนำตัวเข้ารักษา ต่อมาวันที่ 21ก.พ. ทางการจีนได้นำเครื่องบินมารับตัวแก๊งคอล เซ็นเตอร์อีก 300 คน ส่งกลับสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นวันที่2
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเช้าวันที่ 21 ก.พ.เครื่องบินของสายการบินไชน่า เซาท์เทิร์น แอร์ไลนส์ เดินทางมาจากท่าอากาศยานนานาชาติหนานจิงลู่โข่ว นครหนานจิง มณฑลเจียงซู รับตัวชาวจีนแก๊งคอลเซ็นเตอร์อีก 300 คน ที่กองกำลังทหารกะเหรี่ยง BGF ควบคุมจากเมืองชเวโก๊กโก่ จ.เมียวดี สหภาพเมียนมา นำตัวนั่งรถบัสมาส่งผ่านด่านพรมแดนที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ภายหลังเจ้าหน้าที่ตรวจพิสูจน์และคัดกรองบันทึกข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลหรือไบโอเมตริกซ์ (ติดแบล็กลิสต์) เรียบร้อยแล้ว จึงส่งตัวแก๊งคอลเซ็นเตอร์ชุดแรก 50 คน นั่งรถบัสไปยังท่าอากาศยานนานาชาติแม่สอด นำขึ้นเครื่องให้ใส่ชุดนักโทษ พร้อมติดป้ายชื่อและมีหมายเลขกำกับและมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจีนนั่งประกบไปบนเครื่องแบบ 2 ต่อ 1 คน เดินทางกลับนครหนานจิงเที่ยวแรกในเวลา 10.40 น
หลังเครื่องบินไฟลท์แรก ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าเป็นที่เรียบร้อย เจ้าหน้าที่ทหารได้ลำเลียงแก๊งคอลเซ็นเตอร์ชาวจีนที่ผ่านขั้นตอนทางกฎหมายของไทย จากสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 มายังสนามบินทีละชุด ชุดละ 50 คน ขึ้นเครื่องบินเป็นรอบๆ โดยเที่ยวบินที่ 2 ออกจากสนามบินนานาชาติแม่สอดในเวลา 11.40 น. เที่ยวบินที่ 3เวลา 12.40 น. เที่ยวบินที่ 4 เวลา 13.40 น.เที่ยวบินที่5 เวลา 17.10 น. และเที่ยวบินสุดท้าย เวลา18.10น. รวมทั้งหมด 6 เที่ยวบิน สำหรับวันที่ 22 ก.พ.จะมีการส่งตัวแก๊งคอลเซ็นเตอร์อีก 300 คน กลับสาธารณรัฐ
ประชาชนจีนอีก 6 เที่ยวบินเช่นกันและเป็นรอบสุดท้ายของการส่งตัวแก๊งคอลเซ็นเตอร์จีนกลับประเทศ
ขณะที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมไทย พร้อมด้วยนายหลิว จงอี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงและสาธารณะของสาธารณรัฐประชาชนจีน พล.อ.อ่อง ซอ ซอ รมช.มหาดไทย สหภาพเมียนมา ที่เดินทางมาดูการส่งตัวแก๊งคอลเซ็นเตอร์กลับจีน ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อเย็นวันที่ 20 ก.พ. และจับมือกันเหนียวแน่นทั้ง 3 ฝ่าย ได้เตรียมตั้งคณะกรรมการไตรภาคีทำงานร่วมกัน ในการปราบปรามคอลเซ็นเตอร์ หลังการส่งตัวแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทั้งสองชุดเสร็จสิ้นลง สัปดาห์หน้าจะมีการนัดประชุม รวมถึงการตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมของไทย เป็นศูนย์ประสานงานทำงานร่วมกันระหว่างตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง การทำงานของฝ่ายเมียนมา จีนและไทย ทำมานานร่วม 2 เดือน ในระดับรัฐมนตรี อย่าเข้าใจว่าจีนมีอำนาจสั่งการต่างๆในไทย จีนยินดีให้ตนแจ้งให้ไทยทราบและขอโทษประชาชนไทย ทุกฝ่ายเคารพอธิปไตยซึ่งกันและกัน มีความเคารพกฎหมายของแต่ละประเทศ ยืนยันว่าจะรับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ชุดนี้เป็นครั้งสุดท้าย หลังจากนี้จะมีการคุยกันในไตรภาคี เพราะแต่ละฝ่ายยังเห็นต่างบ้าง อยากทำอะไรก็ตกลงกัน ทุกอย่างมีขั้นตอน มีกระบวนการตามกฎหมายทุกอย่าง
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับบรรยากาศ ที่เมืองชเวโก๊กโก่เมือง “ทุนสีเทา” เมียวดี หลังรัฐบาลไทยสั่งตัดไฟ น็อกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ พบว่าที่บริเวณตรงข้ามบ้านวังแก้ว ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก ช่วงกลางคืนแม้มีแสงไฟบางส่วน แต่ก็ตกอยู่ในสภาพมีความมืดลงกว่า 60% แต่ตามอาคารต่างๆ มีการทำงานปกติ ใช้ไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟฟ้าและจากแผงโซลาร์เซลล์
ขณะเดียวกันมีกระแสข่าวว่าผู้นำกะเหรี่ยง DKBA เตรียมยุติการช่วยเหลือเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเขตอิทธิพลของตัวเอง เนื่องจากหลังช่วยเหลือมาแล้วต้องมาแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงมากทั้งค่ากิน ค่าอยู่อาศัย ในการดูแล อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากะเหรี่ยง DKBA ได้ส่งเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ให้ทางการไทยด้าน อ.พบพระ จ.ตาก มาแล้ว 260 คน ทำให้ไทยก็ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการดูแลและยังต้องแบกภาระการดูแลเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ชาวต่างชาติ ที่ มทบ.310 ค่ายวชิรปราการ อ.เมืองตากอีก กว่า 200 คน เพิ่งมีสถานทูตประเทศต่างๆมารับเหยื่อการค้ามนุษย์สัญชาติต่างๆ ไปแล้ว 28 คน เมื่อวันที่ 18 ก.พ. และ จ.ตากโดยศูนย์สั่งการชายแดนจะไม่รับเหยื่อมาไว้ในเขตไทยแล้ว ดังนั้นต้องให้สถานทูตแต่ละประเทศที่เกี่ยวข้องมารับไปเอง
อีกด้านเวลา 10.40 น. วันเดียวกัน พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร. (ปป.2) (สส.2) เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ไปที่ จ.กาญจนบุรี เข้ารับฟังสถานการณ์ปัจจุบันถึงปัญหาแรงงานต่างด้าว สินค้าหนีภาษีและแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในพื้นที่ อ.พญาตองซู สหภาพเมียนมา ตรงข้ามบ้านพระเจดีย์สามองค์ ม.9 ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จากหน่วยงานฝ่ายความมั่งคงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ที่ห้องประชุมกองร้อย ตชด.134 จากนั้นเดินทางไปตรวจสถานการณ์ ที่ด่านชายแดนบ้านพระเจดีย์สามองค์ หมู่ 9 ต.หนองลู ตรงข้ามเมืองพญาตองซู
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 16 ก.พ. พ.อ.เอวัน ผบ.บก.ยว.2 และรอง ผบ.พล.น.2 กองกำลังกะเหรี่ยง DKBA บก.โกล้ทูบอ ได้เริ่มกวาดล้างจับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์และกลุ่มนักธุรกิจจีนเทาในเมืองพญาตองซู ส่งตัวให้กับ พ.ต.ติ่นวิน ผบ.บก.ควบคุมเขตทหารที่ 2 กองกำลังทหารกะเหรี่ยง BGF/KNA บ้านฉ่วยโก๊ะโก่ ต.ฉ่วยโก๊ะโก่ จ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง สหภาพเมียนมา ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม ต.แม่กุ อ.แม่สอด จ.ตาก โดยขีดเส้นตายขับไล่กลุ่มจีนเทาออกจากพื้นที่ อ.พญาตองซู ให้หมดภายในวันที่ 28 ก.พ.
ด้านสำนักข่าวซินหัวของจีน ยังเกาะติดการส่งกลับแก๊งคอลเซ็นเตอร์จากไทยไปจีน รายงานว่ากระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีนกล่าวย้ำว่า การส่งตัวผู้ต้องสงสัยชาวจีน 200 คน จากแก๊งคอล เซ็นเตอร์ในเมืองเมียวดี สหภาพเมียนมา เดินทางกลับประเทศจีน ภายใต้การคุ้มกันของตำรวจจีน ถึงสนามบินในเมืองหนานจิง มณฑลเจียงซู ทางตะวันออกของจีน เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายระหว่างจีน เมียนมาและไทย ขณะเดียวกันกระทรวงยังเสริมว่าผู้ต้องสงสัยอีกกว่า 800 ราย จะถูกส่งตัวกลับจีนในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีการหารือ เรื่องสำนวนการสอบสวนระหว่างเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ กองคดีค้ามนุษย์ และพนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายสำนักงานคดีค้ามนุษย์ 1 สำนักงานอัยการสูงสุด จะต้องรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขอศาลอาญาออกหมายจับ พล.ต.หม่องชิต ตู่ ผู้นำกองกำลังพิทักษ์ชายแดนกะเหรี่ยง (BGF) กับพวกว่า ดีเอสไอสอบสวนร่วมกับพนักงานอัยการ เนื่องจากเป็นคดีความผิดนอกราชอาณาจักร มีการรายงานว่ายังอยู่ระหว่างการร่วมกันหารือเรื่องพยานหลักฐาน แต่ไม่ใช่ว่าหมายจับออกหรือไม่ออก แต่มีรายละเอียดสำนวนค่อนข้างเยอะ ต้องร่วมกันดูเอกสารพอสมควร ส่วนการสอบปากคำพยานมีค่อนข้างครบถ้วนแล้ว แค่ต้องเอาเอกสารทั้งหมดมาดู ในประเด็นปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องพิจารณาร่วมกันว่ามันตรงหรือไม่ เป็นไปตามที่ได้มีการหารือร่วมกันหรือไม่
รองอธิบดีดีเอสไอกล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นจะเป็นยืดระยะเวลาขอศาลออกหมายจับออกไปนานกว่าเดิมหรือไม่ คงไม่เป็นเช่นนั้น แต่เป็นลักษณะว่าพยานหลักฐานที่ได้มารวมกันในสำนวนมันครบถ้วนหรือไม่ ถ้าครบถ้วนจะพิจารณา เพราะไม่ได้มีเพียง พล.ต.หม่องชิต ตู่รายเดียว ยังมีคนอื่นร่วมด้วยกว่า 10 ราย การพิจารณาการออกหมายจับควรที่จะออกในคราวเดียวกัน ส่วน 10 รายเป็นใครบ้างขอเว้นไว้ก่อน เนื่องจากคดีค้ามนุษย์มีความละเอียดอ่อน ทั้งนี้ ในประเด็นเรื่องการที่ผู้ต้องหามีพฤติการณ์เดินทางข้ามไป-มา ระหว่างสหภาพเมียนมากับประเทศไทย และ
กรณีครอบครองอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ จะตรวจสอบในภาพรวมทั้งหมด ขอให้มีความชัดเจนเรื่องเอกสารและพยานหลักฐานก่อน ถ้ามีความผิดการค้ามนุษย์ จะขยายผลไปเรื่องการฟอกเงินทางอาญาได้
ร.ต.อ.สุรวุฒิกล่าวต่อว่า กรณีที่ พล.ต.หม่องชิต ตู่ มีความพยายามนำเสนอภาพการช่วยเหลือเหยื่ออยู่ในพื้นที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ สหภาพเมียนมา จะมีผลอย่างไรต่อการพิจารณาออกหมายจับของดีเอสไอและพนักงานอัยการหรือไม่นั้น ยืนยันว่าคงไม่ใช่เรื่องนั้น เพราะในการสอบสวนว่ากันด้วยเรื่องพยานหลักฐานภายในสำนวนพฤติการณ์ที่ พล.ต.หม่องชิต ตู่กับพวก เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ย้อนหลังกี่ปีนั้น จากรายงานการสืบสวนทราบว่าหลายปี แต่ยังไม่ขอลงรายละเอียด อีกทั้งยังมีเรื่องของพื้นที่ทับซ้อนหลายจุด ขอเก็บไว้เป็นความลับในสำนวนก่อน
ในส่วนแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในพื้นที่ จ.ปอยเปต กัมพูชานั้น พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติและผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำคณะเดินทางไปกัมพูชาอย่างเร่งด่วนเมื่อวันที่ 21 ก.พ. ประชุมวางแผนกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติกัมพูชา
พล.ต.อ.ธัชชัยเปิดเผยในเวลาต่อมาว่า ในการประชุมวางแผนการปฏิบัติ ได้ข้อสรุปรวม 3 ข้อ ได้แก่ 1.ร่วมกันปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เข้าไปกวาดล้าง ตรวจค้น จับกุม ในจุดต่างๆที่เป็นที่ตั้งของแก๊ง ตำรวจไทยขอนำตัวคนไทยกลับมาลงโทษตามกฎหมายที่ประเทศไทย 2.ร่วมกันช่วยเหลือคนไทยที่ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ให้กลับคืนสู่ครอบครัวอย่างรวดเร็ว 3.จัดตั้งศูนย์ประสานงานร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา เพื่อความรวดเร็วในการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ให้หมดไป ตำรวจกัมพูชาจะดำเนินการอย่างเร่งด่วน ในการร่วมปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ครั้งนี้ โดยกลุ่มคนร้ายส่วนใหญ่เป็นคนจีน มีคนไทยร่วมด้วย
ด้าน พ.ต.อ.คธาธร คำเที่ยง รอง ผบก.ตม.3 โฆษกสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กล่าวถึงกรณีนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะประธาน กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนฯ โพสต์เฟซบุ๊กว่า สตม.ไม่จัดเก็บข้อมูลไบโอเมตริก ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ 17 ล้านคน เมื่อปี 2567 อาจเป็นโอกาสให้ทุนสีเทาแฝงตัวเข้ามาก่ออาชญากรรมในประเทศได้ว่า ปัจจุบัน สตม.คัดกรองควบคุมคนต่างด้าวที่เข้าประเทศด้วยระบบสารสนเทศหลายระบบและยังควบคุม ติดตามตรวจสอบคนต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาและอยู่ในประเทศได้ กรณีข้อมูลคนต่างด้าวที่ถูกบันทึกลงระบบฯที่ยังไม่มี License มีการเก็บข้อมูลอัตลักษณ์คนต่างด้าวตามปกติเพียงแต่ในส่วนการประมวลผลบางรายการอาจลดประสิทธิภาพลงบ้าง แต่ไม่กระทบต่อการควบคุมคนต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาและอยู่ในไทย ขณะนี้ สตม.จัดทำโครงการระบบบริหารจัดการตรวจคนเข้าเมืองแห่งชาติ เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูง หลายประเทศใช้งานระบบที่มีลักษณะเดียวกันนี้อยู่
ที่มาไทยรัฐ